เสวนากับบรรณาธิการ : จาก‘ครู’ ไม่ต้องเข้าเวร ” โปลิศ ตอบศธ.“ รอหารือ ให้ชัดเจนก่อน โรงพักมีแค่พัน แต่ ร.ร.มีหลายหมื่น

 

 

จาก‘ครู’ ไม่ต้องเข้าเวร ” โปลิศ ตอบศธ.“ รอหารือให้ชัดเจนก่อน โรงพักมีแค่พัน แต่ ร.ร.มีหลายหมื่น

 

จับไปที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผย หลังครม.ยกเลิกมติยกเลิกการอยู่เวรที่โรงเรียนของครูในสังกัด ศธ. ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) , สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดังกล่าวแล้ว

 

อีกทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) เข้ามาช่วยดูแล แต่การมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นส่วนที่มีกระแสว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้น

 

 

รมว.ศธ.ออกมาขยายความย้ำให้สังคมยอมรับถึง เพราะเป็นหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ ฝ่ายปกครอง ในการดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว แต่พอมาบอกว่า จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ เหมือนธนาคาร ร้านทอง ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลเป็นพิเศษ เพียงแต่อาจจะเพิ่มจุดเน้นเข้ามา ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องการดูแลความปลอดภัยของสถานที่ 

 

ตรงนี้ อาจทำให้เกิดการมองต่างมุมในเมื่อตำรวจถูกโยงไปเฝ้าร้านทอง ธนาคาร กับการต้องมาดูแลความปลอดภัยของสถานที่ราชการ ซึ่งชาวบ้านธรรมดา ๆ ทั่วไป เข้าใจได้ดีว่า มีความเหมือนในความต่างเหมือนฟ้ากับเหว

     

แม้จะกล่าวในส่วนของ ศธ. ได้มีหนังสือประสานไปยัง ตร. และ มท. เรียบร้อยแล้ว เพื่อบูรณาการดูแลความปลอดภัย ส่วนในระดับจังหวัดได้มอบหมายให้สำนักปลัด ศธ. แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ในการเข้ามาดูแล การประสานงานดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานมีความรวดเร็วขึ้น ทั้งในระดับ ส่วนกลาง และพื้นที่

 

 

จึงน่าคิดมิใช่น้อยเมื่อ พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขานตอบในเรื่องนี้ว่า ได้รับหนังสือขอความร่วมมือจัดเจ้าหน้าที่สายตรวจดูแลความปลอดภัยและติดตั้งตู้แดงประจำสถานศึกษาแล้วของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ซึ่งการดูแลโรงเรียนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่เป็นการอยู่เวรแทนครู

 

ก็เป็นเหตุเป็นผล เนื่องจากกำลังตำรวจอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วน และ ฝ่ายปกครอง ส่วนแนวทางต้องรอหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอบรับด้วยไมตรีจิตฟังแล้วยังปลื้มที่ว่า จะมอบหมายให้ฝ่ายป้องกันปราบปราม หารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กำหนดรูปแบบการทำงานร่วมกันในการดูแลความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ครู อาจารย์ และนักเรียนต่อไป

 

โดยจะหารือการแก้ปัญหาระยะสั้นในการออกตรวจตราของตำรวจ ร่วมกับ อปพร. อาสาสมัครชุมชน หมู่บ้าน รวมทั้งระยาวในการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มงบประมาณ เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อไป

 

 

“ ต้องยอมรับว่าตำรวจทั่วประเทศมีเพียง 1,400 กว่าสถานีตำรวจ ขณะที่โรงเรียน สถานศึกษา มีหลายหมื่นแห่ง กำลังตำรวจเพียงหน่วยเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ อปพร. อาสาสมัครชุมชน หมู่บ้าน ที่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย” โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวปิดสำนวน

 

โดยเน้นชัดว่า การทำหน้าที่ดังกล่าว ไม่ใช่การเข้าเวรประจำโรงเรียนแทนครู ส่วนรูปแบบแนวทางการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่จะเป็นอย่างไร ต้องรอความชัดเจนจากการหารือร่วมกันก่อน

 

ฟังดูแล้ว ทางออกในเรื่องนี้คงไม่ใช่ง่าย เนื่องจากมีคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการจัดหางบมาจ้างคนอยู่เวรยามสถานที่ราชการ สถานศึกษาที่แตกต่างหลากหลายกันไปตามบริบท

 

ไหน ๆ ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายนหนุนและฝ่ายค้าน เห็นพ้องต้องกันว่า ให้มีการยกเลิกครูเวร แต่ภารโรง อาจเกื้อกูลทำหน้าที่เวรช่วยครูได้ โดยใช้งบกลางของปี 2566 จำนวน 1,140 ล้านบาท ในการจ้างภารโรงอัตราเดือนละ 1 หมื่นบาทเข้ามาเป็นตัวช่วย

 

ซึ่งแม้ในส่วนของพรรคก้าวไกล ยังสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ ควรต้องตั้งงบประมาณส่วนนี้ ไว้ในงบประมาณปี 67 และ 68  ในร่างงบประมาณปี 67 ที่กำลังพิจารณาอยู่นั้นไม่มีงบจ้างภารโรงอยู่

 

จึงเรียกร้องให้แปรญัตติงบส่วนนี้ในปี 67 เพื่อมาจัดจ้างภารโรงให้ครบ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 67 - 30 ก.ย. 68 เพื่อที่กระทรวงศึกษาธิการจะได้นำงบฯ ส่วนนี้ ไปใส่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 68 ที่ทางสำนักงบประมาณกำลังจัดทำอยู่ โดยเป็นงบประจำ

 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องการยกเลิกครูอยู่เวร แต่ในช่วงเวลานี้ สพฐ.ทำอย่างไรกับการที่จะต้องมีคนดูแลสถานศึกษา ดังนั้น การจ่ายเป็นค่าตอบแทนแบบทำงานล่วงลาแก่ข้าราชการครู ตามระเบียบราชการของกระทรวงการคลัง น่าจะช่วยแบ่งเบาเรื่องการจัดหางบก้อนโตมาใช้ได้

 

รัฐบาลเองก็ต้องจัดหางบสำรองจ่ายเพื่อการนี้ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งอำนาจในการอนุมัติให้ใช้จ่ายเป็นของคณะรัฐมนตรี โดยจะไม่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากฝ่ายนิติบัญญัติแต่อย่างใด มิใช่ปล่อยให้เป็นปัญหาค้างท่อรอกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนงงกลางดงปัญหาแต่เพียงลำพัง

 

อีกทั้ง ทางกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ.ควรออกระเบียบให้สถานศึกษาร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด พิจารณาจัดหางบ หรือเป็นตัวกลางการจ้างเหมา รปภ. หรือ ยาม หรือ ค่าตอบแทนแก่ อปพร. อาสาสมัครชุมชน หมู่บ้าน เข้าไปดูแลตามความเหมาะสมไว้ก่อน  

 

 

หากจะหวังพี่งพาตำรวจในแต่ละพื้นที่เข้าไปดูแล เมื่อดูภาระงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง มีมากมายเอาแค่ปัญหานักเรียน-ครู ก็ได้เห็นคำตอบแล้วว่า ในทางปฏิบัติอย่างที่สั่งการแล้วคาดหวัง บนความน่าจะเป็นไปได้ยากยิ่ง 

 

มองไปที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ยามนี้การจะไปขอร้องใครสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็คงมิได้ง่ายเหมือนอย่างใจนึก แม้ว่าจะมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะมีความสนิทสนมใกล้ชิดกันเพียงใดก็ตาม

 

"นโปเลียน โบนาปาร์ด" จักรพรรดิฝรั่งเศสผู้พิชิตยุโรป เคยกล่าวว่า "The army marches on its stomach' / 'C'est la soupe qui fait le soldat" แปลว่า กองทัพต้องเดินทัพด้วยท้อง

 

สอดรับกับสำนวนจีนโบราณว่าไว้...กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ถ้าปล่อยให้เหล่าทหารหิวโหย จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนมาสู้รบ จึงเป็นความสำคัญ

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ 

 

https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage