จริงหรือ? หลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สพฐ. จะไม่มีการทุจริต

จริงหรือ? หลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สพฐ.

จะไม่มีการทุจริต

โดย: สานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ

ภายหลังจากที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 19/2560 เรื่องปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2565 กำหนดให้มีศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลางทุกภาค ทุกจังหวัด

คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทำหน้าที่แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ในคณะกรรมการ กศจ.ไม่กำหนดให้มีตัวแทนของผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.ร.ร.) และครูผู้สอน มีการตัดอำนาจการบริหารงานบุคคลหรืออำนาจการบังคับบัญชาจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.)

ให้ ศธจ.มีอำนาจบังคับบัญชาผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการออกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ปลดผู้แทนครูใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา โดยไม่แจ้งเหตุผลใดๆ

ผลกระทบดังกล่าว ทำให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งต่อคณะ คสช.ที่ออกคำสั่งฉบับที่ 19/2560 มาลดบทบาทของตนเองลง

ในสมัยที่ ผอ.สพท.เรืองอำนาจในการบังคับบัญชาภายใต้บอร์ด อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ผอ.สพท.เป็นเลขานุการของบอร์ด อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จึงมีอำนาจในการให้คุณให้โทษแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างเต็มที่

แต่เมื่ออำนาจตกไปอยู่ในมือคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. จึงถือได้ว่าเป็นการสูญเสียอำนาจอันใหญ่หลวง

ที่ผมกล้าพูดอย่างนี้ เพราะผมเคยโดยฟ้องเป็นคดีหมิ่นประมาทมาแล้วจากคนเป็นผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด (ผอ.ปจ.) และคนเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) มาแล้วถึง 2 คดี เพราะบังอาจไปขัดใจคนมีอำนาจในการบริหารงานบุคคล นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม จากการพยายามหลังจาก ผอ.สพท.สูญเสียอำนาจไป การบริหารงานบุคคลก็มีส่วนทำให้งานการจัดการศึกษาล่าช้าอีกด้วย เพราะ กศจ.ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน งานซ้ำซ้อนระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)

ที่พูดเช่นนี้ เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ จะจัดประชุม กศจ.ก็ต้องรอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดว่าง บางครั้งการประชุม กศจ.ต้องเลื่อนการประชุมบ่อยครั้ง ศึกษาธิการภาค ซึ่งเป็นรองประธานก็ดูคล้ายไม่ใส่ใจเข้าร่วมประชุม จะให้ความสำคัญเฉพาะจังหวัดที่ตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาคเท่านั้น ต่างจังหวัดในเขตบริหารของ ศธภ.จะส่งตัวแทนเข้าประชุมแทบทุกครั้ง

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 3246 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เรื่อง การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ประจำปี 2565 ตามประกาศ สพฐ.เรื่องรายละเอียดตัวชี้วัดและคะแนนในการประเมินตามองค์ประกอบการประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ย้าย ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา (การย้ายกรณีปกติ) ประจำปี พ.ศ.2565 ออกมาตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด และขีดเส้นให้ทำตามหลักเกณฑ์ ว 7

1. ให้ ผอ.สพท.ทุกเขต และศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ประเมินคะแนนศักยภาพ จับตาดูให้ดี โดยเฉพาะการให้คะแนนวิสัยทัศน์ แพ้หรือชนะจะอยู่ตรงนี้ เพราะเป็นคะแนนตามความพึงพอใจของผู้ประเมิน เรียกคะแนนตรงนี้ว่า คะแนนไสยศาสตร์

2. คณะกรรมการ กศจ.มีหน้าที่พิจารณาตามที่เขตพื้นที่การศึกษา และ ศธจ.เสนอมาเท่านั้น

3. มีการเปิดโอกาสให้เขียนย้ายข้ามขนาดของโรงเรียนได้ 1 ขนาด เปลี่ยนแปลงไปจากหลักเกณฑ์เดิม ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงเป็นช่องทางให้มีการวิ่งเต้นของผู้บริหารโรงเรียนที่ขอย้ายได้อย่างเต็มที่ คอยดูก็แล้วกัน โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ

ผลที่จะตามมา ทั้งด้านจิตใจและข้อกฎหมาย ผอ.สพท./ศธจ.มีอำนาจในการประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย หาก 2 ฝ่ายนี้จับมือกันได้ หรือฮั้วกันได้ มีผลต่อการประเมินศักยภาพอย่างแน่นอน

คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาตามคะแนนที่ สพท./ศธจ.ส่งมา จึงเกิดความสบายใจในการพิจารณา อาจเป็นแค่ตรายางก็ยังดี ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องร้องเหมือนที่ผ่านมา แรงกระเพื่อมน้อยลง

เขตพื้นที่การศึกษาได้อำนาจคืน แต่หากเข้าข้างคนของตัวเองมากไป อาจโดนทั้งวินัยและคดีอาญาก็เป็นได้

อย่าเผลเรอก็แล้วกันครับ!!

อนึ่ง หลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ประจำปี 2565 ตามประกาศ สพฐ.เรื่องรายละเอียดตัวชี้วัดและคะแนนในการประเมินตามองค์ประกอบการประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ย้าย ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา (การย้ายกรณีปกติ) ประจำปี พ.ศ.2565 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)