ปัญหาความเหลื่อมล้ำการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา รากเหง้าการศึกษาไทยในเวทีนานาชาติ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา รากเหง้าการศึกษาไทยในเวทีนานาชาติ

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน tulacom@gmail.com รายงานพิเศษ  

เมื่อ ปลายปี 2563 มีรายงานธนาคารโลกฉบับล่าสุด แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะด้านการอ่านของนักเรียนไทย มีแนวโน้มถดถอยลง รวมถึงคะแนนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่มีแนวโน้มซบเซาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการปิดโรงเรียนยาวนานและการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ถดถอยลงไปอีก

# มิใช่เพิ่งจะเกิด # แต่เป็นไปมาอย่างนี้และมีเสียงเตือนกันมานานแล้ว

ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประเมิน PISA ใน โครงการโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) มาตั้งแต่ปี 2543 จากทั้งหมด 79 ประเทศ และความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมการประเมินในปี 2561

ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 68 ในด้านการอ่าน อันดับที่ 59 ในด้านคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 55 ในด้านวิทยาศาสตร์ 

ประเทศไทยนำหน้าเพียงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้น ประมาณร้อยละ 60 ของนักเรียนไทย ได้คะแนนด้านการอ่านต่ำกว่าสมรรถนะขั้นต่ำ และร้อยละ 53 มีคะแนนไม่ถึงระดับสมรรถนะขั้นต่ำในด้านคณิตศาสตร์ ขณะที่ สมรรถนะขั้นพื้นฐานในด้านวิทยาศาสตร์ ร้อยละ 44  ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์

รายงานผลการประเมินชี้ที่มาของความตกต่ำเป็นเพราะว่า... นักเรียนไทยยังมีอัตราการขาดเรียนสูง และไม่ค่อยรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในประเทศสมาชิกขององค์การฯ

อิงผลการศึกษาของธนาคารโลก ชื่อ “การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในโรงเรียนเพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการศึกษาของประเทศไทย”  แสดงให้เห็นว่า...ประเทศไทย มีการลงทุนในด้านการเงิน บุคลากร และการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำสำหรับโรงเรียน อยู่ในกลุ่มร้อยละ 25 ล่างสุดในดัชนีด้านสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 

และยังมี โรงเรียนเอกชนที่พึ่งพารัฐบาล หมายถึงโรงเรียนเอกชน ที่คงได้รับเงินอุดหนุนจากหน่วยงานภาครัฐ มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดการศึกษา

ในการประเมิน PISA สำหรับประเทศไทย พบว่า มีปัจจัยหลายประการที่อยู่เบื้องหลังผลลัพธ์ที่ตกต่ำหลายประการ คือ

อันดับแรก ค่าใช้จ่ายสะสมโดยเฉลี่ยต่อนักเรียนในประเทศไทยจากระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 27,271 ดอลลาร์สหรัฐ (ในภาวะความเสมอภาคของอำนาจซื้อ) ซึ่งน้อยกว่าหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายสะสมโดยเฉลี่ยต่อนักเรียนในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD 

อันดับที่สอง คือ เมื่อพิจารณาผลลัพธ์ทางการศึกษาเปรียบเทียบกับการลงทุน ประเทศไทยถือว่า ยังทำได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีการลงทุนในระดับใกล้เคียงกัน 

ผลการศึกษาตรงนี้พบว่า… ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรครูและทรัพยากรทางการศึกษาอื่น ระหว่างโรงเรียนที่มีความได้เปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม กับโรงเรียนที่สถานะด้อยกว่าในประเทศไทยนั้น ยังสูงกว่าในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และประเทศสมาชิก OECD 

ส่วนปัจจัยสำคัญด้านอื่น ที่ซ่อนอยู่หลังความเหลื่อมล้ำของผลการดำเนินงานของโรงเรียน ยังประกอบด้วยคุณภาพการสอนของครู การขาดเรียนของนักเรียน ที่มักพบบ่อยในกลุ่มเด็กผู้ชาย และนักเรียนที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่า และ นักเรียนที่โดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน

อีกทั้ง การเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลระหว่างโรงเรียนในเมืองกับในพื้นที่ชนบท และระหว่างโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำสูง และมีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการปิดโรงเรียนที่มีการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) เป็นเวลานาน  

แม้กว่าร้อยละ 90 ของนักเรียนที่ค่อนข้างมีฐานะจะมีคอมพิวเตอร์สำหรับใช้เพื่อการเรียน และเกือบจะทั้งหมดมีอินเตอร์เน็ตที่บ้าน 

แต่ในทางกลับกัน รายงานระบุว่า มีเพียงร้อยละ 20 ของนักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำ ที่มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียน และพบว่าเพียงร้อยละ 61 ของนักเรียนกลุ่มนี้มีอินเตอร์เน็ตที่บ้าน

วิกฤตโควิด 19 จึงเผยให้เห็นถึง ความไม่เท่าเทียมในระบบการศึกษาทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ”

ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เคยกล่าวเป็นนัย ๆ ว่า... “ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา การศึกษาที่ต้องหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาด และความเป็นไปได้ของการเกิดการระบาดรอบต่อมา

ชี้ให้เห็นว่า การเสริมสร้างรากฐานสู่ความสำเร็จด้านการศึกษาประเทศไทย มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเยาวชนที่ด้อยโอกาสจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ดังนั้น โรงเรียนทุกแห่ง ควรมีทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อเอื้ออำนวยให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสในการเรียนรู้และประสบความสำเร็จได้ อย่างเท่าเทียมกัน”

จากการติดตามแผนงานโครงการสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของ สพฐ. เตรียมใช้ (ร่าง) แผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน (พ.ศ.2566-2570) เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินงาน ตามที่ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและเป็นรูปธรรม ยังคงเป็น 4 กรอบงานหน้าเดิม ๆ

คือ โครงการพาน้องกลับมาเรียน ,การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพ ,การขับเคลื่อนโรงเรียนให้ปลอดภัยและมีความสุข และ การสอน Active Learning ในวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง

ติ่งตามมาด้วย แก้ไขปัญหาการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) และ ติดตามการกรอกข้อมูลสถานศึกษาของโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED และติดตามผลการดำเนินการในการจัดจ้างครูภาษาอังกฤษและภาษา จีนในโครงการโรงเรียนคุณภาพนัยที่สื่อสาร อีกทั้งให้เตรียมความพร้อมด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อให้การเปิดภาคเรียนที่มีความสุข

ว่าไปแล้ว เป็นเรื่องที่ดีเมื่อมีการเกริ่นกล่าวกันไปล่วงหน้าแล้วว่า จัดให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2566 แก่ นักเรียนและผู้ปกครอง 

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปที่รายงานธนาคารโลก ที่เสนอให้ ศธ.เห็นถึงรากแห่งปัญหาของการศึกษาไทย คือ ความเหลื่อมล้ำการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อการเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล ให้เกิดคุณภาพการสอนของครู ลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนในเมืองกับในพื้นที่ชนบท อันควรต้องแก้ไขและจำเป็นต้องมี  ย่อมเป็นการเอื้ออำนวยให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม ยั่งยืน

หากเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันนี้ น่าจะพากันไปถูกทิศทางและมีความสุขกว่าของขวัญปีใหม่ที่มาในปีหน้า... 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage