อุทยานวิทย์ ม.แม่โจ้ สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พัฒนา “ข้าวเจ้าก่ำหอมแม่โจ้ 1 เอ” ข้าวกล้องสีดำ มีกลิ่นหอม นุ่มพิเศษไม่แข็ง หุงง่าย ไม่ต้องแช่ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควบคุมปริมาณการบริโภคน้ำตาล ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำมากกว่าร้อยละ 50
ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) ในฐานะโฆษก อว. เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัด อว. ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ และโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาค ด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม
ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านแผนงานการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneurial Ecosystem Development) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ในการช่วยเหลือ/สนับสนุนผู้เข้าร่วมพัฒนาทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการทีมข้าวหอมแม่โจ้ ทำผลิตภัณฑ์ข้าวเจ้าก่ำหอมแม่โจ้ 1 เอ ข้าวเจ้าหอมเพื่อสุขภาพ
"เป็นข้าวกล้องสีดำที่มีกลิ่นหอม นุ่มพิเศษ ไม่แข็ง หุงง่าย ไม่ต้องแช่ มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น มีปริมาณสารแกมมาไรซานอล สารต้านอนุมูลอิสระรวม แอนโทไซยานิน วิตามินบี 1 และธาตุเหล็กสูง จากงานวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่พัฒนาสู่รูปแบบธุรกิจของผลิตภัณฑ์ข้าวเจ้าก่ำหอมแม่โจ้ 1 เอ ข้าวเจ้าหอมเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีข้าวที่เหมาะในการดูแลสุขภาพ และผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมปริมาณการบริโภคน้ำตาล"
โฆษก อว.กล่าวต่อว่า อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ได้พัฒนาทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การออกแบบธุรกิจโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และการวิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจเบื้องต้น การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการขอมาตรฐานของสถานที่ผลิต การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญากับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม เป็นต้น
ปรากฎว่า ภายหลังจากการทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาด ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นที่น่าพึงพอใจ ทางทีมจึงได้ปรึกษาและวิเคราะห์ผลการตอบรับจากลูกค้า และต่อยอดธุรกิจ โดยได้วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งปรับขนาดบรรจุภัณฑ์และปริมาณการบรรจุข้าวขนาด 250 กรัม ตามข้อเสนอแนะของลูกค้าส่วนใหญ่ พบว่ามียอดขายเพิ่มสูงขึ้น
“หลังจากทดลองตลาดระยะที่ 1 ลูกค้าจากช่องทางออนไลน์ กลับมาซื้อซ้ำมากกว่าร้อยละ 50 โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มช่วงวัยเกษียณ อายุ 60-75 ปี และกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคน แม่บ้าน อายุ 30-55 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จน่าพอใจ สามารถสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่โตมาจากมหาวิทยาลัยได้” รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)