ชวนศึกษา “พระสมเด็จ” พิมพ์อกครุฑ เศียรบาตร แบบไม่ตัดปีก ที่มาของพิมพ์พระสมเด็จ ไกเซอร์
“ดูแปลกตามาก เศียรของพระปฏิมาในองค์พระสมเด็จดูกลมโตมาก” ผู้เขียนนึกแปลกใจสำหรับพิมพ์พระสมเด็จของคุณพ่อที่ได้เห็น ปกติแล้วผู้เขียนจะพบพิมพ์ใหญ่ หรือ พิมพ์พระประธานของคุณพ่อที่เก็บสะสมเสียมากกว่า
คุณพ่อบอกว่า พิมพ์นี้ท่านเรียกว่าพิมพ์เศียรบาตร เพราะพระเศียรมีลักษณะกลมโตคล้ายบาตรพระ ซึ่งพิมพ์นี้เองอยู่ในชุดพระสมเด็จทดลองพิมพ์ (พิมพ์ไม่ตัดปีก) ของคุณพ่อที่เก็บสะสม ซึ่งที่มาก็เป็นชุดเดียวกับที่ได้มาจากคุณยายที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด และตั้งขายพระอยู่ริมทาง
สำหรับเนื้อพระสมเด็จชุดนี้เองมีความแห้ง ยุบ ย่น ตามกาลเวลาแบบธรรมชาติ ซึ่งตรงกับแนวทางของ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ที่ให้แนวทางว่า ธรรมชาติพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี จะต้องมีร่องรอยของการ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ปรากฏในองค์พระสมเด็จ
พระสมเด็จ ทดลองพิมพ์คืออะไร
จากบทความที่แล้ว (ชวนชม “พระสมเด็จ เกศบัวตูม” แบบ “ทดลองพิมพ์”) ผู้เขียนได้ค้นหาข้อมูลเอาไว้เรียบร้อย ซึ่งในกลุ่มสายอนุรักษ์พุทธศิลป์เองก็มีการนำพระสมเด็จแบบทดลองพิมพ์ หรือไม่ตัดปีกออกมาให้ชมกันอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีพิมพ์ต่างๆ ทั้ง พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์เจดีย์ พิมพ์เส้นด้าย โดยที่มีวรรณะสีของพระสมเด็จแตกต่างกัน เช่น สีเขียว สีแดง สีน้ำตาล สีขาวขุ่นๆ ฯลฯ
และในหนังสือ “พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม จักรพรรดิแห่งพระเครื่องไทย” โดยชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม ซึ่งมีนายกล้า เกษสุรินทร์ชัย หรือ เสี่ยกล้า เป็นประธานชมรม มีภาพพระสมเด็จแบบไม่ตัดปีกแบบต่างๆ ปรากฏอีกด้วย
ซึ่งเสี่ยกล้าได้พบพระสมเด็จแบบไม่ตัดปีกมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตัดปีกมีอยู่ 2 แบบ คือ "จงใจไม่ตัดปีก" และ "ลืมตัดปีก" ซึ่งทั้ง 2 แบบ มีลักษณะของขอบพระสมเด็จที่แตกต่างกัน แบบจงใจไม่ตัดปีกจะดูสวยงาม มีการเก็บงานเรียบร้อย ขอบโค้งมนสวย ขณะที่พระสมเด็จแบบลืมตัดปีกนั้นขอบจะไม่เรียบร้อย ซึ่งทั้ง 2 แบบ มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
พระสมเด็จ พิมพ์อกครุฑ เศียรบาตร ตามตำรา อ.ตรียัมปวาย
ในหนังสือ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย เขียนเอาไว้ถึงสัญลักษณ์ทางพิมพ์ทรงพิมพ์อกครุฑ เศียรบาตร ว่า เป็นพุทธลักษณะถ่ายทอดจากพุทธศิลปโบราณพื้นเมืองแบบอยุธยา ซึ่งเป็นลักษณะของพุทธปฏิมากรรมฝีมือพื้นบ้าน ไม่ได้เข้ากับสกุลช่างใด เพราะไม่ได้พัฒนาถึงขั้นสูงสุด และเป็นลักษณะศิลปะโบราณ ได้แรงบันดาลใจในพุทธาคมทำให้เคร่งขลังยิ่งกว่าพิมพ์ทรงอื่นๆ
พุทธศิลปเช่นนี้คล้ายกับพระตะไกรหน้าครุฑ วัดตะไกร ต.คลองสระบัว อยุธยา ซึ่งเป็นเป็นพุทธศิลปโบราณ ลักษณะเด่นของพิมพ์นี้ คือ พระศิระป้อมเขื่องและพระอุระพองนูน จึงมีนามว่า พิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ ว่ากันว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ออกแบบและแกะแม่พิมพ์เอง
พิมพ์ทรงนี้เป็นปางสมาธิขัดราบ ลีลาลักษณะคล้ายประทับนั่งโหย่งๆ ทำนองปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ลำพระองค์ส่วนมากเป็นแบบกึ่งผาย ผสมกับทรงกระบอก แนวพระอุระผายกว้างและโค้งนูนมาก จึงเรียกว่าอกครุฑ ซึ่งมีทั้งของวัดระฆัง และวัดบางขุนพรหม
พระสมเด็จ พิมพ์อกครุฑ เศียรบาตร หรือ สมเด็จไกเซอร์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ว่ากันว่า พระสมเด็จพิมพ์อกครุฑ เศียรบาตร เป็นที่มาของพระสมเด็จไกเซอร์ ที่เรียกกันทุกวันนี้ ผู้เขียนพบบันทึกของ อาจารย์โชค เพิ่มพูล ผู้ศึกษาพระสมเด็จ เจ้าของเพจธรรมมณีแห่งเสน่ห์Amulet ที่รวบรวมข้อมูลและอธิบายเกี่ยวกับพิมพ์ทรงดังกล่าวไว้ ดังนี้
แบบพิมพ์ที่ปรากฏ คือ พระพักตร์ทรงกลมใหญ่ หรือเศียรใหญ่เหมือนบาตรพระ ซึ่งใหญ่กว่าทุกพิมพ์ ของพระสมเด็จวัดระฆัง จึงเรียกว่าเศียรบาตร ส่วนพระอุระ (อก) ตั้งทรงใหญ่ สง่าผ่าเผยเหมือน อกครุฑ ปรากฏแบบกรอบกระจก แบบฉบับพิมพ์นิยม
สำหรับ “ไกเซอร์” คือ เป็นคำทั่วไปที่ใช้เรียกจักรพรรดิในภาษาดัตช์ ในภาษาเยอรมันเรียกว่า “ไคเซอร์” (Kaiser) คือพระอิสริยยศเยอรมันซึ่งเทียบได้กับจักรพรรดิ เนื่องจากมองว่าจักรพรรดิสืบทอดมาจากจักรวรรดิโรมัน เพื่อแสดงถึงต้นกำเนิดเก่าก่อนจึงเรียกตนเองว่า ไคเซอร์
นอกจากนี้ พระเจ้าแผ่นดินแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ที่มาจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คก็ใช้พระอิสริยยศว่าไคเซอร์ เช่นกัน
ไคเซอร์แห่งจักรวรรดิออสเตรีย (ค.ศ. 1804–1918) ได้แก่ :
- ฟรันทซ์ที่ 1 แห่งออสเตรีย
- แฟร์ดีนันท์ที่ 1 แห่งออสเตรีย
- ฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย
- คาร์ลที่ 1 แห่งออสเตรีย
ไคเซอร์แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (ค.ศ. 1871–1918) ได้แก่ :
- วิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งเยอรมนี (1871 - 1888)
- ฟรีดริชที่ 3 แห่งเยอรมนี (1888)
- วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (1888 - 1918) เป็นซึ่งมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อสงครามเลิกได้ลี้ภัยออกจากเยอรมนีไปประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนีก็จัดตั้งเป็น สาธารณรัฐไวมาร์ จนกระทั่งพรรคนาซีได้รับการเลือกตั้งและสถาปนาเยอรมนีเป็น อาณาจักรไรช์ที่ 3 ขึ้น
ภาพ : พระเจ้าไกเซอร์วิลเลี่ยม ที่ 2 (https://th.wikipedia.org/)
เมื่อครั้งที่ พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 ทรงเสร็จประพาสยุโรปครั้งแรก เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถวายพระสมเด็จพิมพ์อกครุฑ เศียรบาตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2413 แด่ ร.5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสไปยังประเทศเยอรมัน ขณะนั่งสนทนาอยู่กับพระเจ้าไกเซอร์วิลเลี่ยม ที่ 2 นั้น พระเจ้าไกเซอร์ทรงทอดพระเนตรเห็นที่กระเป๋าเสื้อของ ร.5 มีรัศมีเปล่งออกมารอบๆ กระเป๋าเสื้อ จึงได้ทรงถาม
ร.5 จึงทรงหยิบพระสมเด็จในกระเป๋าเสื้อออกมาให้ทอดพระเนตร และตรัสบอกว่าเป็นพระเครื่องซึ่งคนไทยนับถือ และนำติดตัวไว้เพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆ และเป็นพุทธานุสติระลึกถึงพระพุทธคุณทำให้จิตใจสบาย
เมื่อทรงเห็นว่าพระเจ้าไกเซอร์ทรงสนพระทัยและเกิดความเลื่อมใส จึงทรงถวายพระสมเด็จแด่พระเจ้าไกเซอร์ เพื่อเป็นที่ระลึก พระเจ้าไกเซอร์ทรงเลื่อมใสพระสมเด็จที่ได้รับมา และเกิดความเชื่อมั่นใน ร.5 ของประเทศไทยว่าทรงมีพระบารมี และพระปรีชาสามารถยิ่ง หลังจากนั้น ร.5 จึงได้ทรงตั้งชื่อพระสมเด็จองค์นั้นว่า พระสมเด็จไกเซอร์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในช่วงแรกตามหนังสือ อ.ตรียัมปวาย ได้บอกว่า เจ้าประคุณฯ สมเด็จ แกะพิมพ์เศียรบาตรอกครุฑด้วยตนเอง ทำให้พิมพ์ทรงยังไม่สวยงาม เหมือนกับยุคหลังๆ ที่ หลวงวิจารณ์ เจียรนัย ช่างหลวง แกะถวาย ซึ่งพิมพ์ที่สมเด็จฯ ถวายแด่ ร.5 คือ พิมพ์ทรงที่สวยงาม โดยมีหลวงวิจารณ์ เจียรนัย เป็นผู้แกะบล็อกถวาย
จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องผิวพระสมเด็จของวัดระฆัง และวัดบางขุนพรหม ก็พบว่า พระสมเด็จวัดระฆัง เป็นพระไม่เข้ากรุ พิมพ์พระเสร็จ ทิ้งไว้เจออากาศปกติ เนื้อผิวพระจะเกิดฝ้า แม้ลงรัก ผิวพระก็เกลี้ยงเกลาผุดผ่อง นุ่มนวลตา
ขณะที่พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เป็นพระลงกรุ ภายในเจดีย์ อากาศอับชื้นร้อนกว่าอากาศภายนอก เนื้อพระเจอสภาพอากาศอับชื้นร้อน ก็จะทำปฏิกิริยาเกิดคราบกรุ เป็นฟองเต้าหู้ เป็นเม็ด หนังกระเบน บางๆ คราบขี้มอด กระจุกเป็นแผ่น เป็นก้อน
สำหรับพระสมเด็จองค์นี้ของคุณพ่อ จัดว่าเป็นพระสมเด็จ พิมพ์เศียรบาตร อกครุฑ วัดระฆัง ที่มีความแห้ง ผิวเกลี้ยง และดูนุ่มนวลตา
มวลสารและผงวิเศษในพระสมเด็จ พิมพ์เศียรบาตร อกครุฑ ไม่ตัดปีก
มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
พระสมเด็จพิมพ์เศียรบาตร อกครุฑ ไม่ตัดปีก
พระสมเด็จองค์นี้เอง เป็นพิมพ์เศียรบาตร อกครุฑ และไม่ตัดปีก ถ้าดูจากลักษณะแล้ว ผู้เขียนเดาว่าน่าจะเป็นการลืมตัดปีก เพราะลักษณะดูเหมือนไม่ได้เก็บขอบให้เรียบร้อย และปล่อยให้แห้ง พระศิระกลมโต เกศจรดซุ้ม พระอุระ (อก) ผายตรง
ปรากฏความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ทั้งองค์พระ และมีรอยแตกแบบธรรมชาติปรากฏให้เห็น ทั้งด้านหน้าและด้านหลังองค์พระ
สำหรับพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามาอย่างเนิ่นนานกว่า 150 ปีนั้น จะเผยผิวธรรมชาติที่มีความมันวาล ดูนุ่มนวลแบบธรรมชาติ เมื่อเรานำไปส่องกับกล้องที่มีกำลังขยายสูง ความมันที่เราเห็นบนผิวพระ คือ แคลไซซ์ (Calcite) ที่เกิดขึ้น เป็นการทำปฏิกิริยาของแคลเซียมออกไซด์ที่ผ่านกาลเวลามากว่าร้อยปี เนื่องจากมวลสารหลักในพระสมเด็จ คือ ปูนเปลือกหอย ได้ทำปฏิกิริยานั่นเอง
ภาพพระสมเด็จ พิมพ์เศียรบาตร อกครุฑ และไม่ตัดปีก จากกล้องกำลังขยายสูง
สิ่งที่สำคัญมากกว่าไปกว่า “สะสม” หรือ “อนุรักษ์” สิ่งที่ครูอาจารย์ได้สร้างมา คือการที่เราชาวพุทธช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี และส่งต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาไว้ให้ลูกหลานสืบไป และหมั่นตั้งตนอยู่ในคุณความดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ
อ้างอิง : 1.https://bit.ly/3eNFosV
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)