ตามไปดู...มจธ.เสริมทักษะให้ผู้พิการ ก่อนปล่อยแถวสู่สถานประกอบการ

หลังจากประสบความสำเร็จจากการจัดทำโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานผู้พิการ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการรุ่นที่ 1 เมื่อปีที่ผ่านมา

ในปี 2558 นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ยังเดินหน้าจัดทำ โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานผู้พิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ รุ่นที่ 2 ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้พิการเป็นปีที่ 2

โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน 2558 (รวมระยะเวลา 6 เดือน ) มีผู้พิการที่ผ่านการฝึกอบรมและฝึกงานในโครงการครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 25 คน

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การทำงานกับผู้พิการถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่มหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับชุมชนและสังคม รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการมาอย่างต่อเนื่อง

ดังเช่นโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานผู้พิการ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการที่ในปีนี้ถือเป็นการดำเนินโครงการติดต่อกันมาเป็นปีที่ 2 ทำให้ได้เรียนรู้ถึงความต้องการของคนพิการมากขึ้น เพราะผู้พิการไม่ใช่เพียงแค่ต้องการเพิ่มสมรรถนะความสามารถเท่านั้น

แต่ยังต้องการสร้างความมั่นใจ สร้างความสามารถในการสื่อสาร และสร้างความเข้าใจเรื่องของอารยสถาปัตย์ ซึ่งยังเป็นช่องว่างที่เราจะต้องทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น และอื่นๆ อีกหลายด้าน ที่เราต้องค้นหาและพยายามเสริมความต้องการนั้นเข้าไป

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างของการพัฒนานักศึกษาในแง่ของความคิดความอ่านได้ดีขึ้น ทำให้อาจารย์และนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมและเข้าใจคนพิการมากขึ้น ถือเป็นกิจกรรมที่ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยจะได้เข้ามามีส่วนร่วมและทำให้เกิดผลที่ดีร่วมกัน

โครงการนี้ยังเป็นกลไกที่จะทำให้นักศึกษาได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้พิการ คนทำงานและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การทำงานกับผู้พิการนั้นยังเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เข้าใจมิติของชุมชนผู้พิการมากขึ้นและนำมาปรับปรุงพัฒนา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคนพิการรุ่นที่ 3 ต่อไป

“คาดว่า แนวโน้มจะมีคนพิการที่สนใจเข้าร่วมอบรมเพิ่มขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของบุคลากรและสถานที่รองรับ ทำให้การรับผู้พิการเข้าร่วมโครงการฯ จำกัดได้เพียง 30 คน สำหรับในปี 2559” อธิการบดี มจธ.กล่าว

สำหรับโครงการในรุ่นที่ 2 มีการปรับปรุงการดำเนินงานทั้งขั้นตอนการคัดเลือกผู้พิการ และหลักสูตรของการฝึกอบรม โดยได้จัดหลักสูตรเพิ่มนอกเหนือจากการให้ความรู้วิชาพื้นฐานทั่วไปแล้ว ยังได้จัดหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน

เนื่องจากปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้พิการที่จบโครงการไปส่วนใหญ่จะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ซึ่งเหมาะสมกับศักยภาพของผู้พิการที่สามารถทำได้ และยังเป็นตำแหน่งงานที่บริษัทเอกชนมีความต้องการมากที่สุด ทางโครงการฯ จึงได้จัดให้มีหลักสูตรดังกล่าวขึ้น เพื่อให้คนพิการเมื่อจบออกไปสามารถมีงานทำได้มากขึ้น 

การดำเนินโครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 จากสถานประกอบการ 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ดานิลี่ จำกัด, บริษัท ศรีไทยมิยากาวา จำกัด, บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด

โดยมีคนพิการเข้าร่วมโครงการ 25 คน แบ่งเป็น คนพิการด้านการเคลื่อนไหว 24 คน และคนพิการด้านสติปัญญา 1 คน ซึ่งโครงการจัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2558 แบ่งเป็นการฝึกอบรม 4 เดือน และการฝึกงาน 2 เดือน

สกู๊ป แวดวงการศึกษา ในการฝึกอบรมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ทั่วไปด้านวิชาการ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์เบื้องต้น และพื้นฐานการปรับตัวเข้ากับสังคม โดยปีนี้ได้เพิ่มทักษะด้านโซเซียลเน็ตเวิร์คให้กับผู้พิการได้เรียนรู้วิธีการทำคลิปวีดิโอ และวิธีการเผยแพร่ผ่าน You Tube เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้

เช่น การขายของออนไลน์ รวมถึงความรู้พื้นฐานงานสำนักงาน (วิชาชีพ) ส่วนการฝึกงานมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้พิการได้พัฒนาศักยภาพตนเองในเรื่องการทำงาน และได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่นในองค์กร ซึ่งจะทำให้คนพิการมีความรู้ ความสามารถและมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2558 มีหน่วยงานภายใน มจธ.รับคนพิการในโครงการเข้าฝึกงานรวมกว่า 15 หน่วยงาน

ในปีนี้นอกจากจะมีการเรียนรู้ทางวิชาการแล้ว ยังมีการสอดแทรกทักษะด้านอื่นๆ ให้แก่ผู้เข้าอบรมด้วย

หนึ่งในองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของผู้พิการ คือหลัก “Universal Design” หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับบุคคลทุกคน ทุกกลุ่มอายุอย่างเสมอภาค โดยหลักการใช้งาน 7 ข้อสำคัญที่ผู้พิการต้องรู้ เพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน

นั่นคือ ความเสมอภาค ความยืดหยุ่น ใช้ง่ายเข้าใจง่าย มีข้อมูลชัดเจน ปลอดภัย ทุ่นแรงกาย และขนาดสถานที่ที่เหมาะสม

สกู๊ป แวดวงการศึกษา ทั้งนี้ ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน รองคณะบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวถึงการอบรมครั้งนี้ว่า นอกจากการเรียนวิชาการและการฝึกทักษะทางอาชีพแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้อบรมกลุ่มผู้พิการได้ออกไปใช้ชีวิตภายนอกจริงๆ เนื่องจากผู้พิการบางคนแทบไม่ได้ออกจากบ้าน หรือสถานสงเคราะห์เลย

จึงใช้วิชานี้เป็นโอกาสให้ผู้พิการหลายคนได้ก้าวออกจาก Safety Zone ของตัวเอง

“หลังจากที่สอนเรื่อง Universal Design และสร้างความเข้าใจแล้ว เราก็ให้เขาออกเดินทาง ออกไปทำสิ่งที่เขาอยากทำ แล้วประเมินดูว่าสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของเขามากน้อยอย่างไร”

แน่นอนว่า ความบกพร่องทางร่างกายเป็นอุปสรรคที่ทำให้บางคนไม่สามารถดำเนินชีวิตปกติได้ แต่ในการอบรมเราจะพยายามสอดแทรกเรื่อง Independent Living คือการอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่เป็นภาระให้กับคนอื่นในสังคม เพื่อปลุกความกล้าและความมั่นใจในตัวเค้าเอง

แต่อย่างไรก็ตาม สังคมจะเกิดสภาวะแบบ Independent Living ขึ้นได้นั้น ต้องมีสองสิ่งสำคัญ หนึ่งคือความกล้าและความมั่นใจของคนพิการเอง และสองก็คือความพร้อมของบ้านเมืองที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการอย่างเท่าเทียมในสังคม

ดร.บุษเกตน์ เล่าว่า ได้มีการเชิญคุณโสภณ ฉิมจินดา บุคคลผู้มีกำลังใจที่ดีและรักในการท่องเที่ยวโดย Wheel chair มาเป็นวิทยากรในเรื่อง Independent living เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้พิการที่เข้าอบรมด้วยการฝากข้อคิดไว้ว่า

“การออกไปเรียนรู้ถึงสภาพแวดล้อม เรื่องนั้นผู้พิการออกไปข้างนอกไม่ลำบาก แต่คนที่ลำบากคือผู้ที่มาช่วยเราในการเดินทาง การยก Wheel chair หรือการช่วยผู้พิการทางสายตาให้ผ่านอุปสรรคนั้นไปได้จึงอยากชวนให้ผู้พิการมีกำลังใจและออกไปข้างนอกด้วยตัวเองกันเถอะ”

ดร.บุษเกตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากจบวิชานี้ มีผู้พิการหลายคนสะท้อนให้ได้รู้ว่า ทำไมที่ผ่านมาเขาต้องอยู่แต่ในที่ของผู้พิการ และทำไมผู้พิการยังต้องพึ่งพาคนทั่วไปนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยในเมืองไทยโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะ ยังไม่พร้อมที่จะทำให้ผู้พิการมีความกล้าพอที่จะออกมาดำเนินชีวิตประจำวันแบบคนปกติ เพราะกลัวสภาพแวดล้อมที่ไม่ตอบสนองต่อความบกพร่องของร่างกาย

ถึงแม้ผลสะท้อนจะมาจากคนกลุ่มเล็กๆ แต่ก็กลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ต้องพัฒนากันต่อไปเช่นกัน และในการอบรมครั้งนี้

สกู๊ป แวดวงการศึกษานอกจากนี้ ในการอบรมผู้พิการครั้งนี้ มจธ.ได้เปิดให้มีการสอนวิชาย่อยอย่างการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมี อาจารย์ไกรศิลา กานนท์ นักพัฒนาการศึกษา สถาบันการเรียนรู้ มจธ. เป็นวิทยากร

อาจารย์ไกรศิลา กล่าวว่า ในการอบรมผู้พิการจะได้เรียนรู้และฝึกฝนในด้านทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ จึงอยากให้ผู้พิการที่ผ่านการอบรมได้มีเวทีในการแสดงความรู้ความสามารถที่เรียนมา ผ่านผลงานซักหนึ่งชิ้น

จึงนำมาซึ่งโจทย์สั้นๆ ว่าให้ทำคลิปวีดีโอมานำเสนอจะเป็นรูปแบบใดก็ได้ เรื่องใดก็ได้ โดยเน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อสื่อสารสิ่งที่ผู้พิการอยากให้โลกโซเชียลได้รับรู้

สกู๊ป แวดวงการศึกษาเราไม่ได้กำหนดเนื้อหาของเรื่อง แต่หลังจากได้ดูคลิปที่พวกเขามานำเสนอ เรื่องราวที่พวกเขาถ่ายทอดออกมา ทรงพลังมาก เพราะเป็นเรื่องราวชีวิตจริงของคนพิการที่สะท้อนออกมาผ่านหนังสั้นบ้าง โฆษณาบ้าง บางเรื่องที่สะท้อนออกมาเป็นเรื่องที่คนปกติมีร่างกายสมบูรณ์แบบเราไม่เคยคำนึงถึงเลย

ทำให้เราเข้าใจโลกของผู้พิการมากขึ้นว่า มีอีกหลายสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ หรือมีสถานที่หลายแห่งที่พวกเขาอยากจะไปแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะข้อจำกัดของสิ่งเอื้ออำนวยความสะดวก และความเท่าเทียมในสังคม

“จากบทเรียนนี้เราก็นำกลับไปสอนนักศึกษาของเราให้เค้าคำนึงอยู่เสมอว่าการที่จะออกแบบหรือพัฒนานวัตกรรมอะไรขึ้นมาซักอย่าง อยากให้ลองคำนึงถึง ผู้ใช้งานที่เป็นกลุ่มคนพิการด้วย” อาจารย์ไกรศิลา กล่าว

ทางด้าน นายสิทธิชัย หอมหวน หรือ บีท ตัวแทนจากกลุ่มผู้พิการที่เข้าอบรมในโครงการครั้งนี้ กล่าวว่า จากการอบรมครั้งนี้ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ในหลายเรื่อง ทั้งความรู้ในห้องเรียน ความรู้รอบตัว ทักษะชีวิตที่เพิ่มขึ้นได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมเหมือนกับคนทั่วไป

“กลุ่มของผมทำคลิปโฆษณาสั้นๆ และอีกหลายกลุ่มทำเป็นหนังสั้น พวกเราแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด บางคนชอบคิดบท บางคนถนัดเรื่องแสดง บางคนชอบตัดต่อ รูปแบบของการนำเสนอแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันไป แต่พวกเรามีจุดประสงค์ในการสื่อสารอย่างเดียวกันคือเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนพิการ”

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

สกู๊ป แวดวงการศึกษา นายณรงค์ โกสิงห์ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวจากอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เล่าว่า หลังประสบอุบัติเหตุรถชนเมื่อ 12 ปีก่อน ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างเคลื่อนไหวไม่ได้ ชีวิตก็อยู่แต่ในบ้าน ไม่กล้าออกไปไหน และไม่สุงสิงกับใครมานานหลายปี รู้สึกอายเพราะสภาพความพิการของตนเอง จึงได้ใช้วิชาช่างซ่อมทีวีที่เรียนมาหาเลี้ยงชีพ

