พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ 8 ปิดทองเก่า เนื้อแห้ง ยุบ แยก ย่น ถึงยุค มีวรรณะสีเขียว สวยงามชวนมอง น่าศึกษาและสะสม
พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ 8 สัณนิษฐานว่าสร้างตอนที่สมเด็จโต อายุ 80 ปี ราวๆ ปี พ.ศ.2410 เมื่อส่องดูเนื้อพระด้วยกล้องกำลังขยายสูง พบความ ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง ชัดเจน พิมพ์ทรงสวยงาม ปิดด้วยทองเก่าทั้งด้านหน้าและด้านหลังองค์พระ
พ่อผู้เขียนได้พระสมเด็จพิมพ์นี้มาจากคุณยายที่สามีเป็นทหาร โดยเก็บสะสมพระสมเด็จไว้เป็นจำนวนมาก ด้วยพิมพ์ทรงที่ดูสวยงาม สง่างาม ถูกปิดด้วยทองคำเปลวเก่าทำให้ดูสะดุดตา พ่อจึงเลือกที่จะเก็บสะสมและนำมาศึกษา และเมื่อพิจารณาถึงความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ดังที่ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จได้บอกไว้ ซึ่งพ่อได้ศึกษาเป็นแนวทางในการสะสมพระสมเด็จ จึงเป็นจุดตัดสินใจในการเก็บสะสมพระองค์นี้
พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ ตามตำรา อ.ตรียัมปวาย
ข้อมูลเกี่ยวกับพระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ ในหนังสือ “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ” บอกว่า พิมพ์ปรกโพธิ์ปรากฏน้อยที่สุด และมีลักษณะเฉพาะตัวแปลกไปจากพิมพ์ทรงอื่นๆ โดยมีโพธิ์เมล็ด เป็นตุ่มย่อมๆ นูนสูง และโพธิ์ก้านเป็นแขนงเล็กๆ ตรงพื้นผิวผนังคูหาของพระสมเด็จ
เหตุที่ชื่อว่า “พิมพ์ปรกโพธิ์” เนื่องจากเป็นพิมพ์ที่เน้นความหมายของ “ปางตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ” แห่งพระบรมศาสดา ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา พุทธคยาสถาน ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
อิทธิพลทางพิมพ์ทรง พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์จัดเป็นพุทธศิลป์ประณีต ถอดเค้าจากพุทธศิลป์โบราณชั้นคลาสสิก คือ พุทธศิลป์สกุลช่างสุโขทัย เชียงแสน และอู่ทอง โดยแต่ละสกุลจะเน้นสัดส่วนให้ชัดเจนขึ้นแตกต่างกันไป พิมพ์ที่ได้รับอิทธิพล คือ พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์พระประธาน พิมพ์เจดีย์ พิมพ์ฐานแซม และพิมพ์เกตุบัวตูม
พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ อยู่เกือบทุกยุคของการสร้างพระสมเด็จ
อ.โชค เพิ่มพูล เจ้าของเพจธรรมมณีแห่งเสน่ห์Amulet รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพิมพ์ปรกโพธิ์จากหนังสือ "ประวัติสมเด็จโต" จัดทำโดยอาจารย์แฉล้ม โชติช่วง และคุณมนัส ยอขันธ์ และหนังสือพรีเชียสแมกกาซีน ของอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ โดยให้ข้อมูลว่า
พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ได้รวมพระสมเด็จแทบจะทุกพิมพ์ทรงอยู่ในองค์พระ และยังมีพุทธลักษณะผสมผสานของพิมพ์มาตรฐานเป็นพิมพ์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง พิมพ์ปรกโพธิ์นี้เองมีอยู่ทุกยุคของการสร้างพระวัดระฆังของสมเด็จโต ไม่ว่าจะเป็นยุคแรกจนถึงยุคหลัง มีทั้งช่างชาวบ้าน ช่างสิบหมู่ จนถึงช่างหลวง
ลักษณะของใบโพธิ์ของแต่ละข้างก็ไม่เหมือนกัน มีทั้งโพธิ์ใบ โพธิ์เม็ดหรือโพธิ์ตุ่ม และโพธิ์เลื้อย จำนวนใบโพธิ์ทั้งสองด้านขององค์พระก็มีทั้งแบบเท่ากันและไม่เท่ากัน ความหลากหลายเช่นนี้ทำให้พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์เป็นพระที่น่าศึกษาที่สุด
พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ มีที่มาจากการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การดูพิมพ์ให้นับจำนวนใบโพธิ์ เริ่มจาก
โพธิ์ 6 ใบ สร้างขึ้นตอนท่านสมเด็จอายุ 60 พ.ศ. 2390
โพธิ์ 7 ใบ สร้างต้อนท่านสมเด็จอายุ 70 พ.ศ 2400
โพธิ์ 8 ใบ สร้างตอนท่านสมเด็จอายุ 80 พ.ศ.2410
ในด้านพุทธคุณนั้น พิมพ์ปรกโพธิ์ได้ชื่อว่ามีพุทธคุณมากกว่าพระสมเด็จพิมพ์ทั่วไปถึง 40 เท่า และมีเทวดารักษา 7 องค์
เรื่องราวพระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ วัดระฆัง หลังติดแผ่นกระดาน
พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ น่าจะเคยถูกพบพิมพ์ที่ด้านหลังติดแผ่นกระดาน เนื่องจากมีการบันทึกในหนังสือของ อ.ตรียัมปวาย โดยพิมพ์ทรงนี้เองปรากฏในวัดระฆังจะถูกลงรักน้ำเกลี้ยงหรือลงทองร่องชาดเอาไว้ และด้านหลังจะมีรอยรักเก่ายาติดกับแผ่นกระดาน ตามประวัติที่เล่าสืบกันมาว่า
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เมื่อได้สร้างพระสมเด็จพิมพ์ทรงนี้แล้ว ท่านได้ติดไว้กับแผ่นกระดาน และแผ่นหนึ่งจะติดพระไว้ประมาณ 20 องค์ เพื่อเตรียมจะเอาไว้ประดับพระอุโบสถหรือที่ใดที่หนึ่ง แต่ยังมิได้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ท่านก็สิ้นเสียก่อน
ต่อมา เจ้าสัวสอน ขุนบาลหวย ก.ข. สมัย ร.๕ (คนละคนกับเจ้าสัวหง) มาได้แผ่นกระดานติดพระสมเด็จพิมพ์ทรงปรกโพธิ์ ไปจากวัดระฆังฯแผ่นหนึ่ง และได้เอาแผ่นกระดานที่มีพระสมเด็จติดอยู่นั้น ติดไว้บนหน้าจั่วบ้าน เพื่อความสิริมงคล เพราะเจ้าสัวมีความเคารพเลื่อมใสเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นอันมาก
เมื่อเจ้าสัวสอนถึงแก่กรรม ทางครอบครัวได้รื้อเรือนหลังนั้นถวายวัดจักรวรรดิ์ฯ แผ่นกระดานซึ่งมีพระสมเด็จติดอยู่ จึงตกไปอยู่วัดจักรวรรดิ์ฯ ด้วย หลังจากนั้นมีผู้พยายามแกะพระสมเด็จเหล่านั้นออกจากกระดาน แต่เนื้อรักนั้นยาติดแน่นหนามาก จึงทำให้พระแตกหักชำรุดไปหลายองค์ จึงได้มีผู้คิดวิธีใหม่ขึ้นได้ โดยใช้การตัดแผ่นกระดานตามแนวขอบพระ และฝนเนื้อไม้ทั้งด้านหลังและด้านข้างจนบาง จึงคลายความเทอะทะลงไป ดังนั้น พระสมเด็จพิมพ์ทรงนี้ ซึ่งได้รับการเกลาความหนาของแผ่นกระดานออกแล้ว เมื่อพิจารณาด้านข้าง จะเห็นเป็น ๓ ชั้น คือ เนื้อพระสีขาว หรือ เป็นสีลงทองร่องชาด เนื้อรักสีดำ ที่ใช้ติดพระกับแผ่นกระดานและเนื้อกระดาน
พระสมเด็จ กับการลงรักปิดทองเก่า
มีพระสมเด็จจำนวนมากทีเดียวที่ลงรักเก่า ทองเก่าไว้ เนื่องจากคตินิยมโบราณในการลงรักปิดทองพระพุทธปฏิมากรรม ซึ่งถือว่าเป็นงานขั้นสุดท้ายของการสร้างพระ ตามอุดมคติที่ว่าพระพุทธฉวีมีวรรณะผ่องดังสุวรรณชมภูนุท
เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จโต ท่านได้รับการถวายกัณฑ์เทศน์เป็นทองเปลวมาจากชาวบ้าน ท่านจึงได้ดำริการลงรักปิดทองพระสมเด็จขึ้น โดยไม่ได้กำหนดว่าปิดเฉพาะองค์ แต่ปิดไปตามจำนวนแผ่นทองเปลวที่ท่านได้รับมา (ตามบันทึกของ อ.ตรียัมปวาย)
มวลสารและผงวิเศษพระสมเด็จพิมพ์วังจากตำรา อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณะเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลนยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ
และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
ผนึกกำลังพุทธคุณด้วยคาถา “ชินบัญชร”
พระสมเด็จที่ท่านมีนั้นถ้ายิ่งผนึกกำลังจากพระคาถา “ชินบัญชร” ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ปรับปรุงขั้นใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างพลังในการคุ้มครองตัวท่าน เนื่องจากพระคาถาได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญมากมาย รวมทั้งอัญเชิญพระสูตรสำคัญ ทั้ง 7 สูตร ทำให้มีพลังในการคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย, เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, มหาอุด, ป้องกันภูตผีปีศาจ ฯลฯ ก็จะยิ่งทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ศรัทธา
พระสมเด็จ วรรณะสีเขียว
นอกจากพระสมเด็จวรรณะสีขาว สีครีม ฯลฯ ที่เห็นกันทั่วไปแล้วนั้น พระสมเด็จยังมีวรรณะสีอื่นๆ อีกที่ปรากฏในกลุ่มนักอนุรักษ์และนักสะสมพุทธศิลป์ วรรณะสีเขียวตามตำราแล้วมีบันทึกเอาไว้ว่า มีวรรณะสีเขียวก้านมะลิ ที่ออกเป็นสีเขียวอ่อนๆ ค่อนไปทางขาว แต่ก็ยังมีสีเขียวอื่นๆ ปรากฏอีกเช่นกัน เช่น พระสมเด็จของ โกกิตติ ภู่กิตติคุณ จ.นครราชสีมา ที่สะสมและศึกษาพระสมเด็จ มีพระสมเด็จสีเขียวก้านมะลิ สีเขียวมรกต ให้ศึกษา
พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์องค์นี้เอง มีวรรณะสีเขียวค่อนไปทางเขียวเข้ม ซึ่งสีแปลกตากว่าสีเขียวก้านมะลิที่ปรากฏโดยทั่วไป อาจจะเป็นสีเขียวประจำวันเกิดอย่างเช่นที่ โกกิตติ ภู่กิตติคุณ ให้ความเห็นไว้ในคลิป
พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ 8 ใบ วรรณะสีเขียว
พระสมเด็จองค์นี้เอง เป็นพิมพ์พระประธาน มีเกศที่เรียวสวยงามจรดซุ้ม ประดับด้วยโพธิ์ด้านละ 8 ใบ ตรงผนังคูหา พระพักตร์ตูม ดูอิ่มเอิบสวยงาม มีร่องรอยของการปิดทองคำเปลวในส่วนด้านหลังองค์พระเต็มแผ่น และด้านหน้าติดทองคำเปลวเฉพาะพื้นด้านในและด้านนอกซุ้มเรือนแก้ว มีความแห้งเผยให้เห็นชัดในช่วงซุ้มเรือนแก้ว ที่เนื้อแห้งจน “มุดซุ้ม” และร่องรอยการปริของทองคำเปลวให้เห็นด้วย
ส่องพระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ 8 ใบ วรรณะสีเขียวด้วยกล้องกำลังขยายสูง
อ้างอิง : 1.ส่องพระสมเด็จสีเขียวก้านมะลิ สีเขียวมรกต ในรังของ "โกกิติ โคราช"
2. พระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)