อว.สนับสนุนผู้ประกอบการ “กิจการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช”
รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ศูนย์เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ดำเนินงานโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเปิดโรงอนุบาลต้นพืช วิสาหกิจชุมชนบ้านโนนสำราญ ต.วังไชย อ.บรบือ
เลขานุการ รมว.อว.กล่าวว่า อว.ให้การสนับสนุนศูนย์เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืชที่ดำเนินการโดยบริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผ่านกลไกการบ่มเพาะของอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยบริษัทฯได้พัฒนาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหลากหลายสายพันธุ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เป็นพืชเศรษฐกิจ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ได้พืชจำนวนมาก ภายในระยะเวลาอันสั้น และมีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการทั้งของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มพ่อค้าต้นพันธุ์พืช โดยได้ดำเนินกิจการภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปลอดเชื้อที่เกิดจากพืช ทำให้เกษตรกรได้รับพืชพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ
บริษัทฯยังได้คิดค้นการนำนวัตกรรมมาใช้กับพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคิดค้นสารเคมีในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้เนื้อแข็งให้สามารถแตกยอด และเจริญเติบโตได้ดี และได้ทำการทดลองนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยการนำนุ่นมาทดแทนวุ้นในอาหารสังเคราะห์ในรูปการปลูกพืชที่คล้ายการปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์
รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์กล่าวต่อว่า บริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้เข้าร่วมหลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม รุ่นที่ 1 ในแผนงานการสร้างผู้จัดการนวัตกรรม ภายใต้โครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ กำกับดูแลโดย สกสว. ส่งผลให้บริษัทฯได้วิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ไม้ด่าง กล้วย
"และที่สำคัญแอปเปิ้ลสายพันธุ์ฟูจิ ซึ่งประเทศไทยได้นำเข้าสายพันธุ์นี้มาจำนวนมากที่สุด และเป็นที่นิยมให้สามารถเพาะปลูกได้ในเขตภูมิภาคของประเทศไทย และเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต"
น.ส.สาวิตรี ศรีพงษ์ ผู้ประกอบการ บริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืชในการพัฒนาแอปเปิ้ลสายพันธุ์ฟูจิจากประเทศญี่ปุ่น และได้ทดสอบในแปลงนำร่องได้ผลผลิตรสชาติหวาน แน่นและเตรียมขยายเพิ่มอีก 50 ไร่
ถือว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถนำแอปเปิ้ลสายพันธุ์ฟูจิมาปลูกได้ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย และจะพัฒนาให้การปลูกแอปเปิ้ลสายพันธุ์ฟูจิเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด และเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากต่อไป
น.ส.สาวิตรีกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ผ่านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมันสำปะหลัง เพื่อแก้ปัญหาโรคพืชในมันสำปะหลัง คือโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรได้มีพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลอดโรค ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพในจำนวนที่เพิ่มมาก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว.
บริษัทฯได้ดำเนินกิจการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โดยการนำชิ้นส่วนต่างๆ ของพืชที่มีชีวิต อาทิ ใบ ดอก เมล็ด ก้าน ใบ และลำต้นของพืช มาเลี้ยงในสภาวะปลอดเชื้อด้วยอาหารวิทยาศาสตร์ที่สังเคราะห์ขึ้น พร้อมด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งแสงและอุณหภูมิ เพื่อให้ต้นพืชเจริญเติบโตเป็นต้นอ่อน และทำการคัดสรรต้นพืชที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง เพื่อทำการกระตุ้นต้นพืชให้เกิดรากจนสามารถนำไปอนุบาลในโรงเรือน
"เพื่อให้ต้นพืชเจริญเติบโตแข็งแรง สมบูรณ์ ก่อนจะจัดจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและกลุ่มลูกค้า ณ ศูนย์เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช บ้านโนนสำราญ" ผู้ประกอบการ บริษัท ไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าว
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)