แต่ปัจจุบันไม่มีใครนำทีวีมาซ่อมกันแล้ว ทำให้ไม่มีรายได้ จึงตัดสินใจออกจากบ้านเดินทางมาเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ เพื่อหาความรู้และกลับไปหางานทำที่บ้านเกิด

และจากที่มาเข้าอบรมต้องอยู่นอกบ้านนาน 6 เดือน ทำให้เปลี่ยนความคิดที่ว่า ชีวิตนี้ไม่มีอนาคต ไม่มีงานทำแล้ว พอมาที่นี่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและมั่นใจว่ากลับไปเรามีงานทำแน่นอน โดยเฉพาะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งคิดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เนื่องจากมีงานด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานรองรับอยู่แล้ว

“เพียงแต่ตอนนั้น เราเองยังไม่มีทักษะพื้นฐานเรื่องของคอมพิวเตอร์และระบบการทำงานในสำนักงาน เมื่อได้เกิดความคุ้นชินจากการฝึกงาน เชื่อว่าจะสามารถกลับไปทำงานที่บ้านเกิดได้”

ส่วน นางสาวภัชรา โพธิสิงห์ (น้องตั๊ก) หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวยอมรับว่า แม้จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจมาก่อน แต่หลังจากเรียนจบมาก็ยังไม่มีงานทำ ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและความพิการของตนเอง ทำให้เครียดมาก แต่พอได้เข้าร่วมโครงการนี้รู้สึกได้ว่า ตนเองนั้นโตขึ้นมาก ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง

จากคนที่คอยรับความช่วยเหลือ กลายมาเป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่จะช่วยได้ รู้จักการแบ่งปัน มีสติมีสมาธิมากขึ้น รู้จักคิดก่อนพูด ต่างจากเมื่อก่อนที่มักเอาแต่ใจอยากพูดอะไรก็พูดไม่ค่อยเกรงใจใคร ยอมรับว่ามีความสุขที่ได้มาอบรมที่นี่ ที่สำคัญยังทำให้ได้เพิ่มทักษะการใช้ชีวิตให้สามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับแต่ที่บ้าน

“โครงการนี้สอนเราหลายอย่างที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการอบรมทักษะในการเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องโครงสร้างวัฒนธรรมองค์กรและการปรับตัว ถือเป็นทักษะที่ตนเองนั้นได้จากการอบรมครั้งนี้ ส่วนหลังจากนี้มีแผนที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาโททางด้านบริหารตามที่ใฝ่ฝันพร้อมกับการทำงานไปด้วย”

สกู๊ป แวดวงการศึกษาในขณะที่ ดร.บุญนาค โมกข์มงคลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดานิลี่ จำกัด หนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนหลักการจัดทำโครงการฝึกอบรมฯ กล่าวว่า “การดำเนินโครงการฯในปี้นี้มีความพิเศษ คือ การจัดหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานสำหรับคนพิการขึ้นเป็นครั้งแรก และได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากกระทรวงแรงงานเรียบร้อยแล้ว เพราะเป็นหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่จะรับผู้พิการเข้าทำงานในสถานประกอบการ ทำให้ผู้พิการที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรดังกล่าวก็จะสามารถออกไปหางานทำได้จริง

ส่วนผลการดำเนินโครงการฯในปีนี้ ถือว่าได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เพราะหลังเสร็จสิ้นโครงการฯพบว่า มีผู้ประกอบการเอกชนและหน่วยงานหลายแห่งขอรับเข้าทำงานเป็นจำนวนมาก

“แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผู้พิการที่มาเข้าร่วมโครงการฯ สามารถพัฒนาทักษะทั้งด้านวิชาการ และด้านการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆได้เป็นอย่างดี เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ต้องการให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น”  

ทั้งนี้ ในส่วนของ มจธ.รับผู้พิการจากโครงการดังกล่าวเข้าทำงานจำนวน 4 คน และรับนักศึกษาที่เป็นผู้พิการมากกว่า 3 คน และในอนาคตมีแผนดำเนินการออกแบบปรับปรุงอาคารและสภาพแวดล้อมโดยใช้หลักการออกแบบอาคารให้ผู้พิการเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า อารยสถาปัตย์

ถึงแม้โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานผู้พิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ รุ่นที่ 2 จะจบไปแล้ว แต่สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวทั้งมุมมอง หรือข้อคิดจากฝีมือการถ่ายทอดของผู้พิการในโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานผู้พิการนี้ ก็สามารถเข้าไปชมใน Channel : PWD KMUTT ทาง youtube ได้