ชวนชมและศึกษา “พระสมเด็จ” เนื้อปูนเพชร หลังจารึก นาคหลวง ร.ศ.๒๔ พิมพ์จารึกประวัติศาสตร์
“พระสมเด็จ” หลังจารึก นาคหลวง ร.ศ.๒๔ สันนิษฐานเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ช่วงปี พ.ศ.2348 ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี บวชเป็น “นาคหลวง” สร้างด้วยเนื้อปูนเพชร วรรณะพระสมเด็จสีขาวนวล สะดุดตา นุ่นนวลและชวนมอง
“พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ เนื้อปูนเพชร” หลังจารึกคำว่า “นาคหลวง ร.ศ ๒๔” องค์นี้เองคุณพ่อของผู้เขียนได้มาจากคุณยายที่สามีเป็นทหารเก่า ด้วยเนื้อพระสมเด็จที่ดูขาวนวลสวยงาม และคำจารึกที่ด้านหลัง ได้บ่งบอกประวัติศาสตร์และเรื่องราวอันน่าสนใจให้เราได้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป ทำให้คุณพ่อได้เก็บสะสมพระสมเด็จชุดนี้ที่มีคำว่า ร.ศ.๒๔ ไว้จำนวนหนึ่ง
ด้วยเนื้อพระสมเด็จองค์นี้เอง ออกไปทางสีขาวนวล ละเอียด หรือที่เรียกว่าเนื้อปูนเพชร หรือมีชื่อเรียกว่า เนื้อกระเบื้องพอร์ซเลน (Porcelain) ดูนุ่มนวล สวยสง่า มีการแตกลายธรรมชาติอย่างชัดเจน
จุดตัดสินใจของคุณพ่อในการเก็บสะสมพระสมเด็จ คือ ดูเนื้อพระที่มีความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” เนื่องจากเนื้อมวลสารพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปีนั้น ความแห้ง ความยุบของเนื้อพระจะเผยธรรมชาติออกมาให้เห็นชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ที่ให้แนวทางไว้ว่า ธรรมชาติพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี จะต้องมีร่องรอยของการ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ปรากฏในองค์พระสมเด็จ
พระสมเด็จ เนื้อปูนเพชร คืออะไร
จากข้อมูลของ พระเครื่องเหนือเซียน ที่ได้รวบรวมข้อมูลของพระยาทิพยโกษา (สอน อุณหนันท์ ) ผู้เขียนหนังสือพระสมเด็จ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง ได้กล่าวเอาไว้ว่า พระสมเด็จวัดระฆัง ของสมเด็จฯ โต สร้างด้วยปูนเพชร
ปูนเพชร มาจากกหินเผาและเปลือกหอยเผา ใช้ปั้นลายกนกฐานพระในโบสถ์ในสมัยก่อน มีคุณสมบัติแห้งช้าแต่เนื้อมีความเหนียว เนื้อพระสมเด็จ วัดระฆัง ที่เป็นเนื้อปูนเพชรนั้น มีการผสมทั้งปูนเพชร ที่ได้จากการเผา และปูนดิบ ที่ยังไม่ได้เผา ทำให้เนื้อพระมีความละเอียดขาวเนียน
ว่ากันว่า พระสมเด็จ เนื้อปูนเพชร ที่มีจารึกอักษรด้านหลัง เช่น “บิดา โต ร.ศ.๒๔” หรือ “มารดา ๒๔” หรือ “ร.ศ.๒๔” เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเป็นผู้สร้างด้วยตนเอง เพื่อระลึกถึงคุณบิดา-มารดา จะมอบให้เฉพาะบุคคลสำคัญๆ เท่านั้น
ร.ศ.๒๔ - รัตนโกสินทร์ศก
ประเทศไทยใช้ รัตนโกสินทร์ศก หรือ ร.ศ. ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2432 โดยให้นับปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.๑) สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีขาล พ.ศ. 2325 นับเป็น ร.ศ. 1
โดยเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 108 (พ.ศ.2432) และนับเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี ส่วนเดือนมีนาคม คือเดือนสุดท้ายของปี
เรายังคงใช้รัตนโกสินทร์ศก มาถึง ร.ศ. 131 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๖) ทรงประกาศเลิกใช้ และเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช (พ.ศ.) ถัดมาในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนการนับเดือนแรกของปี เป็นวันที่ 1 มกราคม แทน
สำหรับ คำว่า ร.ศ.๒๔ ที่จารึกหลังพระสมเด็จนั้น จะตรงกับปี พ.ศ.2348
5 ช่วงการสร้างพระของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
ตามประวัติของสมเด็จโตนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล ผู้ศึกษาประวัติพระสมเด็จ ได้รวบรวมข้อมูลไว้ในบล็อกพระเครื่องเรื่องใหญ่ ซึ่งคุณพ่อผู้เขียน ได้นำแนวทางและความรู้ต่างๆ ในการสะสมมาจากท่านอาจารย์ ได้รวบรวมประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตไว้ ว่า
“ในขณะที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ อายุ 12 ปี (พ.ศ. 2342) ได้ศึกษาอักขรสมัยในสำนักเจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง) วัดอินทรวิหาร และได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ (อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นจึงได้ย้ายมาอยู่วัดระฆังเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมตั้งแต่บัดนั้น
ขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปรานมาก จึงทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ครั้นอายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.๑) ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้บวชเป็น “นาคหลวง” ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บางท่านบอกว่า บวชที่วัดระฆังโฆสิตาราม) เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2350 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชสุก วัดมหาธาตุเป็นพระอุปัชฌาย์”
ดร.ณัฐนนต์ ยังรวบรวมข้อมูล ของอาจารย์สุชาติ มั่นคงพิทักษ์กุล (2552) รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ สรุปช่วงการสร้างพระสมเด็จ ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ทั้ง 5 ช่วงไว้ดังนี้
ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2361 – 2385 ในช่วงของรัชกาลที่ 2 และ 3 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุประมาณ 30-54 ปี ถือเป็นช่วงที่ท่านเริ่มมีชื่อเสียงในด้านการเทศน์ ในช่วงปี พ.ศ. 2363-2365 สมเด็จโตได้มีโอกาสร่ำเรียนวิปัสสนากรรมฐานชั้นสูง รวมทั้งการออกแบบและมวลสารในการสร้างพระพิมพ์กับสมเด็จพระสังฆราช (สุกไก่เถื่อน)
ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2385 – 2393 ในช่วงของรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 54-62 ปี ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการธุดงค์ ทั้งทางเหนือ ลาว และเขมร ต่อมาได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่วัดต่างๆ เช่น วัดขุนอินทร์ประมูล อ.ป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง วัดกลางคลองข่อยตำบลคลองข่อย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สร้างพระเจดีย์นอนที่หลังโบสถ์วัดละครทำ ตำบลบ้านช่างหล่อ จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันหักพังหมดแล้ว
ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2394 - 2407 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 63-76 ปี เป็นช่วงเวลาที่ท่านได้รับตำแหน่งราชาคณะตั้งแต่ที่ พระธรรมกิติ (พ.ศ. 2395) พระเทพกระวี (พ.ศ. 2397) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พ.ศ. 2407) ในช่วงเวลานี้ น่าจะมีการสร้างพระสมเด็จ เนื่องในโอกาสฉลองเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับดังกล่าวด้วย
ช่วงที่ 4 พ.ศ. 2408 - 2411 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 77-80 ปี ในปี พ.ศ. 2408 ได้มีการสร้างพระสมเด็จเพื่อบรรจุกรุพระธาตุพนมจำลองในวัดบวรสถานสุทธาวาส (วังหน้า) ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2410 ท่านเริ่มสร้างพระพุทธรูปไว้ที่วัดอินทรวิหาร และวัดกุฎีทอง (วัดพิตเพียน) ตำบลพิตเพียน อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ช่วงที่ 5 พ.ศ. 2411 – 2415 ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ต่อเนื่องจนกระทั่งมรณภาพ ในช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2411 มีการสร้างพระพิมพ์ พระบูชา และสิ่งมงคลต่างๆ จำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัติ พิธีพุทธาภิเษกและอธิษฐานจิตจึงเป็นวาระอันยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2412 มีการสร้างพระสมเด็จเบญจรงค์ หรือ เบญจสิริ เพื่อเตรียมถวายรัชกาลที่ 5 ที่ได้ส่วนผสมหลักมาจากประเทศจีนโดยเจ้าประคุณกรมท่า (ท้วม บุญนาค) ซึ่งพระชุดนี้เรียกว่า พระสมเด็จวังหน้า ต่อมาจึงได้นำไปบรรจุไว้ในกรุวัดพระแก้วในภายหลัง ในช่วงปี พ.