จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีกกี่แห่ง?..."รศ.ดร.สมบัติ นพรัก" ถาม "รมว.ตรีนุช"

จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีกกี่แห่ง?

โดย: รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก

 

Editor สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ขอนำเสนอบทความเรื่อง "จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีกกี่แห่ง?" ของรองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้สะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการอย่างน่าสนใจผ่านโซเชียลเฟซบุ๊ก สมบัติ นพรัก ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ผู้เขียนตั้งคำถาม "จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีกกี่แห่ง?" ตามชื่อบทความ กับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านตรีนุช เทียนทอง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ในที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย

ผู้เขียนตั้งคำถามพร้อมเสนอข้อมูลและความเห็นข้างล่าง แต่เนื่องจากระยะเวลามีจำกัด จึงไม่ได้เสนอข้อมูลละเอียดเท่าที่ควร จึงขอบันทึกข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติมต่อไปนี้ ครับ

ข้อมูลประกอบคำถาม

1.สภาพปัจจุบัน มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งสิ้น จำนวน 29,583 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 0-120 คน จำนวน 14,958 แห่ง และมีจำนวนโรงเรียนที่มีนักเรียนต่างขนาดกัน จำนวน 14,625 แห่ง ประกอบด้วย (1) นักเรียน 121-200 คน จำนวน 7,000 แห่ง (2) นักเรียน 201-300 คน จำนวน 3,300 แห่ง (3) นักเรียน 301-499 คน จำนวน 1,961 แห่ง (4) นักเรียน 500-1,499 คน จำนวน 1,673 แห่ง (5) นักเรียน 1,500 -2,499 คน จำนวน 408 แห่ง (6) นักเรียน 2,500 คนขึ้นไป จำนวน 283 แห่ง (สมคิด หอมเนตร ; 24 พฤษภาคม 2565)

2.จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 14,958 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50.563 (เกินกว่าครึ่งหนึ่ง) และมีโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 120 คน จำนวน 6 ขนาด รวมจำนวน 14,625 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 49.437 (น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง) และนับวันโรงเรียน 6 ขนาด ที่ใหญ่กว่าขนาดเล็กข้างต้น จะมีจำนวนนักเรียนลดลงตามลำดับ เนื่องจากประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามสถิติจำนวนประชากรดังนี้

3.การลดลงของประชากรไทย ระหว่าง ปี 2553-2583 

(1) พ.ศ.2553 มีประชากรกลุ่มอายุ 0-14 ปี จำนวน 12.6 ล้าน ร้อยละ 19.8 (เฉลี่ย 14 รุ่นอายุ มีประชากรเกิดปีละ 12.6 หารด้วย 14 ได้ประชากรเกิดรุ่นอายุละ 900,000 คน)

(2) พ.ศ.2563 มีประชากรกลุ่มอายุ 0-14 ปี จำนวน 11.2 ล้าน ร้อยละ 16.9 (เฉลี่ย 14 รุ่นอายุ มีประชากรเกิดปีละ 11.2 หารด้วย 14 ได้ประชากรเกิดรุ่นอายุละ 800,000 คน)

(3) พ.ศ.2573 มีประชากรกลุ่มอายุ 0-14 ปี จำนวน 9.9 ล้าน ร้อยละ 14.8 (เฉลี่ย14  รุ่นอายุ มีประชากรเกิดปีละ 9.9 หารด้วย 14 ได้ประชากรเกิดรุ่นอายุละ 707,142 คน)

(4) พ.ศ.2583 มีประชากรกลุ่มอายุ 0-14 ปี จำนวน 7.4 ล้าน ร้อยละ 12.4 (เฉลี่ย14 รุ่นอายุ มีประชากรเกิดปีละ 7.4 หารด้วย 14 ได้ประชากรเกิดรุ่นอายุละ 528,571 คน)

#ที่มา ประมวลจากรายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583

4.จะเห็นได้ว่าประชากรแรกเกิดและวัยเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานลดลงตามลำดับอย่างต่อเนื่องทุก 10 ปี ดังนี้

(1) ปี 2553-2563 (12.6-11.2) = 10 ปี ลดลง 1.4 ล้านคน เฉลี่ยลดลงปีละ 900,000-800,000 = 100,000  คน

(2) ปี 2563-2573 (11.2-9.9) = 10 ปี ลดลง 1.3 ล้านคน เฉลี่ยลดลงปีละ  800,000-707,142 = 92,858  คน

(3) ปี 2573-2583 (9.9-7.4) = 10 ปี ลดลง 2.5 ล้านคน เฉลี่ยลดลงปีละ 707,142-528,571 = 178,571 คน

###สรุป ปี 2553-2583 ระยะเวลา 30 ปี จะมีประชากรวัยเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลดลงจาก 12.6-7.4 = 5.2 ล้านคน 

5.จากการคาดประมาณการประชากรตามข้อ 3(2) ในปี 2564 จะมีประชากรไทยเกิดปีละ 800,000 คน แต่โดยข้อเท็จจริงในปี 2564 มีเด็กไทยเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 5400,000 คน (ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล; สำนักข่าวอิศรา,4 กุมภาพันธ์ 2565) ลดลงจากคาดประมาณการ จำนวน 260,000 คน และลดลงเร็วกว่าการคาดประมาณการเกือบ 20 ปี

6.หากนำตัวเลขจำนวนประชากร ตาม 3(1) ในกลุ่มปี พ.ศ.2553 จำนวน 900,000 คน มาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยกับจำนวนโรงเรียนในปัจจุบัน จำนวน 29,583 แห่ง จะพบว่า โรงเรียน 1 แห่ง จะมีนักเรียนเข้าเรียนเฉลี่ย 30 คน และหากนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบหาจำนวนนักเรียนอีก 6 ปีข้างหน้าที่เด็กเกิดปี พ.ศ.2564 จำนวน 540,000 คน ซึ่งจะครบอายุ 6 ปี เข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับในปี พ.ศ.2570 (หากยังคงมีโรงเรียนจำนวน 29,583 แห่งเท่าเดิม) จะพบว่าโรงเรียน 1 แห่ง จะมีนักเรียนเข้าเรียนเฉลี่ยเท่าๆ กันโรงเรียนละ 18 คน 

7.แต่โดยข้อเท็จจริงนักเรียนจะเข้าเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน โดยเฉพาะโรงเรียนในจังหวัดและโรงเรียนในอำเภอ จะเป็นโรงเรียนยอดนิยมที่จะมีนักเรียนเข้าเรียนจำนวนมากกว่าค่าเฉลี่ย 18 คน ดังนั้น ยิ่งโรงเรียนยอดนิยมรับนักเรียนจำนวนห้องมากเท่าไหร่ และจำนวนนักเรียนแต่ละห้องมากเท่าไหร่ โรงเรียนระดับตำบลในแต่ละหมู่บ้าน (ถ้ามี) จำนวนจะลดลงจากค่าเฉลี่ย ต่ำกว่า 18 คนถึงไม่มีนักเรียนเข้าเรียนเลยอีกจำนวนมาก

และหากใช้เกณฑ์ในปัจจุบัน จะต้องมีโรงเรียนขนาดเล็กต้องถูกยุบจำนวนมาก

###ดังนั้น หากใช้เกณฑ์ในปัจจุบัน จะต้องมีโรงเรียนขนาดเล็กต้องถูกยุบจำนวนมาก ถ้ากำหนดให้ 1 โรงเรียน มีเด็กเข้าเรียนเฉลี่ย 30 คน เช่นปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2570 จะต้องยุบโรงเรียนอีก 17,749 แห่ง และจะเหลือโรงเรียนในประเทศไทย เพียง 11,834 แห่ง เท่านั้น

###จากข้อมูลข้างต้น ผู้เขียนจึงขอเสนอกระทรวงศึกษาธิการว่า ควรมีการดำเนินการเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรที่เกิดขึ้น อย่างน้อย 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1.ควรกำหนดเกณฑ์โดยใช้เกณฑ์พื้นที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนในตำบล/หมู่บ้าน โดยควรมีโรงเรียน 1 แห่งต่อ พื้นที่และจำนวนประชากรวัยเรียนไม่เกิน 3 หมู่บ้าน (1 โรงเรียน: 3 หมู่บ้าน) ไม่ว่าจำนวนประชากรวัยเรียนในตำบล/หมู่บ้านนั้นจะลดลงมากน้อยเพียงใด

2.ควรกำหนดนโยบายการบริหารโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ร่วมกับองค์กรปกคองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน 3 รูปแบบ คือ 

รูปแบบที่ 1 กำหนดนโยบายการโอนโรงเรียน สพฐ.ให้เป็นโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อให้ สพฐ.และ  อปท.ร่วมกันรับผิดชอบการจัดการศึกษาในท้องถิ่น

รูปแบบที่ 2 กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารโรงเรียนร่วมกันระหว่าง สพฐ.กับ อปท.

รูปแบบที่ 3 กำหนดหลักการในการที่ อปท.จะตั้งงบประมาณสนับสนุนโรงเรียนในท้องถิ่น

3.ควรดำเนินการ ดังนี้

(1) ลดเกณฑ์การกำหนดขนาดโรงเรียนโรงเรียนจาก 6 ขนาด เหลือ 3 ขนาดคือ เล็ก กลาง ใหญ่  โดยกำหนดจำนวนนักเรียนที่เหมาะสมกับแต่ละขนาดโรงเรียน และโรงเรียนขนาดใหญ่ต้องไม่มีนักเรียนมากเกินไปจนกระทั่งไม่เกิดการกระจายนักเรียนไปยังโรงเรียนอีกสองขนาด

(2) พัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนกับวิธีการจัดการเรียนการสอน โดยใช้บทเรียนและวิธีการในช่วงโควิดเป็นแนวทางในการวิจัย

(3) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ UNICEF ได้สรุปประเด็นปัญหาการศึกษาของประเทศไทย ในช่วงปี 2565 

4.แก้ไขกฎหมายการใช้พื้นที่ดิน อาคารสถานที่ ทรัพย์สินอื่นๆ ของโรงเรียนที่ถูกยุบรวมหรือยุบเลิก โดยควรมีการจัดสรรและบริหารจัดการอาคารสถานที่และพื้นที่ ดินในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทสถานการณ์และของพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนที่ถูกยุบมีอาคารที่ผุพัง เนื่องจากไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ และพื้นที่โรงเรียนรกร้างว่างเปล่าจำนวนมาก

###หมายเหตุ วิกฤตตามบทความนี้ จะลามไปเป็นวิกฤตระดับอาชีวศึกษา และวิกฤตระดับอุดมศึกษาด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ก่อนที่จะถึงวันนั้น ผู้เขียนคงต้องตั้งคำถามล่วงหน้าว่า จะต้องยุบสถาบันอาชีวศึกษากี่แห่ง? และจะต้องยุบมหาวิทยาลัยอีกกี่แห่ง ด้วย?

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)