“ดาว์พงษ์” รับฟังสารพันปัญหาโรงเรียนเอกชน ชื่นชม!จัดการศึกษาคุณภาพสูงกว่า ร.ร.รัฐ


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยนายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รับฟังปัญหาจากคณะผู้แทน 14 สมาคมสมาพันธ์การศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย นำโดยนางจิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ นายกสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ นางจิระพันธุ์ กล่าวว่า ได้นำตัวแทนจากสมาคมสมาพันธ์การศึกษาเอกชน ซึ่งมีทั้งหมด 14 สมาคมฯ มาพบรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอถึงปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดการศึกษาเอกชนของประเทศ อาทิ อาชีวศึกษาเอกชน  ต้องการให้แก้ไขปัญหา 3 ประเด็น คือ 1) ใบประกอบวิชาชีพครูอาชีวะ ซึ่งมีข้อจำกัดจากคุรุสภา 2) ต้องการให้แก้ไขระเบียบค่ารักษาพยาบาล จากกองทุนสงเคราะห์ที่ต้องเบิกจ่ายล่วงหน้าไปก่อน รวมทั้งปรับเพดานค่ารักษาพยาบาลให้สูงขึ้นจากอัตราปัจจุบันที่ได้รับ 1 แสนบาทต่อคนต่อปี และ 3) ส่งเสริมการศึกษาอาชีวะเอกชนให้เสมอภาคกับอาชีวะของรัฐ

ประถมศึกษาเอกชน  มีปัญหาเกี่ยวกับการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล และค่าครองชีพ, สมาคมโรงเรียนเอกชน ในนามของตัวแทนโรงเรียนเอกชนต่างจังหวัด เสนอประเด็นค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียนขาดแคลน ที่ขอรับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันในภาคเรียนที่ 2 ซึ่งรัฐจัดสรรให้แล้ว 1,200 ล้านบาท แต่โรงเรียนที่ไม่ได้เก็บค่าอาหารกลางวัน จะได้รับจัดสรรด้วยหรือไม่

มูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย เสนอปัญหาและความไม่สะดวกในการขอ Work Permit ของครูต่างชาติ จึงขอให้รัฐจัดให้มีระบบ One Stop Service รวมทั้งการสอบบรรจุครูผู้ช่วยของภาครัฐ ขอให้กำหนดการสอบและเรียกตัวครูก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อครูโรงเรียนเอกชนที่ต้องลาออกกลางคันในช่วงเปิดภาคเรียน

โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับการประเมินมาตรฐานสถานศึกษาภายในและภายนอก ให้เกิดความคล่องตัวและไม่ซ้ำซ้อนกันของหลายหน่วยงาน รวมทั้งเสนอประเด็นปัญหาครูต่างชาติที่มีขั้นตอนการขออนุญาตยุ่งยากจากหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงแรงงานและคุรุสภา นอกจากนี้ต้องการให้รัฐส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนนานาชาติ โดยจัดให้มีระบบกลไกที่ต่อยอดให้ก้าวไกลไปในระดับสูงขึ้น

สมาคมโรงเรียนเอกชนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน (English Program) พบปัญหาข้อกฎหมายของกรมส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่กำหนดให้สถานประกอบการของเอกชนและหน่วยงานของรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนจำนวน 50 คนต่อคนพิการ 1 คน หากโรงเรียนสรรหาคนพิการเข้าทำงานในโรงเรียนเอกชนไม่ได้ จะต้องส่งเงินให้กองทุนคนพิการวันละ 300 บาท จึงขอให้ยกเว้นเงินย้อนหลังได้หรือไม่ เพราะบางโรงเรียนต้องเสียเงินย้อนหลังถึง 5 ปี

สมาคมครูสถานศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เสนอให้แก้ไขเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลที่รวมค่าตรวจสุขภาพไว้ด้วย และต้องการให้มีการทำผลงานวิชาการของครูโรงเรียนเอกชน เพื่อความก้าวหน้าและเป็นขวัญกำลังใจสำหรับครูโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ในพระพุทธศาสนา เสนอปัญหาว่า ปัจจุบันได้รับเงินอุดหนุน 100% แต่เหลือเงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายเพียง 10% รวมทั้งต้องการให้สนับสนุนกองทุนสงเคราะห์ฯครูโรงเรียนเอกชน

ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า การจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชนในปัจจุบันมีคุณภาพมาตรฐานกลางสูงกว่าการจัดการศึกษาของภาครัฐมาก โดยเฉพาะผลตัวชี้วัดการสอบ O-NET ชั้นป.6 ปีการศึกษา 2557 ทุกรายวิชามีค่าเฉลี่ยสูงกว่ามาก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ยมาตรฐานกลาง 46% สูงกว่าโรงเรียนของรัฐถึง 10%, วิชาภาษาไทยมีคะแนนเฉลี่ย 44% สูงกว่าโรงเรียนของรัฐ 3%, วิชาคณิตศาสตร์ 43% สูงกว่าโรงเรียนของรัฐ 5% จึงขอขอบคุณที่ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญที่ช่วยภาครัฐพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ

“อย่างไรก็ตาม ศธ.มีนโยบายสำคัญๆ ที่ต้องการให้ภาคเอกชนมีส่วนสนับสนุน ได้แก่ การแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้, การปลูกฝังค่านิยมหลัก 12 ประการ ที่จะต้องส่งเสริมกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้เพื่อสามารถปฏิบัติได้, นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นนำร่องลดเวลาเรียนในชั้นเรียนถึงเวลาประมาณ 14.30 น. จากนั้นให้ทำกิจกรรมเสริมเพิ่มความรู้หลังเลิกเรียนอีกประมาณ 1 ชั่วโมง, การยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้สูงขึ้น, การให้ความสำคัญกับเทคนิคการสอนให้เด็กเรียนรู้เข้าใจง่าย สนุก และการส่งเสริมการจัดการศึกษาอาชีวะให้มีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน จบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้ทันที” รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว และว่า ส่วนแนวทางการอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนโรงเรียนเอกชน ซึ่งได้รับฟังปัญหาแล้ว จะให้ สช.พิจารณาสนับสนุนหรือแก้ปัญหาตามความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป