พระสมเด็จ เกศไชโยฐาน 9 ชั้น หลังประดับคริสตันแดง

 พระบ้านพ่อ

 

ชมภาพพระสมเด็จ เกศไชโยฐาน 9 ชั้น หลังประดับคริสตันแดงพิมพ์วัง การตกแต่งวิจิตร งดงาม ของเก่าเก็บมีคุณค่าทางจิตใจ

 
พระสมเด็จ พิมพ์เกศไชโยฐาน 9 ชั้น ด้านหลังประดับด้วยคริสตันสีแดงเม็ดใหญ่ตรงกลาง และล้อมด้วยคริสตันสีเขียวเม็ดเล็ก ด้านบนและล่าง นับเป็นพระสมเด็จ พิมพ์วัง หรือ พระสมเด็จ สายวังที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ 

พระพิมพ์วังชุดนี้พ่อผู้เขียนได้เก็บสะสมมาอยู่ในชุดเดียวกับพระสมเด็จสายวัง ปิดอัญมณีทั้งองค์ พระสมเด็จชุดนี้มีความสวยงามด้วยอัญมณีเก่าแก่ที่มีหลากสีถูกประดับไว้ที่ด้านหลังพระสมเด็จ มีความวิจิตรสวยงามยิ่งนัก


พระสมเด็จ สายวัง 

 

การแบ่งพิมพ์พระสมเด็จ ของ อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี

 
การแบ่งพิมพ์พระสมเด็จนั้น
 อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี ผู้สะสมและสืบทอดมรดกพระสมเด็จจากต้นตระกูลสิงหเสนี และจากประสบการณ์เรื่องพระสมเด็จของท่าน ได้แบ่งพิมพ์พระสมเด็จ ออกเป็น 5 พิมพ์หลัก คือ 

 

1. พิมพ์วัง สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ในวังและหอพระ

2. พิมพ์วัด สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุในวัดและกรุวัดต่างๆ ซึ่งมีราวๆ 9 วัด คือ วัดเกศไชโย วัดสะตือ วัดโพธิ์ วัดระฆัง วัดบางขุนพรหม วัดสระเกศ วัดลครทำ วัดขุนอินทประมูล วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

3. พิมพ์บ้าน สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อแจกชาวบ้าน

4. พิมพ์วังหน้า สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ที่ส่วนวังหน้า (พื้นที่วังหน้าเดิมได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)

5. พิมพ์พุทธจารึก  สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบันทึกเรื่องราวประเพณีในสมัยนั้น เช่น พระสมเด็จหลังพิธีโยนบัว, พระสมเด็จหลังเสาชิงช้า ฯลฯ

 

พระสมเด็จประดับด้วยอัญมณี มีความวิจิตรสวยงามกว่าพิมพ์ทั่วไปนั้นจัดเข้าอยู่ในประเภทพพระสมเด็จพิมพ์วัง ดังเช่นพระสมเด็จเกศไชโย หลัง ร.4 สวยงามแบบฉบับพระสายวัง  พระสมเด็จ ประดับคริสตันสีน้ำเงิน หลังครุฑวิจิตรตามแบบฉบับสายวัง  ชมพระสมเด็จ สายวัง หลัง ร.๔งดงาม วิจิตร แบบฉบับช่างหลวง 

 

พระสมเด็จเกศไชโยกับคติทางพระพุทธศาสนา

อาจารย์โชค เพิ่มพูล ผู้ศึกษาพระสมเด็จ เจ้าของเพจธรรมมณีแห่งเสน่ห์Amulet ได้รวบรวมข้อมูลลักษณะของพระสมเด็จ เกศไชโย เอาไว้ว่า มีการพบพระสมเด็จเกศไชโย ลักษณะนั่งขัดมาธิ ฐาน 5-6-7-9 ชั้น มีวรรณะสีขององค์พระหลายสี เช่น  สีดำ สีดำปนแดง-เจือเหลือง เหลืองอ่อน ขาวนวลเหมือขาช้าง สีอิฐ เนื้อมวลสารที่พบ มีเนื้อละเอียด แข็งแกร่ง มีมวลสารชนิดเล็กสีดำหรือสีแดง ฝังอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี พระสมเด็จจะแตกเป็นลายงาช้าง (แตกลายงา) หรือลายสังคโลก

 
ด้านความหมายในเชิงพุทธศาสนาขององค์พระสมเด็จ มีความหมายคือ

1.รูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า (สีเหลี่ยมผืนผ้า) หมายถึง พื้นแผ่นดินที่ทรงพระอริยสัจอยู่