ศ. 2413 เสมียนตราด้วง ได้มีการขอแม่พิมพ์จากสมเด็จโต เพื่อสร้างพระสมเด็จจำนวน 84,000 องค์ เพื่อบรรจุลงในกรุเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) แต่ได้สร้างและทำพิธีที่วัดอินทรวิหาร ในปีเดียวกันนี้ เจ้าประคุณสมเด็จโต ยังสร้างพระนอนวัดสะตือ จังหวัดอยุธยา จึงน่าจะมีการสร้างพระสมเด็จบรรจุในกรุนี้ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2415 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มรณภาพ ท่านเจ้าพระคุณธรรมถาวร ได้นำพระสมเด็จออกมาแจกในงานศพจำนวนมากกว่าสามหมื่นองค์ และเป็นพระสมเด็จที่ได้รับการลงรักปิดทองส่วนใหญ่ และอีกบางส่วนจำนวนมากมีผู้นำไปไว้ที่หอสวดมนต์ และบนเพดานพระวิหารของวัดระฆังด้วย
จารึก นาคหลวง ร.ศ.๒๔
สำหรับพระสมเด็จหลังนาคหลวง ร.ศ.๒๔ หรือ คำจารึกหลังพระสมเด็จที่มี ร.ศ.๒๔ นั้น บางข้อมูลให้ความเห็นว่า ตั้งแต่ที่สมเด็จฯ ท่านได้อุปสมบทเป็น “นาคหลวง” ท่านได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆ มากมาย และได้เริ่มสร้างพระนับตั้งแต่บัดนั้น ในช่วงแรกที่ท่านสร้างพระนั้นก็เพื่อรำลึกถึงบุญคุณบิดามารดา ด้านหลังพระสมเด็จจึงปรากฏคำจารึกว่า “บิดาโต ร.ศ.๒๔” “มารดา ๒๔” นอกจากนี้ยังพบอักษรจารึกต่างๆ ดังนี้ “ขรัวโต ร.ศ.๒๔” “นาคหลวง ร.ศ.๒๔” “วัดระฆัง ร.ศ.๒๔” ฯลฯ
ในสมัยที่ท่านเริ่มสร้างพระ ท่านได้ใช้ผงวิเศษต่างๆ ทั้งผงอิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห มหาราช ที่ท่านได้เขียนและลบเลขยันต์ลงบนกระดานชนวน มาเป็นส่วนผสมในการสร้างพระรวมกับส่วนผสมอื่นๆ
บางข้อมูลที่ผู้เขียนค้นหามา ก็ให้ความคิดเห็นว่า พระสมเด็จที่เป็นหลังอักษร ร.ศ. ต่างๆ เป็นไปได้ว่ามีการสร้างขึ้นทีหลัง เพื่อเป็นพุทธจารึกถึงเหตุการณ์สำคัญๆ และจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์
สำหรับผู้เขียนเองก็ไม่อาจตอบได้ว่า หลังจารึก ร.ศ.๒๔ ของคุณพ่อนั้นมีการสร้างขึ้นในช่วงไหนของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เพราะจากประวัติการสร้างพระ 5 ช่วงเวลาของ ดร.ณัฐนนต์ ช่วงเวลาแรกของการสร้างพระสมเด็จคือ พ.ศ. 2361 – 2385 ในขณะที่ ร.ศ ๒๔ ตรงกับปี พ.ศ.2348 ซึ่งยังคงต้องหาคำตอบกันต่อไปและผู้เขียนเชื่อว่ายังมีเรื่องราวการสร้างพระของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่เราไม่อาจรู้อีกมากมาย
มวลสารและผงวิเศษพระสมเด็จจากตำรา อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วผดผสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลนยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ
และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
ผนึกกำลังพุทธคุณด้วยคาถา “ชินบัญชร”
พระสมเด็จที่ท่านมีนั้นถ้ายิ่งผนึกกำลังจากพระคาถา “ชินบัญชร” ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ปรับปรุงขั้นใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างพลังในการคุ้มครองตัวท่าน เนื่องจากพระคาถาได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญมากมาย รวมทั้งอัญเชิญพระสูตรสำคัญ ทั้ง 7 สูตร ทำให้มีพลังในการคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย, เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, มหาอุด, ป้องกันภูตผีปีศาจ ฯลฯ ก็จะยิ่งทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ศรัทธา
พระสมเด็จ หลังจารึก นาคหลวง ร.ศ.๒๔
สำหรับพระสมเด็จองค์นี้เอง เป็นพิมพ์ใหญ่ เนื้อปูนเพชร ออกสีขาวนวล ดูสะอาดตาและนุ่มนวล เกศจรดซุ้ม องค์พระวรกายมีความป้อมเล็กน้อย พระอุระทรงตรงมีความผาย ด้านหน้ามีการแตกลายธรรมชาติให้เห็นตลอด ส่วนด้านหลังจารึกอักษร “นาคหลวง ร.ศ ๒๔” โดยไม่มีจุด (.) หลังอักษร ศ ลักษณะการกดลึกลงไปในเนื้อพระ ปรากฏรอยกลิ้งของมวลสารเป็นจุดๆ ตลอดทั้งองค์พระ
พระสมเด็จ หลังจารึก นาคหลวง ร.ศ.๒๔ จากกล้องกำลังขยายสูง
ขอให้ทุกท่านตั้งตนอยู่ในคุณความดี ช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป แล้วพบกันในบทความหน้าค่ะ
อ้างอิง
1.https://bit.ly/3tYp5Op
2.https://bit.ly/3m03hiF
3.https://bit.ly/3lNnPKZ
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)