วันที่ 4 มีนาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) กล่าวว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เน้นย้ำการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาให้ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND, AVIATION HUB” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 เพื่อประกาศถึงศักยภาพของประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยรัฐบาลเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลาง การบินของภูมิภาคยกระดับสนามบินทั่วประเทศ และมีแผนจะขยายอุตสาหกรรมการบำรุงรักษาให้กลายเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษาทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในทุกมิติ ขานรับนโยบายรัฐบาลด้านการ จัดการศึกษา เร่งพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยเฉพาะด้านช่างอากาศยาน เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศสู่เป้าหมาย
เลขาธิการกอศ. กล่าวว่า ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีสถานศึกษาในสังกัดที่เปิดการเรียนการสอนสาขาช่างอากาศยาน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคถลาง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ และได้รับการรับรองเป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน จากสำนักงานการบินพลเรือแห่งประเทศไทยแล้ว 5 แห่ง ตามลำดับ โดยการเรียนการสอนเป็นไปตามหลักสูตรความรู้พื้นฐานของนายช่างภาคพื้นดิน ภายใต้การรับรองจาก The Civil Aviation Authority of Thailand (CAAT) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในหลักสูตร Aircraft Maintenance Licence-Aeroplane Turbine (AMEL B1.1) ที่มีการเรียนการสอนแบบ Block Course จำนวนทั้งสิ้น 13 Module ซึ่งมีคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน เป็นผู้พิจารณาหลักสูตรที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในรูปแบบทวิภาคี โดยนักศึกษาจะเข้าฝึกงานในสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองให้เป็น Maintenance Repair and Overhaul (MRO) จำนวน 2 แห่ง คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประจำสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และสนามบินนานาชาติดอนเมือง และการดูแลอย่างใกล้ชิด มาตรฐานใกล้เคียงกับมาตรฐานขององค์การความปลอดภัย ด้านการบินของสหภาพยุโรป (EASA)
“เมื่อสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะได้รับ 1 วุฒิ และประกาศนียบัตรทั้งสิ้น 7 ใบ ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กำหนดว่านายช่างภาคพื้นดินจะต้องจบการศึกษาจากสถาบันที่ CAAT รับรองเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการเรียนสายอาชีวศึกษา มีบทบาทสำคัญในการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและผลิตกำลังคนด้านช่างอากาศยานให้มีสมรรถนะสูงตามมาตรฐาน ให้ตอบโจทย์ในภาคอุตสาหกรรม ผู้เรียนจบหลักสูตรและ ผ่านการฝึกประสบการณ์ตามมาตรฐานการรับรองในระดับสากล จึงเชื่อมั่นได้ว่าผู้เรียนอาชีวศึกษา พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้เป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานตามเป้าหมายของประเทศต่อไป” นายยศพล เวณุโกเศศ กล่าวสรุป