 2.วงโค้งในรูปสี่เหลี่ยม หรือซุ้มเรือนแก้ว หมายถึง อวิชาที่คลุมพิภพอยู่

 3.รูปสามเหลี่ยมในวงโค้ง (รูปพระพุทธรูปและฐานพระมองเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม) หมายถึง พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้พบแล้วซึ่งอริยสัจ

 4.รูปพระนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ หมายถึง พระพุทธเจ้าปางตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โพธิบัลลังก์

 5.ฐาน 3 ชั้น หมายถึงพระไตรปิฎก

 - พระวินัยปิฏก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี

 - พระสุตตันตปิฏก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วไป

 - พระอภิธรรมปิฏก ว่าด้วยธรรมล้วนๆ หรือธรรมสำคัญ

 6.ฐาน 7 ชั้น หมายถึง อปริหานิยธรรม

 7.ฐาน 9 ชั้น หมายถึง มรรค 8 นิพพาน 1

 

พระสมเด็จ เกศไชโย ฐาน 9 ชั้น ในความหมายของ มรรค 8 หนทางแห่งการพ้นทุกข์

ฐาน 9 ชั้น ที่รองรับพระประธาน พิมพ์เกศไชโย นั้นมีความหมายทางคติธรรมคือ มรรค 8 และ นิพพาน มีความหมายว่า มรรค 8 หรือ  อัษฎางคิกมรรค คือทางสายกลางที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ ประกอบด้วย

  1. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4
  2. สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึง ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน
  3. สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
  4. สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่า การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และการประพฤติผิดในกาม
  5. สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ
  6. สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง สัมมัปปธาน 4 คือ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
  7. สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง สติปัฏฐาน 4
  8. สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึง ฌาน 4

นิพพาน คือ ความดับสนิทของกิเลสและทุกข์ ไม่คับแค้น ไม่ข้องขัดใจ  หรือสภาพที่ไม่เร่าร้อน เผาลน กระวนกระวาย  อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพุทธศาสนา 

มวลสารและผงวิเศษในพระสมเด็จ ตามตำรา อ.ตรียัมปวาย

จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ  อ.ตรียัมปวาย  ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า

ผงวิเศษ 5 ประการ

 ประกอบด้วยผงดินสอพองเป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง 

ผงใบลานเผา

ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ

เกสรดอกไม้

เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ

เนื้อว่าน 108

เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ

ทรายเงิน ทรายทอง

คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลขยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ 

น้ำมันจันทน์

ได้แก่  น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว

เถ้าธูป

เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ

และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล 

ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จากหนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโตกล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 

 2. ผงพุทธคุณทั้ง

 - ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย

 - ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี

 - ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม

 - ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์

 - ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี

3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108

4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง

5. ทรายเงิน ทรายทอง

6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 

7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก 

8. เกสรดอกไม้

9. น้ำพุทธมนต์

10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 

11. เศษพระกำแพงหัก

12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ

13. ฯลฯ

พระสมเด็จ เกศไชโย ฐาน 9 ชั้น สายวัง 

พระสมเด็จ เกศไชโยฐาน 9 ชั้น หลังประดับคริสตันแดง

พระสมเด็จองค์นี้เองเป็นพิมพ์เกศไชโย มีฐาน 9 ชั้น ประทับนั่งปางทุกรกิริยา อกร่อง หูยาน หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หูบายศรี มีการลงรักสีแดงและปิดทองเก่าทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้เห็น ด้านหลังประดับด้วยคริสตันสีแดง รูปทรงสี่เหลี่ยมขอบมนอยู่ตรงกลาง ล้อมด้วยการแกะลายที่ดูสวยงาม ส่วนขอบบนและขอบล่างประดับด้วยคริสตันสีเขียว ขนาดเล็ก 

 

ภาพพระสมเด็จ เกศไชโยฐาน 9 ชั้น หลังประดับคริสตันแดง จากกล้องกำลังขยายสูง

 

พระสมเด็จ เกศไขโย ฐาน 9 ชั้น สายวัง

พระสมเด็จ เกศไขโย ฐาน 9 ชั้น สายวัง

พระสมเด็จ เกศไขโย ฐาน 9 ชั้น สายวัง

พระสมเด็จ เกศไขโย ฐาน 9 ชั้น สายวัง

พระสมเด็จ เกศไขโย ฐาน 9 ชั้น สายวัง

พระสมเด็จ เกศไขโย ฐาน 9 ชั้น สายวัง

พระสมเด็จ เกศไขโย ฐาน 9 ชั้น สายวัง

 

อ้างอิง : 1.https://bit.ly/3jEEgIu

 

เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam

คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)