เผยภาพ พระสมเด็จ พิมพ์ฐานสิงห์ 3 ชั้น งดงาม อ่อนช้อย น่าศึกษา
พระสมเด็จ พิมพ์ฐานสิงห์ 3 ชั้น เป็นพิมพ์ที่มีฐานพระอาสนะที่แตกต่างจากพิมพ์อื่นๆ คือมีเพียงฐานสิงห์ ปรากฏเพียงฐานเดียว แต่มีลักษณะ 3 ชั้น ที่มีความกว้างลดหลั่นกันไป ซึ่งฐานสิงห์นี้เองนับว่าเป็นความงดงามทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับยกย่องว่าเป็นฐานชั้นสูง
พระสมเด็จ วัดระฆัง มีหลากหลายพิมพ์ทรง และหลากหลายเนื้อมวลสาร ซึ่งแต่ละองค์ก็มีลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย พระสมเด็จองค์นี้เองคุณพ่อของผู้เขียนได้มาจากคุณยายที่มีสามีเป็นทหาร ซึ่งสะสมพระสมเด็จมายาวนาน และคุณพ่อได้ขอแบ่งมาศึกษาสำหรับพิมพ์นี้มีไม่เยอะนัก
ลักษณะของพระสมเด็จ พิมพ์ฐานสิงห์ 3 ชั้นนี้ดูแปลกตา อ่อนช้อย และน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และเนื้อมวลสารที่ปรากฏนั้นค่อนข้างดูนุ่มนวล หนึกนุ่ม น่าหลงใหลยิ่งนัก
พระอาสนะฐาน 3 ชั้นของพระสมเด็จ
พระสมเด็จ พิมพ์ปกติทั่วไปที่เราพบเจอ เช่น พิมพ์พระประธาน พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์เจดีย์ ฯลฯ จะมีฐาน 3 ชั้น ปรากฏเสมอ ในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย เขียนถึงมูลสูตรพระอาสนะทั้ง 3 ชั้นเอาไว้ ดังนี้
ฐานชั้นบน ทำหน้าที่เป็นหน้ากระดานตัวบน บัวหงายและท้องไม้ มีความนูนหนาชัดกว่าชั้นกลาง แต่มีช่วงกว้างน้อยกว่า บางแบบจะชิดกับพระเพลามาก บางแบบจะอยู่ห่างลงมา มุมหัวฐานสองด้านจะมน ส่วนมากมุมหัวฐานมักจะรางเลือนหรือสึกหรอ
ฐานชั้นกลาง หรือฐานสิงห์ เป็นชั้นที่งดงามที่สุด ความหนา นูนน้อยกว่าชั้นอื่น ไม่คมชัดนัก มุมหัวฐานทั้งสองมีลักษณ์เป็น “กาบสิงห์” ขมวดขาลงมาชั้นล่าง มีลักษณะที่งดงาม เรียกว่าคมขวาน-ฐานสิงห์
ฐานชั้นล่าง หรือ หน้ากระดานตัวล่าง มีความนูนหนาและกว้างกว่าทุกชั้น ลักษณะเป็นท่อนเรียบ ผิวหน้าค่อนข้างเรียบเสมอกัน หัวฐานตัดเฉียงสอบเข้าหาฐานชั้นกลาง
ในความหมายทางคติธรรม อ.ตรียัมปวายให้ความเห็นว่า ฐาน 3 ชั้น มีความหมายถึง องค์พระศรีรัตนตรัย หรือ องค์พระไตรสรณคมน์ ชั้นบนที่ติดกับองค์พระปฏิมา หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมศาสดา ชั้นกลาง คือ พระธรรมเจ้า เป็นมัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) และชั้นล่าง ได้แก่ พระสงฆ์เจ้า หรือ หมู่พระสงฆ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศิลปะการลดเหลื่อมของฐานทั้ง 3 ชั้น สืบเนื่องมาจากสถาปัตยกรรมขอม หรือสกุลช่างลพบุรี ที่ถ่ายทอดมาจาสถาปัตยกรรมอินเดีย จนกลายมาเป็นสถาปัตยกรรมของไทย ที่ชื่อว่า ฐานสิงห์
ภาพจาก พีพลัสไทย สตูดิโอ จำกัด
ฐานสิงห์ ในแง่งามของสถาปัตยกรรม
ข้อมูลของ รองศาสตราจารย์ สมใจ นิ่มเล็ก จากหนังสือ ราชบัณฑิตชาวสวน อธิบายเกี่ยวกับฐานสิงห์เอาไว้ว่า ในวงการช่างนอกจากจะยกย่องว่าเป็นฐานชั้นสูง มีศักดิ์สูงกว่าฐานชนิดอื่นแล้ว ยังมีเรื่องของรูปแบบฐานที่แตกต่างกันตามยุคสมัย ส่วนที่แตกต่างกันนั้นจะอยู่ตรงรูปแบบของเท้าสิงห์ ว่ามีความสูงต่ำหรือมีลวดลายอะไร ฐานสิงห์ยังถูกปรับให้เหมาะกับรูปแบบของสถาปัตยกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสมอีกด้วย
การนำฐานสิงห์มาใช้ในงานสถาปัตยกรรมนั้น พบการนำฐานสิงห์มาใช้มากในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยพบฐานสิงห์ที่วิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ ในช่วงกลางอยุธยาเป็นต้นมา มีการนิยมใช้ฐานสิงห์ในงานสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยใช้เป็นส่วนประกอบของเจดีย์ เป็นส่วนที่รองรับเรือนธาตุหรือองค์ระฆัง และยังใช้เป็นฐานของพระพุทธรูปด้วย และรูปแบบของฐานสิงห์ก็เริ่มพัฒนาทั้งขนาด การประดับตกแต่ง และลวดลาย สืบเนื่องจนมาถึงช่วงรัตนโกสินทร์
ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์นั้น พบว่า ในช่วง ร.๑ - ร.๕ ฐานสิงห์และฐานสิงห์แก้วอกไก่ถูกนำมาใช้เป็นฐานอาคารและฐานระเบียงพระอุโบสถและพระวิหารมากที่สุด
มวลสารและผงวิเศษในพระสมเด็จ ตามตำรา อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณะเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลขยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ
และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
พระสมเด็จ พิมพ์ฐานสิงห์ 3 ชั้น พระประธานทรงสามเหลี่ยม
จริงๆ แล้วเท่าที่ผู้เขียนพบพระสมเด็จคล้ายๆ ทรงที่คุณพ่อสะสมนั้น คือ พระสมเด็จ ยอดขุนพล ที่มีฐานสิงห์ 3 ชั้น และทรงขององค์พระประธานอยู่ในซุ้มสามเหลี่ยม แต่องค์นี้เองทรงพระประธานเป็นทรงสามเหลี่ยมคล้ายๆ พิมพ์นางพญา และไม่ได้อยู่ในซุ้มเหมือนพิมพ์ยอดขุนพล แต่มีลักษณะของฐานสิงห์ 3 ชั้นที่คล้ายๆ กัน หรือไปในทางเดียวกัน
ลักษณะของพระสมเด็จพิมพ์นี้เอง ดูอ่อนช้อย แปลกตา เนื่องจากฐานสิงห์ 3 ชั้น ที่มีลักษณะโค้งช่วงกลาง มีความกว้างที่ลดหลั่นกันไปในแต่ละชั้น โดยที่ฐานสิงห์ชั้นบนที่ติดกับองค์พระประธานมีความกว้างน้อยที่สุด และกว้างลดหลั่นกันลงมา นับได้ว่าพระสมเด็จองค์นี้เองมีพุทธศิลป์เฉพาะตัวที่สวยงาม
วรรณะของเนื้อพระสมเด็จ พิมพ์ฐานสิงห์ 3 ชั้นนั้น เป็นวรรณะสีขาว ดูนุ่นนวล สบายตา พบรอยหลุดร่อนของมวลสารตรงพื้นที่นอกกรอบทั้งสองด้าน ด้านหลังเป็นหลังเรียบมีส่วนที่เคลือบผิวพระสีออกคล้ำๆ ให้เห็นอยู่ และยังมีร่องรอยของการหลุดร่อนของมวลสารอีกด้วย
สำหรับจุดตัดสินใจในการสะสมพระสมเด็จของคุณพ่อนั้น ดูจากเนื้อมวลสารก่อนเป็นอันดับแรก ว่า มีความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ปรากฏในองค์พระสมเด็จหรือไม่ ซึ่งจะตรงกับแนวทางของ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ที่บอกเอาไว้ว่าธรรมชาติของพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปีนั้น จะต้องปรากฏความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” อย่างเป็นธรรมชาติ
ภาพพระสมเด็จ พิมพ์ฐานสิงห์ 3 ชั้น จากกล้องกำลังขยายสูง
แม้ว่าการ “สะสม” หรือ “อนุรักษ์” จะเป็นสิ่งที่ครูอาจารย์ได้ส่งต่อมายังศิษย์รุ่นปัจจุบัน แต่เหนืออื่นใดแล้ว การดำรงตนอยู่ในความดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
พบกันในบทความหน้าค่ะ
อ้างอิง : 1. https://bit.ly/3rX9ahS
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)