เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เปิดสัมมนาพระภิกษุ!ปฏิบัติงานเผยแผ่ในพื้นที่เฉพาะ

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยกองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา กลุ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนา จัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพระภิกษุที่ปฏิบัติงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่เฉพาะ ในเขตการปกครองคณะสงฆ์หนกลางและหนใต้ ประจำปี ๒๕๖๐ ณ วัดเทพวนาราม (วัดม่าหนิก) อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อเร็วๆ นี้

โดยพระพรหมจริยาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนา ให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมประชุมว่า พระพุทธศาสนา ก็เปรียบเสมือนร่างกายของคน เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ก็ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีส่วนร่างกาย มีส่วนจิตใจ ประกอบเป็นผู้เป็นคน และต้องอาศัยหลายส่วนจึงจะสามารถประคับประคองพระพุทธศาสนาไปได้

พระภิกษุที่ปฏิบัติงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่เฉพาะ ก็เปรียบกับกองทัพ ก็เหมือนทหารราบฝ่ายหน้า ที่ต้องนำหน้าไปก่อน และฝ่ายอื่นๆ คอยสนับสนุนอยู่ด้านหลัง เพราะงานเผยแผ่เป็นหน้าเป็นตา เป็นจุดเด่นของผู้ที่ไม่ได้พบ ไม่ได้เห็น ไม่ได้สัมผัสในสิ่งต่างๆ ในความคิดของอาตมาคิดว่า งานเผยแผ่ไม่เหมือนกับงานเทศน์ แตกต่างกัน งานเทศน์สำหรับผู้ที่เข้าใจแล้ว หมายถึง อุบาสก อุบาสิกา ส่วนพระสงฆ์ก็ขยายเรื่องนั้นๆ ให้ฟัง เรียกว่า “นักเทศน์”

สำหรับนักเผยแผ่ ไม่ต้องตั้งนะโม เริ่มได้เลย ไม่มีแบบตายตัวแน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ อากัปกิริยาของ “นักเทศน์” คือ การสร้างบุคลิกลักษณะที่ดี ให้ผู้ที่ไม่เคยพบเห็นได้มีความเข้าใจ ในลักษณะการพูดก็ได้ ในลักษณะการแสดงอากัปกิริยาก็ได้ ในลักษณะการขีดการเขียนก็ได้ เห็นตัวไม่เห็นตัวก็ได้ และผู้ที่เป็นต้นแบบของการเผยแผ่ คือ พระอัสสชิ

“ทั้งนี้ การจัดประชุมครั้งนี้ คาดหวังว่าผู้ที่เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การปฏิบัติงาน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสรุปผลการปฏิบัติงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรอบปี และรับทราบปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงาน และเรียนรู้เทคนิค วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งรับทราบนโยบายด้านการส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย”

ด้าน พระโพธาภิรามมุนี เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส (ธ) และเจ้าอาวาสวัดยะลาธรรมาราม ให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการเผยแผ่ในเขตพื้นที่เฉพาะว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ใช้วิธีการพูดคุยทำความเข้าใจ ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ละในความเชื่อบางสิ่งบางอย่าง ความเชื่อดั้งเดิม

“อย่างไรก็ตาม ความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ลำบากนิดนึง การบิณฑบาตก็ไม่เป็นปกติ ต้องให้ทันยุคทันเหตุการณ์อยู่เสมอ เช่น การจัดพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ปกติจัดเวลากลางคืน ก็ต้องเปลี่ยนมาจัดเวลากลางวัน ยังไม่สามารถทำงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกได้ เวลาออกไปหาโยมก็จะไปรถโดยไม่บอกใคร แม้กระทั่งคนในวัด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น ส่วนเรื่องคำพูดนั้นสำคัญมาก เช่น การเทศนาก็ต้องพูดให้เป็นกลางเข้าไว้ อยู่ร่วมกันด้วยการไม่สร้างปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง”