ศึกษา “พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ หลังเจดีย์” พิมพ์จารึกเหตุการณ์สำคัญ

 

ศึกษาพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ หลังเจดีย์พิมพ์จารึกเหตุการณ์สำคัญ

 

เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมนิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam 

E-Mail : arphawan.s@gmail.com

 

คุณพ่อผู้เขียนมีพระสมเด็จ ที่ด้านหลังมีการกดพิมพ์ต่างๆ อยู่หลากหลายแบบ อย่างเช่นพระสมเด็จชุดนี้ ที่ด้านหลังกดพิมพ์เป็นรูปเจดีย์ 

 

ด้านหลังที่กดพิมพ์เจดีย์ คิดว่าน่าจะเป็นพระปฐมเจดีย์ ที่ จ.นครปฐม เพราะครั้งนั้นมีการปฏิสังขรณ์ในสมัย ร.๔ - ร.๕ คิดว่าสมเด็จฯ ท่านน่าจะสร้างไว้เป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนะ คุณพ่อผู้เขียนให้ความเห็นถึงพิมพ์ที่ท่านเก็บสะสมมา 

 

ผู้เขียนถามถึงความน่าสนใจในการเก็บสะสมพระชุดนี้ของคุณพ่อ ท่านก็บอกว่า การเก็บสะสมพระสมเด็จของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่ท่านเคารพและศรัทธาอย่างสุดหัวใจแล้วนั้น การเก็บพระพิมพ์ที่แปลกๆ หรือมีการกดพิมพ์ด้านหลังเป็นรูปต่างๆ นอกจากเป็นการอนุรักษ์แล้วนั้น ยังเป็นการส่งต่อเรื่องราวสำคัญๆ จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และสืบเนื่องต่อไปยังอนาคต เพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป ได้รู้ว่า อดีต ที่ผ่านมาเรามีพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรือง และมีเกจิอาจารย์ที่น่าเคารพเลื่อมใสมากเพียงใด 

 

เคล็ด (ไม่) ลับ ที่สำคัญของคุณพ่อในการส่องพระสมเด็จในสายอนุรักษ์ของท่านนั้น คือ ยึดหลักการ ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง ตามที่ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ได้เคยอธิบายถึงธรรมชาติพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี และยังดูถึง มวลสารต่างๆ ที่ปรากฏในพระสมเด็จ เพราะถ้าเป็นพระสมเด็จที่เป็นยุคในช่วงที่ท่านมีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์แล้วนั้น มวลสารที่ท่านใช้ในการทำพระสมเด็จจะเป็นปูนเปลือกหอยเป็นหลัก รวมกับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ด้วย

 

พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ชายจีวร หลังเจดีย์

 

พระสมเด็จองค์นี้ มีลักษณะพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ ชายจีวรหนา เกศทะลุซุ้ม และด้านหลังกดรูปเจดีย์ บนผิวพระด้านหน้ายังคงมีคราบของรักที่เคลือบผิวพระเอาไว้ ด้านขวามีส่วนเนื้อเกินออกมาเป็นตุ่ม เช่นเดียวกับที่บนซุ้มเรือนแก้ว ใกล้เกศขององค์พระประธาน ก็มีตุ่มเนื้อเกินเช่นกัน 

 

เราจะเห็นการหลุดร่อนของมวลสารทั้งส่วนของพระพักตร์ และบริเวณพื้นผิวด้านข้าง องค์พระประธานดูล่ำสัน ซุ้มโค้งมีความหนา เกศองค์พระทะลุซุ้มเรือนแก้วออกไปชนกรอบกระจก

 

ด้านหลังกดพิมพ์รูปจำลองเจดีย์ เอียงไปด้านขวา โดยกดลึกลงไปบนผิว และมีคราบของรักเก่าที่เคลือบองค์พระไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วย ส่วนบนด้านขวามีรอยแตกและหลุดของมวลสาร เผยให้เห็นเนื้อมวลสารสีขาวด้านใน

 

 

รูปจำลององค์พระปฐมเจดีย์ด้านหลังพระสมเด็จวัดระฆัง

 

จากที่คุณพ่อสันนิษฐานว่า ด้านหลังที่กดพิมพ์เป็นรูปจำลององค์พระปฐมเจดีย์นั้น ผู้เขียนได้ลองหาข้อมูล ก็พบว่า อาจารย์โชค เพิ่มพูล ศึกษาพระสมเด็จ เจ้าของเพจธรรมมณีแห่งเสน่ห์Amulet  ได้ให้ข้อมูลเช่นเดียวกันว่า มีการสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ด้านหลังผนึกรูปจำลององค์พระปฐมเจดีย์ ในวาระ 2396 - 2413 ซึ่งเป็นการการก่อสร้างเจดีย์ครอบองค์ใหม่

 

อาจารย์โชค ยังให้ข้อมูลเรื่องพิมพ์ทรงอีกว่า ผู้ที่แกะพิมพ์ถวายสมเด็จฯ คือ หลวงวิจารณ์ เจียรนัยซึ่งเป็นช่างทองวังหลวง จัดสร้างถวาย เริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2408 เริ่มแรกมี 2 พิมพ์ (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพิมพ์ใหญ่) และสร้างเพิ่มเติมอีก 4 พิมพ์ ได้แก่พิมพ์เจดีย์พิมพ์ใหญ่ ชายจีวรบาง, ฐานแซม (มีผ้าทิพย์)พิมพ์ใหญ่ ชายจีวรเส้นลวด, พิมพ์ใหญ่ ชายจีวรหนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2410 เมื่อสมเด็จโตทำบุญอายุครบ 80 ปี ได้ถวายแม่พิมพ์เพิ่มอีกคือ พิมพ์เส้นด้ายพิมพ์เจดีย์, พิมพ์ใหญ่ ชายจีวรบาง

 

สำหรับประวัติขององค์พระปฐมเจดีย์ มิวเซียมไทยแลนด์ ให้ข้อมูลว่า พระปฐมเจดีย์ หรือเดิมเรียกว่า พระธมเจดีย์ เป็นพระสถูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในบริเวณ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม และเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร

 

มีความเชื่อว่า ภายในเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์พระโคตมพุทธเจ้า มีข้อสันนิษฐานว่าพระปฐมเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยพระอโศกมหาราช ที่ทรงส่งสมณทูตมาเผยแพร่ศาสนา ซึ่งมีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ เป็นสมณทูต และมาตั้งหลักฐานประกาศหลักธรรมคำสอนที่นครปฐมเป็นครั้งแรก ในพุทธศตวรรษที่ 3 และได้สร้างพระเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ แบบเจดีย์สาญจิในประเทศอินเดียไว้

 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวช ได้เสด็จธุดงค์มานมัสการ ทรงเห็นพระเจดีย์ยอดปรางค์สูง 42 วา เมื่อทรงลาผนวชได้ขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อปีพุทธศักราช 2396 ทรงโปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ สูง 120 เมตร กับ 45 เซติเมตร พร้อมสร้างวิหารคด 2 ชั้น ทั้ง 4 ทิศ และระเบียงโดยรอบทิศ และพระราชทานนามใหม่ว่า พระปฐมเจดีย์ ยังปฏิสังขรณ์ไม่ทันเสร็จสิ้น พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดปฏิสังขรณ์จัดสร้างหอระฆัง และประดับกระเบื้องจนสำเร็จ

 

องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูป ระฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ถือเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุด เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยอีกด้วย

 

นับจากการปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยปลาย ร.๔ -ร.๕ ตรงกับการแบ่งช่วงของการสร้างพระสมเด็จ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์โต โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล ผู้ศึกษาพระสมเด็จ และเจ้าของบล็อกพระเครื่องเรื่องใหญ่ ที่คุณพ่อผู้เขียนได้ใช้เป็นอีกหนึ่งแนวทางการศึกษานั้น ได้รวบรวมข้อมูลไว้ว่า 

 

ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2394 - 2407 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต อายุ 63-76 ปี เป็นช่วงเวลาที่ท่านได้รับตำแหน่งราชาคณะตั้งแต่ที่ พระธรรมกิติ (พ.ศ. 2395) พระเทพกระวี (พ.ศ. 2397) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พ.ศ. 2407) ในช่วงเวลานี้ น่าจะมีการสร้างพระสมเด็จ เนื่องในโอกาสฉลองเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับดังกล่าวด้วย 

 

ช่วงที่ 4 พ.ศ. 2408 - 2411 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต อายุ 77-80 ปี  ในปี พ.ศ. 2408 ได้มีการสร้างพระสมเด็จเพื่อบรรจุกรุพระธาตุพนมจำลองในวัดบวรสถานสุทธาวาส (วังหน้า) มิใช่ที่พระธาตุพนม จ.นครพนม และเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสวรรคต ในปี พ.ศ. 2408 ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2410 ท่านเริ่มสร้างพระยืนโต ที่วัดอินทรวิหาร จึงน่าจะมีการสร้างพระสมเด็จบรรจุในกรุวัดอินทรวิหารด้วย ขณะเดียวกันท่านยังได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระนามว่า พระพุทธมหามุนีศรีมหาราช ที่วัดกุฎีทอง (วัดพิตเพียน) ตำบลพิตเพียน  อำเภอมหาราช  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกด้วย

 

จากข้อมูลที่ผู้เขียนรวบรวมมา อาจจะเป็นไปได้ที่ พระสมเด็จ หลังรูปจำลองเจดีย์นั้น น่าจะมีการสร้างในช่วงที่ 3 หรือ ช่วงที่ 4 ของสมเด็จฯโต  เพื่อเป็นการระลึกและบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ เอาไว้ ให้กับลูกหลานรุ่นหลังได้รับทราบประวัติความเป็นมา และย้ำเตือนให้นึกถึงเสมอ 


 

มวลสารและผงวิเศษในพระสมเด็จ” 

 

ในสมัยที่หลวงวิจารณ์ เจียรนัยเป็นผู้แกะบล็อกพิมพ์พระสมเด็จ เพื่อถวายเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้น ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้แกะพิมพ์ที่งดงามที่สุด และมีการผสมมวลสารครบ และเน้นการใช้มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก และยังมีมวลสาร ผงวิเศษอื่นๆ มากมาย ทั้งนี้หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโตกล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย ผงพุทธคุณที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้

 

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 

2. ผงพุทธคุณทั้ง

- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย

- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี

- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม

- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์

- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี

3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108

4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง

5. ทรายเงิน ทรายทอง

6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารย์ที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 

7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก 

8. เกสรดอกไม้

9. น้ำพุทธมนต์

10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 

11. เศษพระกำแพงหัก

12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ

13. ฯลฯ

 

ผนึกกำลังพุทธคุณด้วยคาถาชินบัญชร

 

คาถาชินบัญชร ที่เราใช้สวดมนต์ถวายพระพุทธองค์กันนั้น มีการสันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาได้เป็นผู้แต่งขึ้น และเป็นพระคาถาที่สำคัญใช้ในพิธีกรรมตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ซึ่งท่านทรงสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้น 


เนื้อหาในคาถาในชินบัญชรนั้น ว่าด้วยการอัญเชิญพระพุทธเจ้า
28 พระองค์ เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าตัณหังกร เป็นต้นมา ให้ลงมาสถิตอยู่ในทุกอณูของร่างกาย เพื่อเป็นการเสริมพลังพุทธคุณให้กับตัวเราเอง พร้อมด้วยการอัญเชิญพระอรหันต์ สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 80 องค์ ซึ่งเป็นผู้มีบารมีธรรมที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังได้มีการอาราธนาพระสูตรอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ทรงอานุภาพในด้านต่างๆ มาสถิตในทุกส่วนของร่างกายจนรวมกันเป็นกำแพงแก้วคุ้มกัน ตั้งแต่กระหม่อมลงมาห้อมล้อมรอบตัวของผู้สวดพระคาถาชินบัญชร ทำให้ภัยอันตรายต่างๆ ไม่สามารถเข้ามาสอดแทรกได้ เกิดความเป็นสิริมงคล ศัตรูหมู่มารไม่กล้าผจญ เกิดลาภผลทวีคูณ 

 

หากท่านใดถือครองพระสมเด็จ พร้อมด้วยผนึกพลังพุทธคุณที่มีพุทธานุภาพสูงเข้าด้วยกันแล้ว จะบังเกิดผลดีอันเป็นมงคลกับตัวท่านเอง 

 

ส่องพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ชายจีวร หลังเจดีย์ ด้วยกล้องกำลังขยายสูง



 

สิ่งที่ครูบาอาจารย์ได้สร้างและปลุกเสกวัตถุมงคลอันศักดิ์สิทธิ์นั้น หัวใจหลักคือการสืบทอดพระพุทธศาสนาไปจนครบ 5,000 ปี และคุ้มครองผู้ที่ถือครองวัตถุมงคลนั้นให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่างๆ และหวังให้ช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนาไปยังคนรุ่นหลัง เพื่ออนุรักษ์ทั้งประเพณี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่ดีงามของประเทศไทยให้คงอยู่สืบไป 

 

ขอให้ทุกท่านตั้งตนอยู่ในคุณความดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และสืบทอดพระพุทธศาสนากันต่อไปนะคะ 

 

อ้างอิง : 1.https://bit.ly/3acRIyL

2. https://bit.ly/3iTQcWk

3. https://bit.ly/2MqFQBb

4. https://bit.ly/39mWyua

 

คุยกับคอลัมน์นิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)