ชมพระกริ่ง ปวเรศ เนื้อทองคำผสม พบค่าทองคำ 2.14 เปอร์เซ็นต์

พระบ้านพ่อ

ชมพระกริ่ง ปวเรศ (Phra Kring  | 帕克林 ) พระกริ่งต้นแบบของพระกริ่งไทย เนื้อทองคำผสม ชุดพระผสมทองคำพระสะสมของพ่อ มีค่าทองคำ (AU) 2.14% ทองแดง (CU) 77.73%, สังกะสี (ZN) 10.52% รวมถึงธาตุต่างๆ ที่ตรวจพบอีกหลายค่า องค์พระสมบูรณ์ วิจิตรสวยงาม น่าศึกษา

 

พระกริ่งตระกูลปวเรศ พบมากกว่า40 พิมพ์ทรง เป็นต้นกูลต้นแบบของพระกริ่งในประเทศไทย ที่มีความสมบูรณ์แบบ ทั้งการออกแบบ มวลสาร พิธีสร้าง และการอธิษฐานจิตที่มีความตั้งใจสูงสุด 


พระกริ่ง ปวเรศ ในมุมมองของ อ.ธีรศักดิ์ ฉัตรทอง ผู้เขียนหนังสือพระกริ่งตระกูลปวเรศ จักรพรรดิ์แห่งพระกริ่งสยาม


อ.ธีรศักดิ์ เป็นผู้ศึกษาและเชี่ยวชาญเรื่องพระกริ่งเป็นอย่างมาก และเป็นที่นับถือในวงการพระกริ่ง อีกทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือพระกริ่งตระกูลปวเรศ จักรพรรดิ์แห่งพระกริ่งสยาม ที่ให้ความรู้เรื่องพระกริ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว อีกทั้งเป็นกรรมการตัดสินการประกวดพระเครื่องของสายอนุรักษ์พุทธศิลป์หลายต่อหลายครั้ง

ในมุมมองเรื่องพระกริ่ง ปวเรศ ของ อ.ธีรศักดิ์ มองว่า พระกริ่งตระกูลปวเรศ ประกอบด้วย พระกริ่งปวเรศ พระชัยวัฒน์ พระบูชา แม้ว่าพระกริ่งตระกูลปวเรศจะหลากหลายพิมพ์ทรง หลายสาย มีผู้สร้างที่มากมาย หลายสมัย แต่ทั้งหมดล้วนมีต้นทางและเอกลักษณ์เดียวกัน

จากการศึกษาพระกริ่งของ อ.ธีรศักดิ์ ในหลากหลายกลุ่ม ได้นำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ หลักฐาน พยานวัตถุ พยานแวดล้อม เรื่องเล่า พยานบุคคล มาทำการศึกษาและวิเคราะห์ สามารถสรุปประเด็นดังต่อไปนี้

1. พระกริ่งปวเรศไม่ได้มีเพียงพิมพ์เดียวแน่นอน จากการศึกษา พบว่า พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระบูชา ทั้งหมดมีหลากหลายพิมพ์ทรง นับจนถึงปัจจุบันมากกว่า  40 พิมพ์ทรง มีตั้งแต่สร้างยุคแรกในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 จนถึงยุคสุดท้าย นับสายตรงถึงยุครัชกาลที่ การสร้างพระกริ่งปวเรศมีการสร้างต่อเนื่องมาตลอด และจะสร้างจำนวนมากในวาระสำคัญทั้งในทางพิธีของอาณาจักรและพุทธจักร มีความเกี่ยวข้องกับราชสำนักสยามในยุคนั้นทั้งหมด ไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกหรือราษฎร์ในยุคนั้นทั้งสิ้น เป็นการสร้างเฉพาะภายในราชสำนักหรือสังฆพิธีเท่านั้น 

2. ผู้สร้างและผู้อธิฐานจิต ผู้สร้าง คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ โดยความอุปถัมถ์ของพระมหากษัตริย์ หรือสร้างโดยความประสงค์ของเจ้านายชั้นสูงก็มี พระกริ่งในยุคนั้นมีบางส่วน บางพิมพ์สร้างโดยสมเด็จโต แต่จะคนละสายกับของกรมพระปวเรศฯ หากนับในทางสายพระกริ่งปวเรศ พระกริ่งของกรมพระปวเรศฯ ถือว่าเป็นสายหลัก 

ผู้อธิฐานจิตตั้งแต่แรกคือสมเด็จพระพุฒาจารย์โต และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ โดยทั้งสองพระองค์ร่วมกันอธิฐานจิต ก่อนปี พ.ศ. 2415 โดยสมเด็จโตฯ เป็นองค์อธิฐานจิตหลัก และหลังปี 2415 กรมพระยาปวเรศเป็นองค์อธิฐานจิตหลัก สืบเนื่องมาจนถึงปี 2435 ดังนั้นพระกริ่งปวเรศทุกรุ่น ทุกพิมพ์ ที่สร้างถึงปี 2415 สมเด็จโตร่วมอธิฐานจิตด้วยทุกครั้ง 

3. พระกริ่งปวเรศ พระชัยวัฒน์ พระบูชา มีที่มาจากต้นทางเดียวกัน เริ่มจากการออกแบบที่มีสัดส่วนเดียวกัน การสร้าง สูตรที่ใช้สร้างในการหล่อ มวลสารที่ใช้  การตบแต่ง ยันต์ โค้ดเป็นแบบเดียวกัน และใช้พิธีกรรมเหมือนกัน ซึ่งผู้รับผิดชอบหลักในการสร้างคือ ช่างสิบหมู่วังหน้า และบางครั้งร่วมกันสร้างกับช่างสิบหมู่วังหลวง และมีคณะสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารเป็นผู้รับผิดชอบทางพิธีกรรมมาตั้งแต่แรก 


4. พระกริ่งปวเรศ พระชัยวัฒน์ พระบูชา มีจำนวนมากกว่าที่เคยบันทึกไว้แน่นอน เมื่อได้พิจารณาจากจำนวนพิมพ์ทรง วัตถุพยานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ขันน้ำมนต์ ไม้เท้า คฑา พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ที่ประดับในเครื่องรางต่างๆ มีจำนวนมากกว่าที่เคยรับรู้กันหลายเท่า จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่นอน แต่ก็จะมีความแตกต่างของจำนวน บางพิมพ์ทรงสร้างมากสร้างน้อยต่างกัน จะเป็นที่ทราบกันเองในหมู่ผู้ที่ศึกษาและสะสมพระกริ่งปวเรศ 

5. พระกริ่งตระกูลปวเรศ คือ พระกริ่งต้นแบบของพระกริ่งไทย และเป็นพระกริ่งที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในหลายๆอย่าง เช่น พิธีสร้างดี ผู้อธิฐานจิตดี สูตรมวลสารดี ออกแบบดี ตบแต่งดี พระกริ่งที่สร้างในสมัยหลังล้วนนำพิมพ์ทรงมาจากพระกริ่งตระกูลปวเรศมาสร้างเกือบทั้งสิ้น รวมถึงแนวคิด วิธีสร้าง การตบแต่งและพิธีกรรม เป็นพระกริ่งที่อยู่ในยุคที่มีความเจริญสูงสุดในการสร้างพระกริ่งซึ่งมีเพียงยุคเดียวเท่านั้น

 

พระกริ่งกับความเป็นมาที่เชื่อพระหมอยาสามารถรักษาโรคได้

ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีหลากหลายพระองค์นับตั้งแต่บรรพกาล ซึ่งหนึ่งในพระพุทธเจ้าหลายพระองค์นั้นมีพระไภษัชยคุรุพระพุทธเจ้า อันเป็นที่มาของพระกริ่งทั้งหลาย

 

พระไภษัชยคุรุ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งปณิธาน 12 ประการ ที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกายและใจ และให้มีชีวิตยืนยาว จึงขนานนามพระองค์ว่า พระหมอยา หรือ เอี๊ยะซือฮุก โดยเป็นที่นับถือกันมากในกลุ่มชาวจีนและชาวทิเบต

 

การสร้างพระกริ่งพระไภษัชยคุรุ ตามพุทธวิธีดั้งเดิมของจีนและของทิเบตจะต้องประกอบด้วยปัญจโลหะ 5 อย่าง คือ ดีบุก ทองแดง เงินทองและปรอท ซึ่งถือตัวแทนสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์คือพระไวโรจนะพุทธะ พระอักโษภยะพุทธะ พระรัตนสัมภวะพุทธะพระอมิตาภพุทธะ และพระอโมฆสิทธิพุทธะ ต้องอุดกริ่งด้วยกริ่งที่ประกอบด้วยมหาพุทธคม 5 ประการ นับเป็นการสร้างที่สลับซับซ้อนมาก

 

ในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถัง พระไภษัชยคุรุได้รับการยกย่องเทียบเท่าพระศากยมุนี และมีการสร้างประติกรรมรูปเคารพทั้งแบบยืนและนั่ง ส่วนในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั่ง คือ พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ บนพระหัตถ์ถือหม้อน้ำมนต์ หรือเจดีย์เก็บตำรายา (แบบหลังพบมากในวัดจีนเมืองไทย)

 

คามเชื่อเรื่องพระกริ่ง ได้เผยแผ่เข้ามาทางเขมรในสมัย โดยมีหลักฐานในการสร้างพระกริ่งปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นพระกริ่งที่สร้างโดยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ หรือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สร้างนครวัด 

 

หลังจากนั้นแนวคิดเรื่องพระกริ่งจึงเริ่มเผยแผ่เข้ามาในเมืองไทย ซึ่งผู้ที่สร้างพระกริ่งครั้งแรก คือสมเด็จพระสังฆราช กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ผู้สร้างพระกริ่งปวเรศ ที่เป็นตำนานและเป็นที่เสาะหาสำหรับผู้ศรัทธา

 

ถ้าผู้สร้างและผู้ใช้พระกริ่งสามารถเข้าถึงพระกริ่งได้อย่างแท้จริงจะสามารถนำพระกริ่งไปอาราธนาใช้ได้ทั้งในการรักษาโรคภายนอกเช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ไม่สบาย และโรคภายในคือ กิเลส ความโลภ โกรธ หลง ที่อยู่ในใจให้หมดไป จึงถือได้ว่าเป็นพุทธคุณชั้นสูงที่รักษาได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

 

พระคาถาบูชาพระกริ่งตระกูลปวเรศ

"นะโมภะคะวะเต ไภษัชยคุรุ ไวฑูรยประภา ราชายะ ตถาคะตะยาระ สะมะยะกะ 

สะมะพุทธะ ธายะโอมะ ไภเษชยะ ไภเษชยะ สะมุตทะระ สะมุตทะระ คะเตสะวาหะ"

 

ชมภาพและวิดีโอพระกริ่ง ปวเรศ เนื้อทองคำผสม (ทองคำ 2.14%)

พระกริ่ง ปวเรศ องค์นี้เป็นหนึ่งในพระเนื้อทองคำผสมที่พ่อผู้เขียนสะสม มีความสมบูรณ์ สวยงาม เมื่อนำไปตรวจสอบค่าธาตุต่างๆ ที่ "ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์-พระเครื่องไทย" ในวันที่ 24 กันยายน 2563 พบว่า มีส่วนผสมของค่าทองคำ (AU) 2.14% ทองแดง (CU) 77.73%, สังกะสี (ZN) 10.52% รวมถึงธาตุต่างๆ ที่ตรวจพบอีกหลายค่า



 พระกริ่ง ปวเรศ เนื้อทองคำผสม

พระกริ่ง ปวเรศ เนื้อทองคำผสม

พระกริ่ง ปวเรศ เนื้อทองคำผสม

พระกริ่ง ปวเรศ เนื้อทองคำผสม

พระกริ่ง ปวเรศ เนื้อทองคำผสม

พระกริ่ง ปวเรศ เนื้อทองคำผสม

ผลตรวจสอบ พระกริ่ง ปวเรศ เนื้อทองคำผสม

 

อ้างอิง : 1. อ.ธีรศักดิ์ ฉัตรทอง ผู้เขียนหนังสือพระกริ่งตระกูลปวเรศ จักรพรรดิ์แห่งพระกริ่งสยาม บันทึกในชมรมคนรักพระกริ่งปวเรศ จักรพรรดิ์แห่งพระกริ่งสยาม วันที่ 29 มิ.ย.2558

2.หนังสือ "พระกริ่งตระกูลปวเรศ จักรพรรดิ์แห่งพระกริ่งสยาม" โดยอ.ธีรศักดิ์ ฉัตรทอง

2.พระไภษัชยคุรุ-พระหมอยา ที่มาพระกริ่งทั้งหลาย และพระกริ่งปวเรศ https://www.silpa-mag.com/history/article_47004

3.พระกริ่งคืออะไร https://bit.ly/2Xl5xZy

 

เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam

คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)