ชมภาพ “พระสมเด็จ” พิมพ์ไกเซอร์ ลงรักปิดทองเก่า ช่างหลวงแกะพิมพ์ใหม่ เพื่อถวาย ร.๕ เสด็จประพาสยุโรป
“พระสมเด็จไกเซอร์” ที่มีลักษณะของพระเศียรที่ดูกลมโตกว่าพิมพ์อื่นๆ ต้นพิมพ์ของพิมพ์ไกเซอร์ คือ พิมพ์อกคุรฑ เศียรบาตร วัดระฆัง ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้ให้ช่างหลวงแกะพิมพ์ที่สวยงาม เพื่อถวายแด่ ร.๕ ครั้งที่ทรงเสด็จประพาสยุโรป
พระสมเด็จ ไกเซอร์ เป็นอีกหนึ่งพิมพ์ที่คุณพ่อผู้เขียนสะสมไว้จำนวนหนึ่ง ด้วยพิมพ์ทรงที่ดูแปลกตา น่าศึกษา พุทธลักษณะจะแตกต่างกับพิมพ์พระประธานโดยสิ้นเชิง สำหรับวรรณะสีขององค์พระที่ผู้เขียนเคยเห็นของคุณพ่อมีทั้ง เนื้อสีขาวหม่นลงรักปิดทอง เนื้อสีขาวนวล เนื้อสีดำ เนื้อสีน้ำตาล เนื้อสีเขียวก้านมะลิ ฯลฯ
แม้ว่าพิมพ์ทรงจะแตกต่างจากพิมพ์พระประธานที่คุณพ่อสะสมก่อนหน้า แต่จุดตัดสินใจที่คุณพ่อได้เก็บสะสมนั้นคือ การดูที่มวลสารก่อนเป็นอับแรก เมื่อพระสมเด็จผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี จะต้องมีความยุบ ย่น แห้ง อย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวแนวทางการศึกษาของ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ที่บอกว่า ธรรมชาติพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี จะต้องมีร่องรอยของการ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ปรากฏในองค์พระสมเด็จ
พระพุทธเจ้าหลวง ร.๕ ถวายพระนาม “พระสมเด็จ” พิมพ์ไกเซอร์ ครั้งทรงเสด็จประพาสยุโรป
จากข้อมูลที่ผู้เขียนค้นหาในพิมพ์อกครุฑ เศียรบาตร ซึ่งเป็นพิมพ์ต้นแบบของพระสมเด็จ พิมพ์ไกเซอร์ มีที่มาจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระเจ้าอยู่หัว ร.๕ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ถวายพิมพ์อกครุฑ เศียรบาตร ให้แด่ ร.๕ โดยมีช่วงหลวงที่แกะพิมพ์คือ หลวงวิจารณ์ เจียรนัย เป็นผู้แกะพิมพ์ที่สวยงามให้ ในปี พ.ศ 2413
เมื่อครั้งเสด็จไปยังประเทศเยอรมัน และพระเจ้าอยู่หัว ร.๕ สนทนากับพระเจ้าไกเซอร์วิลเลี่ยม ที่ 2 นั้น พระเจ้าไกเซอร์ทรงทอดพระเนตรที่กระเป๋าเสื้อของ ร.๕ และปรากฏแสงรัศมีออกมาเป็นสีสันต่างๆ ทั้งสีแดง เขียว เหลือง น้ำเงิน ชมพู พุ่งขึ้นรอบๆ กระเป๋าเสื้อ จึงได้ทรงตรัสถาม
พระพุทธเจ้าหลวงทรงหยิบพระสมเด็จออกจากระเป๋าเสื้อให้พระเจ้าไกเซอร์ทอดพระเนตร และตรัสว่าเป็นพระเครื่องที่คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธใช้ติดตัวเพื่อป้องกันภัยอันตราย และเป็นพุทธานุสติระลึกถึงพระพุทธคุณ
พระเจ้าไกเซอร์ทรงทราบและเกิดความเลื่อมใส พระเจ้าอยู่หัว ร.๕ จึงได้ทรงถวายพระสมเด็จองค์นั้นแด่พระเจ้าไกเซอร์ และเมื่อทรงใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อก็เกิดรัศมีเปล่งออกมาเช่นเดียวกัน จึงเกิดความศรัทธาขึ้น พระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงตั้งพระนามของพระเจ้าไกเซอร์ เรียกชื่อย่อรวมกันเป็นพระนามว่า “พระสมเด็จทรงไกเซอร์”
