เปิดภาพ “พระสมเด็จ พิมพ์แจวเรือ ฝังพระธาตุ” ดูแปลกตาด้วยพระธาตุทั้งองค์ วิจิตรสวยงามเมื่อส่องด้วยกล้องกำลังขยายสูง
พระสมเด็จ พิมพ์แจวเรือ ฝังพระธาตุ ถือเป็นพุทธพิมพ์ที่จารึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวในอดีต สมัย ร.๔ - ร.๕ คาดว่าพิมพ์นี้ถูกบรรจุกรุพระธาตุพนมจำลอง
พระสมเด็จองค์นี้ สะดุดตาผู้เขียนตั้งแต่มีเม็ดสีๆ มาประดับ เพราะสีสันสวยงาม พระชุดนี้ที่คุณพ่อได้มา มีทั้งสีชมพู สีส้ม สีเขียว สีฟ้า ฯลฯ โดยมีพิมพ์ต่างๆ เช่น พิมพ์แจวเรือ พิมพ์พระประธาน พิมพ์ขาสิงห์ 3 ชั้น พิมพ์นางกวัก ฯลฯ
พระสมเด็จชุดนี้เอง คุณพ่อมีโอกาสได้มาจากคุณยายที่สามีเป็นทหารเก่า เก็บสะสมพระสมเด็จพิมพ์ต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก คุณพ่อเลยเลยขอแบ่งมาศึกษา และแบ่งปันให้ผู้เขียนเก็บเอาไว้
พระสมเด็จ พิมพ์แจวเรือ กรุวัดพระแก้ววังหน้า
จากที่ผู้เขียนค้นหาข้อมูล เม็ดเล็กๆ ที่สวยสะดุดตาบนพระสมเด็จนั้น เหมือนกับของ นายแพทย์ฐิติกร พุทธรักษา ผู้ศึกษาและสะสมพระสมเด็จ ผู้ก่อตั้งสถาบันและพิพิธภัณฑ์ (จำลอง) “พุทธรักษา” โดยบอกว่า พระสมเด็จที่สร้างขึ้น โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เพื่อบรรจุกรุพระธาตุพนมจำลอง ที่ตั้งอยู่หน้าวัดบวรสถานมงคล ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ตรงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า “วัดพระแก้ววังหน้า” มีการสร้างไว้ทั้งหมด 3 แบบ คือ
1. พระสมเด็จเนื้อผงประดับลูกปัดและอัญมณี
2. พระสมเด็จด้านหลังจารึกแผ่นทอง
3. พระสมเด็จเนื้อหยก
และจากข้อมูลของ นายแพทย์ ฐิติกร ก็พบว่ามีพระสมเด็จวังหน้า ที่เหมือนของคุณพ่อ โดยมีพิมพ์ยอดขุนพล และพิมพ์พระประธาน โดยระบุเอาไว้ว่า “เป็นภาพพระสมเด็จวังหน้าที่บรรจุพระธาตุสีต่างๆไว้ทั้งที่เป็นพิมพ์ใหญ่และพิมพ์ขาโต๊ะ 3 ชั้น จากการขยายภาพด้วยกล้องขนาด ×40 จะพบว่าพระธาตุต่างๆ นั้นมีการแบ่งตัวให้พบเห็นอย่างน่าอัศจรรย์มาก” ดังนั้นเม็ดสีต่างๆ ที่ดูแวววาวนั้น อาจจะเป็น “พระธาตุ”
ภาพพระสมเด็จ ฝังพระธาตุของนายแพทย์ ฐิติกร
ส่วนคุณพ่อเคยให้ความเห็นว่า อาจจะเป็น “พระบรมสารีริกธาตุ” เนื่องจากเป็นพระประธานที่เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากเรามีพระพุทธเจ้ามาแล้ว 28 พระองค์ โดยเป็นพระพุทธเจ้าก่อนพุทธวงศ์ 3 พระองค์ และในพุทธวงศ์ 25 พระองค์ ข้อความเห็นนี้ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน
มีข้อความเห็นในกลุ่มชมรมอนุรักษ์พระเครื่องสายวังและพระสมเด็จโตตามตำรา(สายทางเลือก) โดยคุณอิทธิชัย ธรรมสาลี ได้ให้ข้อมูลเอาไว้เกี่ยวกับพระสมเด็จที่มีลักษณะพิมพ์เช่นนี้ว่า เป็นพระสมเด็จฝังพระธาตุ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. พระธาตุเทพนิมิต คือพระธาตุที่เทวดาสร้างขึ้น
1.1 พระธาตุเชียงแสน เม็ดค่อนข้างกลม ออกไปทางรูปไข่ มีหลายสี ทั้งแบบใส และแบบทึบแสง มักพบทางภาคเหนือของประเทศไทย
1.2 พระธาตุเม็ดกลม ใส คล้ายน้ำค้าง
1.3 พระธาตุเม็ดกลมใส สีออก โทนดำ
1.4 พระธาตุเม็ดค่อนข้างกลมใส ออกสีเหลือง
2. พระธาตุจากกายสังขารของพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า
2.1 มีเพียง 1 เม็ด ฝังที่พระอุระ ( กึ่งกลางอก )
2.2 มีเพียง 3 เม็ด ฝังที่พระอุระ 1 เม็ด ฝังที่พระชานุ
ภาพพระสมเด็จฝังพระธาตุของ คุณอิทธิชัย ธรรมสาลี
ภาพพระสมเด็จฝังพระธาตุของ คุณอิทธิชัย ธรรมสาลี
ภาพพระสมเด็จฝังพระธาตุของ คุณอิทธิชัย ธรรมสาลี
ภาพพระสมเด็จฝังพระธาตุของ คุณอิทธิชัย ธรรมสาลี
ไม่อาจสรุปได้ว่าจริงๆ แล้ว เม็ดแววๆ ใสๆ สีสันนี้ คือ พระธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ ผู้เขียนคิดว่าเราคงต้องหาคำตอบกันต่อไป
เรื่องเล่า พระสมเด็จ พิมพ์แจวเรือ
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การเดินทางด้วยเรือเป็นการสัญจรหลักของทุกคนในภาคกลาง เนื่องจากภูมิประเทศลุ่มรวยด้วยแม่น้ำสายต่างๆ และมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทย การเดินทางโดยเรือนั้นชาวบ้านภาคกลางจะใช้เดินทางไปมาหาสู่กัน ทำมาค้าขาย และการยกกำลังพลเป็นกองทัพไปทำสงคราม
ไม่ว่าจะเป็นเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ เรือของพระภิกษุสงฆ์ เรือของชาวบ้าน ต่างก็ใช้เรือในการเดินทางแทบทั้งสิ้น โดยแบ่งเป็นเรือหลวงกับเรือราษฏร
ว่ากันว่า ยุคทองของการเดินทางด้วยเรือรุ่งเรืองถึงขีดสุดอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะแม่น้ำลำคลองไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าและคมนาคม แต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการเพาะปลูก การอุปโภค บริโภค และอื่นๆ ในสมัยนี้จึงมีการขุดคลองเป็นจำนวนมากเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยเรือ
อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี ผู้สะสมและสืบทอดมรดกพระสมเด็จจากต้นตระกูลสิงหเสนี เปิดเผยพระสมเด็จพิมพ์แจวเรือที่ท่านสะสมและศึกษาผ่านทาง youtube พร้อมให้ข้อมูลถึงที่มาของพิมพ์ดังกล่าว เอาไว้ว่า พิมพ์แจวเรือ และพิมพ์พายเรือ เท่าที่พบมีหลากหลายแบบ ที่มาของพิมพ์แจวเรือ คือ สมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระดำริอยากทอดพระเนตรเรือไฟ โดยให้วัดที่ตั้งอยู่ริมน้ำแต่งเรือไฟมาประกันที่ท่าราชวดิษฐ์ และท่านจะเสด็จออกมาจิบน้ำจันทร์ที่ท่าเรือ ในขณะเดียวกันนั้นมีพระสงฆ์องค์หนึ่งแจวเรือมาหน้าพระที่นั่ง เมื่อท่านทอดพระเนตรก็จำได้ว่า คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ซึ่งสมเด็จฯ ได้กราบบังคมทูลว่า วัดระฆังของท่านไม่สามารถตกแต่งเรือไฟให้ล้นเกล้า ร.๔ ทอดพระเนตรได้ เนื่องจากวัดไม่มีเงิน เมื่อกล่าวเช่นนี้ ร.๔ จึงยกเลิกและไม่จัดพิธีนี้อีกเลย
สำหรับพิมพ์พายเรือนั้น มีที่มา 2 ครั้ง คือ ตามเรื่องราวของสมเด็จโตฯ เมื่อท่านออกบิณฑบาตร หรือไปเทศญาติโยม ท่าจะพายเรือไปเสมอๆ และแจกพระสมเด็จไปด้วย มีครั้งหนึ่งไปเจอกับตา ยายที่ขายแตงโม และให้สมเด็จฯ ท่านช่วยซื้อแตงโม ท่านก็พายเรือไป จารย์แตงโมและโยนลงน้ำไปทีละลูกจนหมด และมีเรื่องเล่าว่าเคยมีเด็กคนหนึ่งได้กินแตงโมจากที่สมเด็จฯ จารย์และโยนลงน้ำด้วย
อีกหนึ่งเรื่องราวคือ ในสมัย ร.๔ ทรงให้มีการทรงบาตรที่วังสระปทุม โดยสมเด็จฯ โต พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย ไปรับบาตรที่วังสระปทุม โดยมี ร.๔ และพระสนมทรงบาตร จนเสร็จพิธีแล้วสมเด็จฯ ไม่กลับไปที่วัดยังคงพายเรืออยู่แบบนั้น จน ร.๔ ท่านจะเด็จกลับก็ไม่สามารถกลับได้ เมื่อท่านนึกขึ้นได้จึงรับสั่งกับสมเด็จฯ โตว่า “รู้แล้ว” เมื่อเป็นเช่นนั้น สมเด็จฯ โตจึงพายเรือกลับ อ.ปิ่นสัณฑ์ ขยายความคำว่า “รู้แล้ว” นั้นหมายถึง เป็นการไม่เหมาะสมที่ให้พระสงฆ์พายเรือมารับบาตรจากพระสนมที่แต่งตัวไม่สุภาพ มิดชิด (สมัยนั้นนุ่งโสร่งและคอกระเช้าเปิดกว้าง) ร.๔ เมื่อทรงทราบแล้วจึงยกเลิกพิธีทรงบาตรในวังสระปทุม
ข้อมูลอีกฝั่งหนึ่งของ อาจารย์โชค เพิ่มพูล ผู้ศึกษาพระสมเด็จ เจ้าของเพจธรรมมณีแห่งเสน่ห์Amulet บอกเอาไว้ว่า พระสมเด็จ พิมพ์พายเรือนั้น มีพิมพ์ที่เรียกว่า พิมพ์พายเรือกันยา ซึ่ง คือเรือกราบกันยา เป็นเรือหลวงที่จัดตั้งเก๋งประกอบหลังคาทรงกัญญา ใช้เป็นเรือประทับแรม หรือเรือพระประเทียบ เป็นเรือทรงเฉพาะเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าเท่านั้น
ลักษณะ เรือยาว ๕ วาเศษ พื้นทาสีน้ำเงิน ขอบเป็นลายกนก มีกระทงสำหรับนั่งและมีช่องไว้สวมเสาขื่อสี่มุม เพื่อใช้ประกอบหลังคากระแซง
พระสมเด็จ พิมพ์พายเรือ หรือ แจวเรือนี้เอง มีพลังพุทธคุณ พลังอิทธิคุณ เจริญรุ่งเรือง ปกป้องคุ้มครองคุ้มภัยพ้นภัย ทำมาค้าขึ้นค้าขายร่ำรวย โภคทรัพย์
มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อ ร.๔ ทรงได้รับต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากพุทธคยา ที่ชาวอังกฤษนำมาถวายนั้น จึงโปรดฯ พระราชทานต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นไปปลูกตามพระอารามหลวงต่างๆ จึงได้ให้พระราชวังแจ้งไปยังวัดต่างๆ เพื่อมารับ เมื่อทางวัดทราบข่าวจึงได้นำเรือจ้างบ้าง เรืออื่นๆ บ้างไปรับต้นพระศรีมหาโพธิ์
เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทราบข่าวจึงมีลิขิตตอบกลับไปว่า ท่านไม่สามารถมารับได้ ด้วยเกรงจะเป็นการดูหมิ่นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินควรให้เจ้าหน้าที่นำเรือกัญญาไปรับต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วมีเรือดั้งนำ (เรือที่ทำหน้าที่ป้องกันกระบวนหน้า) เชิญไปพระราชทานตามวัดจึงจะสมควรแก่พระเกียรติยศ
ร.๔ เห็นสมควร จึงจัดให้มีขบวนแห่ไปส่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ตามพระอารามหลวง ตามคำแนะนำของเจ้าประคุณสมเด็จฯ
มวลสารและผงวิเศษในพระสมเด็จ ตามตำรา อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณะเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลขยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ
และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
ผนึกกำลังพุทธคุณด้วยคาถา “ชินบัญชร”
พระสมเด็จที่ท่านมีนั้นถ้ายิ่งผนึกกำลังจากพระคาถา “ชินบัญชร” ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ปรับปรุงขั้นใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างพลังในการคุ้มครองตัวท่าน เนื่องจากพระคาถาได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญมากมาย รวมทั้งอัญเชิญพระสูตรสำคัญ ทั้ง 7 สูตร ทำให้มีพลังในการคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย, เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, มหาอุด, ป้องกันภูตผีปีศาจ ฯลฯ ก็จะยิ่งทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ศรัทธา
พระสมเด็จ พิมพ์แจวเรือ ฝังพระธาตุ
พระสมเด็จองค์นี้เอง ประดับด้วยพระธาตุสีออกส้มๆ เหลืองๆ และสีใส เป็นพิมพ์แจวเรือ โดยมีคนแจวเรืออยู่ใต้องค์พระประธาน ที่กำลังประสานพระหัตถ์ (มือ) ทั้งสองข้างไว้ที่พระอุระ (หน้าอก) เป็นท่านั่งขัดสมาธิ วรรณะของพระสมเด็จเป็นสีขาว และมีพระธาตุขนาดเล็กบ้าง กลางบ้าง ปรากฏทั้งด้านหน้า และด้านหลัง เมื่อส่องกับกล้องกำลังขยายสูงก็พบว่าเนื้อของพระสมเด็จมีความฉ่ำ แวววาว ที่เกิดจาก แคลไซซ์ (Calcite) ที่เกิดขึ้น เป็นการทำปฏิกิริยาของแคลเซียมออกไซด์ที่ผ่านกาลเวลามากว่าร้อยปี เนื่องจากมวลสารหลักในพระสมเด็จ คือ ปูนเปลือกหอย ได้ทำปฏิกิริยา
ภาพพระสมเด็จ พิมพ์แจวเรือ ฝังพระธาตุ จากกล้องกำลังขยายสูง
อ้างอิง : 1. สถาบันและพิพิธภัณฑ์ (จำลอง)
2. wiki
3. ชมรมอนุรักษ์พระเครื่องสายวังและพระสมเด็จโตตามตำรา
4. เปิดตำนานการสร้าง พระพุทธพิมพ์ สมเด็จพิมพ์แจวเรือ พายเรือ
5. พระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์พายเรือกันยา
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)