ส่องพระสมเด็จสายรุ้ง (เบญจสิริ) เข้าพิมพ์วัง สีสันสะดุดตา สดใส มีที่มาน่าศึกษา
พระสมเด็จสายรุ้ง หรือ พระสมเด็จเบญจสิริ สีสันแปลกตา ชวนให้สายอนุรักษ์พุทธศิลป์สะสมและศึกษา จัดอยู่ในพระสมเด็จพิมพ์วัง นักอนุรักษ์พบมีหลากหลายพิมพ์
“พระสมเด็จเบญจสิริ” คุณพ่อของผู้เขียนเรียกเช่นนั้น เนื่องจากพระสมเด็จมีเนื้อมวลสารที่หลากหลายสีสัน มีทั้งสีเขียว ฟ้า เหลือง แดง พระสมเด็จพิมพ์นี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระสมเด็จสายรุ้ง” บางท่านก็เรียก “พระสมเด็จปัญจสิริ” พิมพ์ที่คุณพ่อผู้เขียนเก็บสะสมส่วนใหญ่ คือพิมพ์พระประธาน ด้านหลังปรากฏทั้งหลังเรียบ และหลังครุฑ ซึ่งองค์ที่นำมาให้ชมครั้งนี้คือ “พระสมเด็จสายรุ้ง หลังครุฑ”
พระสมเด็จสายรุ้ง หลังครุฑ จัดเข้าพิมพ์วัง
ข้อมูลของ นายแพทย์ ฐิติกร พุทธรักษา ที่รวมรวมข้อมูลไว้ในสถาบันพุทธรักษา บอกเอาไว้ว่า พระสมเด็จสายรุ้งนั้น เป็นพิมพ์พระสีประจำวัน สีไตรรงค์ เบญจรงค์ สัตตรงค์ นพรงค์หรือนวรงค์ ซึ่งสร้างโดย กรมพระวังบวรวิชัยชาญ เจ้าพระยาสุภานุวงศ์ มหาโกษาธิบดี เจ้าคุณกรมท่า และสมเด็จพระพุฒาจารย์โต เพื่อเสริมสร้างพระบารมีถวายรัชการที่ ๕ ขณะขึ้นครองราชย์ ซึ่งเจ้าคุณกรมท่า (เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี) นำผงหินปูนสีสำเร็จรูปมาจากมณฑลอันฮุย ประเทศจีนถึง 9 สี คือ แดง เหลือง ชมพู เขียว ส้ม ฟ้า ม่วง ดำ ขาว มาทำเป็นพระประจำวัน 7 สี พระไตรรงค์ 3 สี พระเบญจรงค์ 5สี (ขาว ดำ เหลือง แดง เขียว) สีประจำธาตุคือดิน น้ำ ลม ไฟ และไม้ พระสัตตศิริ หรือ สัตตรงค์ 7 สี พระนวรงค์ หรือนพรงค์ 9 สี
ส่วน อ.โชค เพิ่มพูล เจ้าของเพจธรรมมณีแห่งเสน่ห์Amulet บอกว่า พระสมเด็จสาสายรุ้งนี้เอง มีชุดที่นำผงตะไบทองที่ได้จากการตะไบและการแกะพระพุทธรูปและอักษรบนแผ่นยันต์คาถาต่างๆ ผสมลงไปในพระสมเด็จ ดังนั้นพระสมเด็จชุดนี้ของนักอนุรักษ์ที่พบมีทั้งแผ่นตะไบทองเล็กๆ บางๆ และมีทั้งแบบตะไบผง จัดว่าเป็นพระสมเด็จสายรุ้งที่มีความงดงามมากๆ และยังมีการแบ่งไปบรรจุกรุที่วังหลวง โดยพระสมเด็จสายรุ้งชุดนี้มีการปั๊มตราครุฑ ตราช้าง และตราต่างๆ ในสมัยนั้นด้วย ส่วนที่พบพระสมเด็จสายรุ้ง หลังเรียบนั้นจะบรรจุกรุเจดีย์ทอง วัดพระแก้ว
พระสมเด็จสายรุ้งนี้เอง ที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญสถานมงคล และเจ้ากรมท่า สร้างขึ้นนั้น มีเจ้าประคุณสมเด็จโต เป็นประธานสงฆ์ในการทำพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดบวรสถานสุทธาวาส (อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติปัจจุบัน) มีสุดยอดพระเกจิอาจารย์ในยุคนั้นร่วมพิธีพุทธาภิเษกถึง 108 รูป และปรากฏหลากหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์พระประธาน พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์วัดเกตุไชโย พิมพ์พระพรหมรังสี พิมพ์นางพญา พิมพ์พระแก้วมรกต พิมพ์ปิดตา พิมพ์สังกัจจาย พิมพ์ลีลา พิมพ์นาคปรก พิมพ์สมาธิเรือนแก้วซุ้มรัศมี พิมพ์พระรอด พิมพ์ซุ้มกอ ปรากฏสีเบญจรงค์ (5สี) สีเขียวไข่กา สีด้านมะลิสด สีแดง สีดินสอเหลืองผสมชาดหรดาล สีดำ(ผงใบลานคลุกรัก)
