“พระสมเด็จ ประดับคริสตันสีน้ำเงิน หลังครุฑ” วิจิตรตามแบบฉบับสายวัง

พระสมเด็จ ประดับคริสตันสีน้ำเงิน หลังครุฑวิจิตรตามแบบฉบับสายวัง

 

 

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมนิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam 
E-Mail : arphawan.s@gmail.com

 

คุณพ่อของผู้เขียนเองมีพระสมเด็จ สายวัง ที่เก็บไว้ส่วนหนึ่ง เมื่อมีโอกาสเลยได้ขอคุณพ่อมาดู เพื่อศึกษาถึงรายละเอียด 

 

 

ถ้าหากจะขยายความนิยามพระสมเด็จ สายวัง ก็คงต้องบอกว่า พระสมเด็จที่คุณปู่ คุณตา หรือ บรรพบุรุษเราส่งต่อมาให้ มีหลากหลายพิมพ์ หลากหลายเนื้อ และหลากหลายแบบ บ้างก็มีประดับพลอย คริสตัน หรือหยก บ้างก็มีการกดพิมพ์ด้านหลังที่บ่งบอกถึง เหตุการณ์หรือความพิเศษ เพื่อให้ รำลึก ถึงเรื่องราวในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือ ประดับด้วยลูกปัดสีต่างๆ บนพระสมเด็จ 


สำหรับพระสมเด็จองค์นี้เอง คุณพ่อได้มาจากลูกหลานของคนที่ทำงานในวังซึ่งเป็นข้าราชการเก่าแก่ ด้วยความสวยงามของพระสายวัง และดูแปลกตา มีการประดับด้วยคริสตันเก่า และมีความแห้ง ความเก่า เนื้อพระที่หลุดร่อนออกไป เผยให้เห็นถึงเนื้อในสีฟ้า และมีมวลสารเล็กๆ ข้างในนั้น ทำให้คุณพ่อตัดสินใจเก็บสะสมพระชุดนี้ขึ้นมาศึกษา ด้วยแนวทางของการ อนุรักษ์พุทธศิลป์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป

ผู้เขียนได้หาข้อมูลเพิ่มเติม ก็พบข้อมูลของ อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี ผู้สะสมและสืบทอดมรดกพระสมเด็จจากต้นตระกูลสิงหเสนี และจากประสบการณ์เรื่องพระสมเด็จของท่านเอง จึงได้แบ่งประเภทพระสมเด็จออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1. พิมพ์วัง สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ในวังและหอพระ
2. พิมพ์วัด สร้างไว้เพื่อบรรจุในวัดและกรุวัดต่างๆ
3. พิมพ์บ้าน สร้างไว้เพื่อแจกชาวบ้าน 
4. พิมพ์วังหน้า สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ที่ส่วนวังหน้า (พื้นที่วังหน้าเดิมได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)
5. พิมพ์พุทธจารึก สร้างไว้เพื่อบันทึกเรื่องราวประเพณีในสมัยนั้น เช่น พระสมเด็จหลังพิธีโยนบัว, พระสมเด็จหลังเสาชิงช้า ฯลฯ

ดังนั้น พระสมเด็จ สายวังนี้เอง น่าจะเข้าประเภทพิมพ์วัง ที่ อ.ปิ่นสัณฑ์ ว่าเอาไว้

 

 


พระสมเด็จสายวัง ประดับคริสตันสีน้ำเงิน หลังครุฑ

พระสมเด็จ องค์นี้ เป็นพิมพ์พระประธาน รูปร่างขององค์พระดูล่ำสัน มีการประดับคริสตันสีน้ำเงินทั้งด้านซ้าย และด้านขวา ด้านหลังมีการกดครุฑ ปิดทองเก่าทั้งด้านหน้าและด้านหลังองค์พระ จากการเก็บรักษาและการผ่านกาลเวลามี 100 กว่าปี ทำให้ทองเก่าด้านหน้าหลุดลอกออกไปตรงซุ้มเรือนแก้ว และที่ท่อนแขนด้านขวาองค์พระประธาน เผยให้เห็นเนื้อมวลสารสีฟ้าสด 

มีการประดับด้วยอัญมณีเล็กๆ ออกสีคล้ำๆ ตรงส่วนพระอุระ (อก) พระหัตถ์ และฐานสิงห์ (ฐานชั้นที่2) 

ส่วนด้านหลังเองก็มีการหลุดลอกของทองเก่าช่วงล่างด้านซ้าย (ภาพ) ทำให้เห็นเนื้อมวลสารสีฟ้าสดเช่นกัน 

แม้ว่าพระสมเด็จจะปิดทองเก่าทั้งองค์ อาจะทำให้ดูเนื้อมวลสารยากหน่อย แต่คุณพ่อก็สอนให้ดูความยุบ และแห้ง ของพระสมเด็จ โดยเฉพาะส่วนซุ้มเรือนแก้ว เมื่อมีความแห้งที่ถึงกาลเวลา ความหด และยุบของมวลสารจะชัดเจน ทำให้เนื้อมวลสารของซุ้มเรือนแก้วมีการมุดซุ้ม และเมื่อพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 100 ปีแล้วนั้น จะมีความ ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง  เป็นไปตามที่ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ได้เคยอธิบายถึงธรรมชาติพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี 

 

 

พญาครุฑ และความเป็นอมตะ

ผู้เขียนได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับครุฑก็ได้ข้อมูลว่า พญาครุฑ เป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์หรือสัตว์กึ่งเทพ ในตำนานเมืองฟ้าป่าหิมพานต์ ปรากฏในวรรณคดีสำคัญๆ หลายเรื่อง เข่น มหากาพย์ มหาภารตะ


ส่วนในคติความเชื่อของไทย เชื่อว่าพญาครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งมวล และเป็นพี่น้องคนละแม่กับพญานาค วันหนึ่งมีการกวนเกษียรสมุทร แต่พญานาคได้ทำการโกง ทำให้แม่ของพญาครุฑตกเป็นทาสของพญานาค

พญาครุฑอยากช่วยแม่ตนเอง จึงขอเจรจากับพญานาค โดยมีน้ำอมฤตจากสวรรค์เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน พญาครุฑจึงบินไปบนสวรรค์เพื่อเอาน้ำอมฤตมา แต่เนื่องจากน้ำอมฤตเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ สัตว์ไม่สามารถดื่มกินได้ จึงเกิดการต่อสู้บนสวรรค์ เนื่องจากพญาครุฑจะนำน้ำอมฤตลงมาให้ได้

เมื่อพระนารายณ์ทราบเข้า จึงฟังเหตุผลของพญาครุฑ และเห็นถึงความกตัญญูนี้ จึงยอมให้นำน้ำอมฤตไปให้พญานาค แต่มีข้อแม้ว่า ทันทีที่พญาครุฑวางน้ำอมฤตไว้ให้พญานาคแล้ว พระนารายณ์จะนำกลับสวรรค์ทันที 

พญาครุฑจึงตกลงทำตาม และเป็นพาหะให้พระนารายณ์ลงมายังโลกมนุษย์ นี่เองจึงเป็นที่มาของพระนารายณ์ทรงครุฑ และพระนารายณ์ได้ประทานพรให้พญาครุฑเป็นอมตะ และมีพลังเหนือทุกสิ่ง ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งหมายถึง "ขนวิเศษ"

ข้อมูลบางแห่งก็เขียนเอาไว้ว่า เมื่อคราวที่พญาครุฑบินไปสวรรค์เพื่อน้ำน้ำอัมฤตกลับมา เพื่อช่วยมารดา จึงเกิดการต่อสู้กับพระอินทร์ และพระนารายณ์ ด้านพระนารายณ์ไม่อาจเอาชนะพญาครุฑได้ จึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระนารายณ์ให้พรแก่พญาครุฑว่า จะให้เป็นอมตะและให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนพญาครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระนารายณ์ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระนารายณ์อันเป็นที่สูงกว่า


พญาครุฑ เป็นสัตว์ที่มีอานุภาพและพลังมหาศาล บินได้รวดเร็ว ปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ จึงถูกนำมาบูชาและใช้แทนตราสัญลักษณ์ต่างๆ ตั้งแต่ตราพระมหากษัตริย์ ตราทหาร ตำรวจ วิศวะกร นายช่าง หรือคนที่รับราชการ

 

นอกจากนี้ ด้วยฤทธานุภาพของพญาครุฑ จึงได้มีการสร้างรูป ครุฑพ่าห์ หมายถึง ครุฑซึ่งเป็นพาหนะ เป็นรูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยการปกครองแบบเทวราชา ด้วยความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ คือ อวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น

ดังนั้น พระสมเด็จ หลังพญาครุฑองค์นี้ แน่นอนว่าจะต้องเป็นพระสมเด็จที่มาจากสายวัง เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ และปรากฏในดวงตราประจำพระเจ้าแผ่นดิน 

 

 

ผงและมวลสารวิเศษ ในพระสมเด็จ เสริมสิริมงคล และพลังพุทธคุณ


แน่นอนว่า มวลสารสำคัญในพระสมเด็จ ของ
สมเด็จพระพุฒาจารย์โตเป็นผงวิเศษและมวลสารศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านการปลุกเสกด้วยคาถาสำคัญๆ ตามตำราของสมเด็จฯ โต ทั้งสิ้นหนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย ผงพุทธคุณที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 

2. ผงพุทธคุณทั้ง

- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี

3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108

4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง

5. ทรายเงิน ทรายทอง

6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารย์ที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 

7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุกสุก 

8. เกสรดอกไม้

9. น้ำพุทธมนต์

10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 

11. เศษพระกำแพงหัก

12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ

13. ฯลฯ

พระสมเด็จ ที่ประกอบด้วยพลังพุทธคุณล้นเหลือ และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงเป็น ความใฝ่ฝัน ของเหล่าบรรดานักสะสมพระเครื่อง และเมื่อกระทำความดี ตั้งตนอยู่ในการประพฤติ ปฏิบัติดี พร้อมทั้งภาวนาด้วยพระคาถา ชินบัญชร อันศักดิ์สิทธิ์ ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่อัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญมากมาย รวมทั้งอัญเชิญพระสูตรสำคัญ ทั้ง 7 สูตร ทำให้มีพลังในการคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย, เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, มหาอุด, ป้องกันภูตผีปีศาจ ฯลฯ  ก็จะยิ่งทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ศรัทธา 

 

ส่องพระสมเด็จ สายวัง หลังครุฑ ด้วยกล้องกำลังขยายสูง




 

 

 

 

 

 

 

พระสมเด็จแต่ละองค์ล้วนมีตำหนิ ที่แตกต่างกัน แม้จะมาจากบล็อกเดียวกัน มวลสารเหมือนกันก็ตาม และจากการเก็บรักษาต่างกันก็จะทำให้พระสมเด็จมีความสมบูรณ์ แตกต่างกัน อย่างองค์นี้เองด้วยการเก็บรักษาจากเจ้าของเก่าก่อนมาถึงคุณพ่อ ก็เกิดการหลุดของทองเก่า และถลอก ทำให้ผิวเปิดไปถึงเนื้อพระสมเด็จ ในช่วงซุ้มเรือนแก้ว และด้านหลังพระสมเด็จ


แต่คุณพ่อเน้นย้ำ เสมอว่า การเก็บสะสมพระสมเด็จของท่าน เน้นไปที่การอนุรักษ์และดู พุทธศิลป์ เพื่อศึกษาเท่านั้น รวมไปถึง พลังพุทธคุณ ขององค์พระสมเด็จ ท่านจึงไม่ได้มองว่าการเก็บพระสมเด็จจะต้องมีราคาสักเท่าไหร่ หรือ ในเชิงพาณิชย์จะสนใจหรือไม่ ท่านจึงสอนให้ผู้เขียนเรียนรู้ไปตามแนวทางของสายอนุรักษ์ เพื่อช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป


หากท่านใด ที่มีพระสมเด็จ พิมพ์ทรงประมาณนี้ แนวทางนี้ ขอให้เบาใจ ไว้ว่า ทางครอบครัวของผู้เขียนเองก็มีไว้ศึกษา บูชาเช่นกัน และขอให้ท่านตั้งตนอยู่ในคุณความดี ช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนาในฐานะพุทธศาสนิกชนต่อไป


อ้างอิง : 1.https://bit.ly/38E30N1
2.https://bit.ly/3oEyuZb
3.https://youtu.be/3iXBeSMNMqo





คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)