พระสมเด็จ พิมพ์ไกเซอร์ มีพุทธลักษณะพระเศียรกลมโต อกทรงครุฑ มีฐานบัวรองรับ 5 ดอก อันมีความหมายถึง ร.๕ นับเป็นพิมพ์พิเศษและถูกเรียกว่า พระสมเด็จ พิมพ์ไกเซอร์ ตามพระราชดำรัส ร.๕ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
“พระสมเด็จ” พิมพ์ไกเซอร์ ทำไมต้องลงรักปิดทอง
เหตุผลของการลงรักปิดทองนั้น คือการแสดงถึงความประณีตศิลป์ของศิลปะไทย ซึ่งการลงรักจัดอยู่ในงานของช่างสิบหมู่ ซึ่งมีวิวัฒนาการตั้งแต่อยุธยา และในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 - 23 ตอนปลายอยุธยา เป็นช่วงที่ศิลปะการลงรักปิดทองเจริญรุ่งเรืองที่สุด
ข้อมูลของ อาจารย์อร่าม เริงฤทธิ์ ประธานและผู้อำนวยการ สถาบันพระแท้สมเด็จโตประเทศไทย กล่าวถึงการลงรักปิดทองในพระสมเด็จว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราวๆ ร.๓ -ร.๕ เป็นช่วงที่ศิลปะเฟื่องฟูที่สุด และมีการนำรักมาใช้ในงานศิลปะ
เนื่องจาก รัก หรือ ยางรัก มีคุณลักษณะเป็นยางเหนียว สามารถเกาะจับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือใช้เคลือบผิว แล้วปิดทองคำเปลว เพื่อให้ผิวของสิ่งนั้นๆ เป็นมันวาว การลงรักปิดทองแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะในประเทศไทย
สำหรับการลงรักปิดทองในพระสมเด็จ เป็นการป้องกันไม่ให้เนื้อพระสมเด็จแตกร้าว ทำให้เนื้อพระมีความคงทนต่อความร้อน ความชื้น และยังทำให้เกิดความสวยงามตามขนบโบราณ ตามความเชื่อที่ว่าผู้ที่ได้ครอบครองพระสมเด็จที่ลงรักปิดทองจะทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง
มีการสันนิษฐานว่า พระสมเด็จที่ลงรักปิดทองนั้นสร้างขึ้นในสมัย ร.๓ - ร.๔ โดยมีช่างสิบหมู่ ช่วงวังหลัง ช่างวังหน้า และช่างกรมท่า เป็นผู้แกะพิมพ์แล้วจึงลงรักปิดทอง รักที่นิยมนำมาเคลือบผิวพระสมเด็จ คือ “รักจีน” จะมีสีม่วงอมดำ
พระสมเด็จที่ลงรักปิดทองเมื่อผ่านการเวลามายาวนาน ถ้ารักที่ปิดไว้ร่อนออก ผิวพระสมเด็จจะไม่แตก หรือถ้าแตกจะเกิดเป็นลายแตกสังคโลก มองด้วยตาเปล่าชัดเจน
มวลสารและผงวิเศษพระสมเด็จพิมพ์ไกเซอร์ จากตำรา อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณะเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลขยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ
และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
“พระสมเด็จ” พิมพ์ไกเซอร์ ลงรักปิดทองเก่า
สำหรับพระสมเด็จองค์นี้เอง เป็นพิมพ์ไกเซอร์ มีพุทธลักษณะของพระเศียรที่กลมโต พระกรรณ (หู) แบบบายศรี เส้นพระกรรณอ่อนไหว คมบาง เป็นส่วนโค้งเหมือนกระทงบายศรี ดูพลิ้วไหว ลักษณะของพระกร (แขน) ดูเรียวบางและมีความโค้ง พระประธานอยู่บนฐานดอกบัว 5 กลีบ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังปรากฏการลงรักปิดทองเก่า และด้านหลังมีร่องรอยการหลุดร่อนของรัก เนื่องจากผ่านการเวลามากว่า 150 ปี
ภาพพระสมเด็จ พิมพ์ไกเซอร์ ลงรักปิดทองเก่าจากกล้องกำลังขยายสูง
อ้างอิง : คมชัดลึก
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)