“พระสมเด็จ” พิมพ์ใหญ่ ลงรักดำ ปิดทองเก่า

 

ส่อง “พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ ลงรักดำ ปิดทองเก่า ตามขนบสืบเนื่องตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา

 

พระสมเด็จอีกชุดหนึ่งที่คุณพ่อผู้เขียนเก็บสะสมคือ พระสมเด็จ ที่ลงรัก ปิดทอง เนื่องจากความสวยงามของรักเก่าที่ผ่านกาลเวลา เผยให้เห็นความแห้ง และการหลุดลอกออก ทำให้เห็นผิวพระที่อยู่ใต้รักที่ปิดเอาไว้ ก็พบว่า มีความงดงาม ดูแล้วลึกซึ้ง อย่างบอกไม่ถูก ยิ่งส่องด้วยกล้องขยายก็ยิ่งเพลิน

 

พระสมเด็จชุดนี้ คุณพ่อได้มาจากคุณยายที่สามีเป็นทหารเก่า ซึ่งได้เก็บสะสมพระสมเด็จไว้เป็นจำนวนมาก และหลากหลายแบบ เมื่อแรกเจอก็เห็นความแปลกตาของพระสมเด็จด้วยการลงรักดำ รักแดง ส่วนบางองค์ก็ปิดทองร่วมด้วย จึงทำให้คุณพ่อเก็บพระชุดนี้ขึ้นมาสะสมและศึกษา

 

ส่วนที่รักได้หลุดลอกออกไป ทำให้เห็นเนื้อพระใต้รักนั้น ก็มีความแห้ง เหี่ยว ยุบ แยก ตามกาลเวลา ซึ่งเทคนิคของคุณพ่อในการส่องพระสมเด็จนั้น คือการพิจารณาจากเนื้อมวลสาร และผิวพระภายนอกเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นมาดูเรื่องพิมพ์ทรงทีหลัง เพราะคุณพ่อให้ความเห็นว่า พิมพ์พระสมเด็จมีหลากหลาย อาจจะไม่ใช่แค่ 5 พิมพ์นิยมที่สากลเล่นกัน เพราะเรามาทางสายอนุรักษ์ จุดตัดสินใจคือเนื้อมวลสาร และลักษณะความ ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง ตามที่ แนวทางการศึกษาพระสมเด็จของ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ได้บอกเอาไว้

 

 

ทำไมต้องลงรัก?

 

บทความของ อาจารย์อร่าม เริงฤทธิ์ ประธานและผู้อำนวยการ สถาบันพระแท้สมเด็จโตประเทศไทย ที่ให้ข้อมูลเรื่องการลงรักปิดทองล่องชาดในพระสมเด็จ ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เอาไว้ว่า 

 

การลงรักปิดทองนั้นเป็นงานประณีตศิลป์ของไทยมีวิวัฒนาการตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จัดอยู่ในงานของช่างสิบหมู่ และในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 - 23 ตอนปลายอยุธยา เป็นช่วงที่ศิลปะการลงรักปิดทองเจริญรุ่งเรืองที่สุด 

 

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ร.๓-ร.๔ เป็นช่วงเฟื่องฟูของศิลปะมากที่สุด และมีการนำรักมาใช้ในงานศิลปะ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยที่ รัก หรือ ยางรัก มีคุณลักษณะเป็นยางเหนียว สามารถเกาะจับพื้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สามารถใช้ถมทับ หรือ เคลือบผิว แล้วปิดด้วยทองคำเปลว เพื่อให้ผิวของวัตถุนั้นเป็นมันวาว แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองตามขนบโบราณ ซึ่งการลงรักปิดทองคำเปลวนี้เอง จะปิดลงบนวัตถุประเภทต่างๆ ในงานศิลปะ เช่น ปูนปั้น ไม้แกะ ต่างๆ 

 

ลงรักปิดทองในพระสมเด็จ

    

อ.อร่าม ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเอาไว้ว่า การลงรักปิดทองล่องชาดในพระสมเด็จ เป็นการป้องกันไม่ให้เนื้อพระสมเด็จแตกร้าวและแตกระแหง ทำให้เนื้อพระคงทน เมื่อพระสมเด็จแห้งดีแล้วจะคงทนต่อความร้อน ความชื้น กรดและด่างอ่อนๆ และการลงรักยังเป็นศิลปะที่ทำให้เกิดความสวยงาม ตามความเชื่อของผู้คนยุคนั้น เชื่อว่าผู้ที่ได้ครอบครองพระสมเด็จที่ลงรักปิดทองจะทำให้เจริญรุ่งเรือง 

 

พระสมเด็จที่พบการลงรักปิดทองสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในยุคกลาง (ร.๓-ร.๔) และยุคปลาย (ร.๔) โดยมีช่างสิบหมู่ ช่างวังหลัง ช่างวังหน้า ช่างกรมท่า เป็นผู้แกะพิมพ์ แล้วจึงลงรักปิดทอง ลงเทือก ลงชาด 

 

พระสมเด็จที่ลงรักปิดทอง เมื่อผ่านกาลเวลา รัก เทือก ชาด จะร่อนออก ผิวพระสมเด็จจะไม่แตก หรือ ถ้าแตกผิวพระสมเด็จจะแตกลายสังคโลก ซึ่งลักษณะการแตกเป็นตาข่ายแตกลายแบบตาข่ายกว้าง มองด้วยตาเปล่าเห็นได้ชัด หรือ อาจมีการแตกลายงา ปริเป็นเส้นเล็กๆ และแตกลายไข่นกปรอท แตกเป็นตาข่ายเหมือนสังคโลกแต่เป็นตาข่ายเล็กละเอียด มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า การแตกลายทั้ง 2 แบบหลังนี้ จะต้องแตกลายเกิดขึ้นก่อนที่จะนำพระสมเด็จ มาลงรักปิดทองล่องชาด

 

หรือ อีกลักษณะหนึ่งการแตกลายเกิดขึ้นได้ จากการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาที่เกินกว่า 146 ปี ทำให้ผิวพระสมเด็จเกิดแตกลายสังคโลก ลายไข่ปรอท ลายงาขึ้นตามหลักธรรมชาติวิทยา 

 

รักที่นิยมนำมาเคลือบผิวพระสมเด็จ คือรักจีนมีสีม่วงอมดำ จะมีสีม่วงอมดำ รักไทยจะมีสีดำ และรักน้ำเกลี้ยง จะมีสีน้ำตาล เทือกจะมีสีโคลนตม ชาดจะมีสีแดง

 

ส่วนพระสมเด็จในยุคปลาย ที่แกะแม่พิมพ์โดยช่วงหลวงในวังเป็นหลักนั้น จะไม่ลงรัก เทือก ชาด เนื่องจากได้ใช้น้ำมันตังอี้วเป็นตัวประสาน เคลือบพระสมเด็จเอาไว้แทน ทำให้พระสมเด็จดูสวยงาม

 

 


ด้าน อ.ราม วัชรประดิษฐ์
 คอลัมน์พันธุ์แท้พระเครื่องจากข่าวสด เคยให้ข้อมูลเรื่องการลงรักความสำคัญและคุณค่าในพุทธศิลปะ เอาไว้ว่า

 

การจัดสร้างพระพุทธรูป พระเครื่องของไทย มีการลงรัก เนื่องจากรักมีคุณสมบัติพิเศษในการรักษาเนื้อ และสภาพขององค์พระให้สมบูรณ์แม้จะผ่านกาลเวลาเนิ่นนาน  ซึ่งมีทั้งรักดิบ รักน้ำเกลี้ยง และรักสมุก คณะจารย์ตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึง ร.๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสร้างพระเครื่อง จะใช้รักจีนในการปิดทับลงไป เพราะเป็นรักที่มีคุณภาพสูง 

 

เมื่อดูบริบททางประวัติศาสตร์ พบว่า ในสมัย ร.๓-ร.๕ มีการนิยมศิลปะจีน และคณาจารย์ เกจิอาจารย์ที่ใช้รักจีนนั้น ล้วนแต่เป็นอาจารย์ของพระบรมวงศานุวงศ์หรือชนชั้นสูงในระยะนั้นแทบทั้งสิ้น เช่น เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ฯลฯ

 

อ.ราม ยังให้ข้อมูลอีกว่า พระสมเด็จวัดระฆังที่ล้างรักออกแล้ว จะปรากฏรอยรักแตกเรียกพระแตกลายงา ต้องใช้แว่นขยายส่องดู จะปรากฏเฉพาะบริเวณด้านหน้าของพระสมเด็จเท่านั้น ส่วนด้านหลังจะไม่ปรากฏการแตกลายงาหรือมีบ้างเพียงเล็กน้อย

         

ฝั่ง อาจารย์โชค เพิ่มพูล ผู้ศึกษาพระสมเด็จ เจ้าของเพจธรรมมณีแห่งเสน่ห์Amulet ได้พบข้อมูลของ  พ.ต.ต. จำลอง มัลลิกะนาวิน ที่เขียนเอาไว้ในหนังสือ ภาพ-ประวัติพระสมเด็จ ว่า มีพระสมเด็จชุดหนึ่งที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ จำนวนหลายพันองค์ เป็นเนื้อผงลงรักปิดทองล่องชาดทั้งสิ้น ซึ่งพระสมเด็จชุดนี้เองจัดเป็นพระสมเด็จที่มีการจัดทำเป็นพิเศษ เพื่อมอบให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เป็นพิมพ์งดงามชัดเจน กล่าวกันว่าเป็นพิมพ์ที่ช่างสิบหมู่ได้แกะถวาย มีมากมายนับได้เป็นร้อยกว่าพิมพ์ และมีลักษณะเป็นพิมพ์แปลกๆ ที่มีความหมายทางพระพุทธศาสนาหลายอย่างหลายประการ

 

 

มวลสารและผงวิเศษพระสมเด็จจากตำรา อ.ตรียัมปวาย 

 

จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ  อ.ตรียัมปวาย  ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า

 

ผงวิเศษ 5 ประการ

ประกอบด้วยผงดินสอพองเป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง 

 

ผงใบลานเผา

ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ

 

เกสรดอกไม้

เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วผดผสสมเนื้อพระ

 

เนื้อว่าน 108

เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ

 

ทรายเงิน ทรายทอง

คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลนยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ 

 

น้ำมันจันทน์

ได้แก่  น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว

 

เถ้าธูป

เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ

 

และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล 

 

ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จากหนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้

 

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 

2. ผงพุทธคุณทั้ง

- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย

- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี

- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม

- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์

- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี

3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108

4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง

5. ทรายเงิน ทรายทอง

6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 

7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก 

8. เกสรดอกไม้

9. น้ำพุทธมนต์

10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 

11. เศษพระกำแพงหัก

12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ

13. ฯลฯ

 

 

 

พระสมเด็จ ลงรักปิดทอง

 

พระสมเด็จองค์นี้ เป็นพิมพ์พระประธาน เกศจรดซุ้ม มีการลงรักสีดำเหลือบม่วง และปิดทองคำเปลว ซึ่งได้หลุดร่อนออกบางส่วนแล้ว เผยให้เห็นผิวพระที่อยู่ใต้รัก มีเนื้อนวลละเอียด มันวาว ด้านหน้าองค์พระมีรอยแตกตามธรรมชาติ พบมวลสารก้อนเล็กๆ สีขาวอยู่ตรงกลางพระอุระ ส่วนด้านหลังมีการลงรักไว้เช่นกัน และหลุดร่อนออกไปบ้างแล้ว มองด้วยสายตาไม่เห็นการแตกรอยธรรมชาติเหมือนด้านหน้าองค์พระ

 

บนผิวพระสมเด็จที่มีความมันวาว ดูนุ่มนวลนั้น เมื่อส่องกล้องด้วยกำลังขยายสูง ความมันที่เห็น คือ แคลไซซ์ (Calcite) ที่เกิดขึ้น เป็นการทำปฏิกิริยาของแคลเซียมออกไซด์ที่ผ่านกาลเวลามากว่าร้อยปี ผลึกซ้อนๆ กัน มีความมันวาว เนื่องจากพระสมเด็จมีมวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย หรือหินปูนเป็นหลัก นั่นเอง

 

ภาพพระสมเด็จ ลงรักปิดทอง จากล้องกำลังขยายสูง





 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ้างอิง  1.https://bit.ly/3q8EZTW
2.https://bit.ly/3ebAlSH
3.https://bit.ly/3kIRdBu

เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam  
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com



 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)