ส่อง “พระสมเด็จ พิมพ์ลงอักขระยันต์” (“ยันต์อุองการ” “ยันต์นะ” “ยันต์อุณาโลม”) พิมพ์พิเศษ ที่น่าศึกษาและค้นหาที่มา
“พระสมเด็จ พิมพ์ลงอักขระยันต์” ด้านหน้าลงอุองการ, ยันต์นะ, อุณาโลม ด้านหลังจารึกสมเด็จ ๕ โต ๕ วัดระฆัง ๒๔๑๑ และยันต์อรหัง นับเป็นพระสมเด็จพิมพ์พิเศษที่หายากและน่าศึกษา คาดสร้างปี ๒๔๑๑ เข้าพิมพ์สายวัง
พระสมเด็จ พิมพ์นี้เองแตกต่างจากพิมพ์ทั่วๆ ไป ที่เป็นมาตรฐานในตลาดพระเครื่อง จัดอยู่ในพิมพ์พิเศษที่กลุ่มอนุรักษ์พุทธศิลป์พระสมเด็จเก็บสะสม รวมไปถึงสมาชิกในชมรมอนุรักษ์พระเครื่องสายวังและพระสมเด็จโตตามตำรา(สายทางเลือก) ก็มีบางท่านที่สะสม “พระสมเด็จ พิมพ์ลงอักขระยันต์” เอาไว้เพื่อศึกษา
ความหมายของยันต์ บน “พระสมเด็จ พิมพ์ลงอักขระยันต์”
อักขระยันต์พระสมเด็จที่ปรากฏด้านหน้านั้น มี ยันต์อุองการ ยันต์นะ และยันต์อุณาโลมอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา ส่วนด้านหลังมีการลงยันต์อรหัง ความหมายของยันต์ต่างๆ มีดังนี้
ยันต์อุองการ อยู่ในตำราลบผงวิทยาคม หรือ ผงวิเศษ โดยมีสูตร อุองการะเสวะราชิโน อุกาโรโหติสัมภะโว ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ลบผงวิเศษ หลายคัมภีร์ การเขียนยันต์อุองการ ส่วนใหญ่จะใช้ดินสอพองเขียนและลบอักขระตามคัมภีร์ ผงที่ได้เรียกว่า ผงปถมัง เชื่อว่ามีอานุภาพทางด้านอิทธิฤทธิ์อยู่ยงคงกระพัน
ยันต์นะ เป็นยันต์ที่มีพุทธคุณดีทุกด้าน หรือมีพุทธคุณครอบจักรวาล ซึ่งการเขียนยันต์นะ เป็นการฝึกขั้นต้นในการทำผงปถมัง จะต้องฝึกเขียนยันต์นะก่อนที่จะฝึกเขียนยันต์ถัดๆ ไป
ยันต์อุณาโลม เป็นปฐมยันต์ที่ให้กำเนิดแก่ยันต์ทั้งปวง ไม่ว่าจะลงอักขระเลขยันต์ชนิดใดต้องมียันต์อุณาโลมเป็นประธานบนยอดทุกครั้ง ถือเป็นปฐมยันต์ที่สูงสุด ศักดิ์สิทธิ์ และสร้างความสำเร็จถึงขั้นสูงสุด และเป็นสัญลักษณ์ ของพระพุทธเจ้า 1 ใน 32 ประการที่เรียกว่า มหาปุริสลักษณะ มหาบุรุษ แสดงถึงผู้มีบุญ อันยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน
ยันต์อรหัง แปลว่า ห่างไกลจากสิ่งชั่วร้าย ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นพุทธคุณบทต้น แปลว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ และยังเป็นคำแทนของพระธรรมกาย ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้รู้แจ้งเพราะเห็นแจ้ง
มวลสารและผงวิเศษในพระสมเด็จ ตามตำรา อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณะเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลขยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระและมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
ผนึกกำลังพุทธคุณด้วยคาถา “ชินบัญชร”
พระสมเด็จที่ท่านมีนั้นถ้ายิ่งผนึกกำลังจากพระคาถา “ชินบัญชร” ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ปรับปรุงขั้นใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างพลังในการคุ้มครองตัวท่าน เนื่องจากพระคาถาได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญมากมาย รวมทั้งอัญเชิญพระสูตรสำคัญ ทั้ง 7 สูตร ทำให้มีพลังในการคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย, เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, มหาอุด, ป้องกันภูตผีปีศาจ ฯลฯ ก็จะยิ่งทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ศรัทธา
พระสมเด็จ พิมพ์ลงอักขระยันต์ (“ยันต์อุองการ” “ยันต์นะ” “ยันต์อุณาโลม”)
ตัวอย่างจากผู้สะสมพระสมเด็จ พิมพ์อักขระยันต์ ที่เรียกกันว่าเป็นพิมพ์พิเศษ จากตัวอย่างของ คุณฌาณ สมเด็จ และ คุณธรรมนูญ สุขเกษม จะเห็นได้ว่าเป็นพิมพ์เดียวกับที่ผู้เขียนนำมาให้ชม
พระสมเด็จองค์นี้เอง ประกอบด้วยยันต์ “ยันต์อุองการ” “ยันต์นะ” “ยันต์อุณาโลม” และ “ยันต์อรหัง” ด้านหน้ามีคำว่า “โต” เป็นลักษณะนูนขึ้นจากพื้นหลังอยู่ใต้พระประธาน ส่วนด้านหลัง จารึกลงไปในเนื้อพระสมเด็จเป็นคำว่า "สมเด็จ ๕โต๕ วัดระฆัง ๒๔๑๑” ว่ากันว่าเป็นพระสายวัง ที่เป็นพิมพ์พิเศษ ดูแล้วน่าสนใจเลยทีเดียว
สำหรับจุดตัดสินใจของพ่อผู้เขียนที่สะสมพิมพ์นี้ คือ เนื้อพระสมเด็จมีความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ซึ่งเป็นแนวทางของ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ที่บอกเอาไว้ว่าธรรมชาติของพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปีนั้น จะต้องปรากฏความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” อย่างเป็นธรรมชาติ
ภาพพระสมเด็จ พิมพ์ลงอักขระยันต์ (“ยันต์อุองการ” “ยันต์นะ” “ยันต์อุณาโลม”) จากกล้องกำลังขยายสูง
อ้างอิง : 1 https://lanpothai.blogspot.com/2013/01/blog-post.html
2.ที่สุดแห่งพระสมเด็จฯ พิมพ์พิเศษ 30,000 องค์ ในรังของ "ธรรมนูญ สุขเกษม"
3.เปิดกรุพระสมเด็จพันล้าน!พระสมเด็จพิมพ์พิเศษสุดหายากสุดๆ ในรังของ "ฌาณ สมเด็จ"
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)