เทียบ action! "ตรีนุช-"ชัชชาติ" สั่งห้าม "กัญชา-กัญชง" เข้าโรงเรียน

เปรียบเทียบ action! "ตรีนุช-ชัชชาติ"

สั่งสถานศึกษา 'เขตปลอดกัญชา-กัญชง'

แฟนๆ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com เรียกร้องให้นำเสนอสาระเชิงข่าวเปรียบเทียบวิธีการทำงานระหว่าง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีการสั่งห้าม "กัญชา-กัญชง" เข้าโรงเรียน 

ภายหลังจากที่รัฐบาลปลดล็อก "กัญชา กัญชง" ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จนเป็นที่กังวลของคนหลายฝ่ายในสังคม เกรงว่าผลิตภัณฑ์ "กัญชง กัญชา" จะแพร่เข้าไประบาดภายในสถานศึกษาได้ง่าย จนสร้างความเสียหายในแง่ต่างๆ ตามมา

ทั้งนี้ จากการติดตามข่าวของผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com พบมีการ action (แอค' เชิน) ดำเนินการเพื่อการป้องกัน "กัญชา-กัญชง" เข้าโรงเรียน ของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายชัชชาติ ผู้ว่าราชการ กทม. ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 น.ส.ตรีนุช ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำ ศธ. ออกข่าว "ตรีนุช ย้ำโรงเรียนต้องปลอดกัญชา" โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ให้สัมภาษณ์ว่า

"การปลดล็อกกัญชา กัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จนเป็นที่กังวลของหลายฝ่ายเกรงว่า ผลิตภัณฑ์กัญชงและกัญชาจะแพร่เข้าไปยังสถานศึกษาได้ง่ายนั้น ตนก็มีความเป็นห่วงนักเรียนในประเด็นนี้

ซึ่งการกำกับดูแลสถานศึกษาจะใช้กฎระเบียบเดียวกับข้อห้ามเรื่องสิ่งเสพติดในโรงเรียน ขอยืนยันว่าโรงเรียนในสังกัด ศธ.ทุกแห่ง จะต้องเป็นโรงเรียนที่ปลอดกัญชา และจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจในเรื่องของกัญชาว่า มีผลดีและผลเสียอย่างไร ต้องให้ความรู้ทั้งครูและนักเรียน

เบื้องต้นตนจะไปหารือร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอข้อมูลเรื่องกัญชาว่า ข้อดี ข้อเสียการใช้เป็นอย่างไร และหากนำไปแปรรูปใส่ในอาหารจะส่งผลทบกระทบอะไรต่อร่างกายหรือไม่ เพราะเท่าที่ตนรับทราบข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีการแปรรูปกัญชาในอาหารมากขึ้น เช่น คุ๊กกี้ ขนม เบอเกอรี่ น้ำผลไม้ต่างๆ เป็นต้น รวมถึงยังพบว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากการใช้กัญชาแล้วแพ้มาแล้ว 1 ราย ดังนั้น ตนจะเร่งทำความใจในประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน 

ทั้งนี้ เมื่อมีการหารือร่วมกรมอนามัยเรียบร้อยแล้ว ตนจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกหนังสือสั่งการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ให้ดูแลเข้มงวดเรื่องกัญชาเสรีในสถานศึกษาอย่างใกล้ชิด และจะไม่อนุญาตให้มีการใช้กัญชาในสถานศึกษาอย่างแน่นอน

สำหรับการนำมาประกอบอาหาร เรายังไม่เคยมีแนวปฎิบัติแบบนี้มาก่อน จะต้องมีมาตรการรองรับในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตนขอไปศึกษารายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตาม แม้จะเปิดเสรีกัญชาก็จริง แต่ยังอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น"

วันเดียวกัน (15 มิถุนายน 2565) ปรากฏข่าวว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีคำสั่ง 9 มาตรการสกัด "กัญชา-กัญชง" เข้าโรงเรียนในสังกัด กทม.

โดยประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีใจความว่า

"โดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ประกาศมาตรการและการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ดังนี้

1.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชาหรือกัญชง" 2.งดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 3.ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 4.ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติตนป็นแบบอย่างแก่นักเรียน และกวดชัน ดูแลนักเรียนมิให้มีการบริโภคกัญชาหรือกัญชง 

5.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงและอันตรายจากกัญชาหรือกัญชง แก่นักเรียนด้วยการบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ ในการเรียนการสอนทุกระดับ 6.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมนักเรียนตามความถนัดหรือความสนใจ โดยสอดแทรกและเน้นย้ำเรื่องพิษภัยของกัญชาหรือกัญชง

7.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์ เรื่องโทษของการใช้กัญชาหรือกัญชงที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน 8.ประสานความร่วมมือ แจ้งนโยบายการเฝ้าระวังปัญหาฯแก่ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้ารอบโรงเรียน เฝ้าระวังไม่ให้มีการจำหน่าย อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง

9.ให้ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครประสานความร่วมมือกับ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา และสำนักงานเขต เพื่อบูรณาการการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญซาหรือกัญชงในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด"

ต่อมาในวันเดียวกันนี้ วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ทีมงานประชาสัมพันธ์ของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ได้เผยแพร่ข่าวการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ตรีนุชอีกครั้งเกี่ยวกับการป้องกันกัญชา-กัญชงเข้าโรงเรียน "ตรีนุช ออกประกาศ ศธ.ห้ามกัญชา-กัญชงเข้าโรงเรียน" โดยระบุว่า

"น.ส.ตรีนุช รมว.ศธ.เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ใจความว่า

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับ ศธ. ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 กำหนดให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่สามารถใช้และเข้าถึงกัญชาได้ ดังนั้น ศธ., สธ. และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ.ให้เหมาะสม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ ศธ. พ.ศ.2546 จึงออกประกาศแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด หรือในกำกับของ ศธ.ไว้ ดังนี้

1.สถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ. ห้ามใช้กัญชาหรือกัญชงกับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีผลต่อการพัฒนาสมองของนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร

2.ห้ามมิให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ. ใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการนันทนาการใดๆ เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย

3.ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ. กำกับควบคุมร้านค้าที่ จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในบริเวณสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ. ให้งดจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชาหรือกัญชง อีกทั้งห้ามมีให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ. นำอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชาหรือกัญชง เข้ามาบริโภคในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ.อย่างเด็ดขาด

4.ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของศธ. ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรม การจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม หรือการผลิตสื่อนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชาหรือกัญชง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ เกินปริมาณตามที่ สธ.ประกาศกำหนดให้แก่นักเรียน นักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครองประชาชน หรือชุมชนที่อยู่หรืออาศัยบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษาหรือหน่วยงาน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชาหรือกัญชง 

5.การใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการรักษาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หรือการใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัย ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม และดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ 

6.นอกจากแนวทางที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้แล้ว ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ. อาจออกมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดจากกัญชาหรือกัญชงได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ ศธ.นั้นๆ ได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)