พระสมเด็จสายรุ้งนี้เอง เมื่อเข้าพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แจกจ่ายให้กับเจ้านายชั้นสูง เชื้อพระวงศ์ระดับสูง เจ้าสัวเศรษฐีทั้งหลาย ที่เหลือก็ใส่ไหบรรจุไว้บนหลังคาพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาสส่วนหนึ่ง ในเจดีย์ทองรอบวัดพระแก้วมรกตส่วนหนึ่ง วัดระฆังส่วนหนึ่ง
พระสมเด็จสายรุ้ง หลังครุฑ
ผู้เขียนเคยกล่าวถึงประวัติของพญาครุฑไปแล้วใน “พระสมเด็จ ประดับคริสตันสีน้ำเงิน หลังครุฑ” วิจิตรตามแบบฉบับสายวัง สามารถเข้าไปติดตามอ่านกันได้ สรุปย่อๆ ว่า ครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ และมีพลังเหนือทุกสิ่ง มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ อีกทั้งเป็นพาหนะของพระนาราย์
มีการสร้างรูป ครุฑพ่าห์ ที่เป็นรูปครุฑกางปีก เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยการปกครองแบบเทวราชา ด้วยความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ คือ อวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล
นอกจากนี้ พญาครุฑจึงถูกนำมาใช้แทนตราสัญลักษณ์ต่างๆ ตั้งแต่ตราพระมหากษัตริย์ ตราทหาร ตำรวจ วิศวะกร นายช่าง หรือคนที่รับราชการ อีกด้วย
มวลสารและผงวิเศษในพระสมเด็จ ตามตำรา อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลขยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ
และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
พระสมเด็จสายรุ้ง หลังประทับตราครุฑ
สำหรับพระสมเด็จองค์นี้เอง เป็นพิมพ์พระประธาน พระเกศจรดซุ้ม มีวรรณะของสีเป็นสายรุ้ง ปรากฏสีเขียว แดง ฟ้า เหลือง ปะปนกันไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีร่องรอยของการหลุดร่อนของมวลสาร และเป็นรูพรุน มีรอยแยกให้เห็นในด้านหน้า เมื่อส่องกับกล้องกำลังขยายสูงจะเห็นความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” อย่างเป็นธรรมชาติที่เข้าตามตำราของ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ
นอกจากนี้ เรายังเห็นความนุ่มนวล และความซึ้งของพระสมเด็จอีกด้วย เนื่องจากการผ่านกาลเวลากว่า 150 ปี และความมันที่เราเห็นบนผิวพระ คือ แคลไซซ์ (Calcite) ที่เกิดขึ้น เป็นการทำปฏิกิริยาของแคลเซียมออกไซด์ที่ผ่านกาลเวลามากว่าร้อยปี เนื่องจากมวลสารหลักในพระสมเด็จ คือ ปูนเปลือกหอย ได้ทำปฏิกิริยานั่นเอง
ภาพพระสมเด็จสายรุ้ง หลังประทับตราครุฑ จากกล้องกำลังขยายสูง
อ้างอิง : 1.https://bit.ly/3uR1502
2.https://edunewssiam.com/th/articles/213789
3.https://www.facebook.com/435289646586872/posts/1427546354027858/
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)