*วิชาประวัติศาสตร์ไทย

*วิชาประวัติศาสตร์ไทย

ภายหลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมออกประกาศแยกวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มาเป็นหนึ่งในวิชาเฉพาะ

พบว่า มีประเด็นผ่านการแสดงทัศนะของผู้คน ผ่านสื่อมวลชนให้ชวนคิดอยู่พอสมควร ทั้งในท่วงทีขานรับด้วยปลื้ม อยากให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ที่มีศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี  เอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก

ส่วนใครจะมีปฏิกิริยาไม่เห็นด้วย หรือออกอารมณ์ขำ ก็ไม่ว่ากัน เอาที่สบายใจ

เพราะอย่างน้อย จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ถึงความมุ่งมั่น เจตน์จำนงที่ดี และเป็นเรื่องที่ดี ของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย รู้จักบุญคุณ และหวงแหน ถึงสิ่งที่บรรพชนที่ทิ้งไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอด แก่แผ่นดินสืบไป  

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของเด็กไทย ต้องยอมรับว่า แม้วิชานี้ สพฐ., ศธ.จะแจงมาตลอดว่ามีการกำหนดให้เรียนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี รายวิชาประวัติศาสตร์ไทย จึงถูกปรับเปลี่ยนจากวิชาหลักกลายเป็นเสมือนเป็นวิชารอง

 

หรือแทบจะเรียกได้ว่า วิชาประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่หายไปจากตารางเรียน เสียแล้วก็ว่าได้

จึงน่ายินดีว่า การกลับมาของวิชาประวัติศาสตร์ไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดนโยบาย 8+1 โดยการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน

ด้วยความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ ที่กระทรวงศึกษา เล็งเห็นความสำคัญในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ให้เด็กไทยได้เข้าใจ เข้าถึงในแก่นแท้และรากเหง้าของความเป็นไทย

ดังนั้น เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงทันกับสภาวการณ์และบริบทของสังคม เจ้ากระทรวงหรือผู้เกี่ยวข้อง ควรที่จะตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการตลอดจนสาระด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม

และที่สำคัญ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ร่อนตะแกรงความคิด เพื่อกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในมิติที่ควรคำนึง คือ ผลประโยชน์ที่จะสืบทอดแก่ลูกหลานไทยและวงการศึกษาชาติภายใต้พลังร่วมของทุกภาคส่วน

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam   

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage