เสวนากับบรรณาธิการ : เกาะติดนายกฯ แถลงแนวทางแก้หนี้บุคลากรภาครัฐ ไม่ตรงปก “อาจไม่จบในรัฐบาลชุดนี้”

 

 

 

เสวนากับบรรณาธิการ : วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์

เกาะติดนายกฯ แถลงแนวทางแก้หนี้บุคลากรภาครัฐไม่ตรงปก “อาจไม่จบในรัฐบาลชุดนี้” 

 

ก่อนจะมาถึงคิว เศรษฐา แถลงแนวทางแก้หนี้บุคลากรภาครัฐ ตามหัวข้อใหญ่ประกาศไว้    โดยมีบรรดาลูกหนี้ในหน่วยงานของรัฐ จำนวน 11 หน่วยงาน ต้องการรับฟังการแก้ปัญหาหนี้ในมิติใหม่อย่างใจจรดใจจ่อ ทั้งทางการถ่ายทอดสดผ่าน 3 ช่องทาง • Facebook เพจไทยคู่ฟ้า • Facebook เพจ Live NBT2HD • YouTube Live NBT2HD วันศุกร์ ที่ 15 มีนาคม 2567 ใน ณ ตึกสันติไมตรี   

 

ขอย้อนให้กลับไปฟัง เศรษฐา นายกฯ ที่คุยถึงแนวทางแก้ปัญหาหนี้ “ต้องจบในรัฐบาลชุดนี้” เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่เผยแพร่ โดยกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนจะมาถึงแถลงความคืบหน้าแก้หนี้ ล่าสุด มีรายละเอียดว่าดังนี้ 

  

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงความคืบหน้า และ ผลสำเร็จของการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง โดยจะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบให้จบในรัฐบาลชุดนี้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ เป็นวาระแห่งชาติ โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ ร่วมกันในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชน อย่างครบวงจร และบูรณาการประสานงานแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ ให้จบภายในรัฐบาลนี้

 

โดยมี ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI ของการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ประกอบไปด้วย 3 ข้อหลัก ๆ คือ

หนี้สินที่ได้รับการแก้ไขปัญหา จะต้องครอบคลุมทั้งในส่วนหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบไปพร้อมกัน

เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีการลงทะเบียนครบถ้วน จะต้องได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 100%

ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้วทุกราย จะต้องได้รับการพิจารณาสินเชื่อพิจารณา หรือปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือพื้นฟูศักยภาพในการหารายได้

 

อีกทั้งส่วนของการบริหารจัดการหนี้ในระบบ รัฐบาลได้แบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการหนี้ ได้แก่

 

กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ลูกหนี้รหัส 21  ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือ โดยปิดบัญชีหนี้เสียแล้วมากกว่า 630,000 บัญชี มูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท

ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้กลับมามีสถานะปกติในระบบเครดิตบูโร และสามารถกลับเข้าสู่ระบบการเงินได้ อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs แล้ว มากกว่า 10,000 ราย มูลหนี้กว่า 5,000 ล้านบาท

 

กลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงจนเกินไป ไม่ควรเกินร้อยละ 4.75 ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว  

คาดว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าว จะสามารถช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้กว่า 3,000,000 ราย นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตได้เข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้แล้ว มากกว่า 150,000 บัญชี

 

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้แล้วมากกว่า 1,800,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 250,000 ล้านบาท ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เข้ามาติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วมากกว่า 600,000 ราย ซึ่ง กยศ. สามารถลดหรือปลดหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ได้

 

กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นระยะเวลานาน โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีหลักเกณฑ์การร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว และจะขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเจรจาผู้ร่วมทุน เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในไตรมาสแรกของปี 2567

เมื่อการจัดตั้งแล้วเสร็จ ลูกหนี้กลุ่มนี้จะสามารถโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป

 

การที่รัฐบาลได้แบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบออกเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 2 หรือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้  คือ เป็นกลุ่มข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก และมีมูลหนี้สูง ซึ่งภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังนี้

 

โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ โดยธนาคารออมสินจะสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่สหกรณ์ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และ Refinance หนี้จากธนาคารออมสินไปรวมหนี้เป็นหนี้สหกรณ์ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น 2 ปี

โครงการสินเชื่อสวัสดิการข้าราชการและบุคลากรภาครัฐอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยหากหน่วยงานภาครัฐดำรงเงินฝากกับธนาคารออมสิน และข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเปิดบัญชีเงินเดือนกับธนาคารออมสิน จะสามารถขอสินเชื่อสวัสดิการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

โครงการคลินิกแก้หนี้สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยและเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ได้ร่วมกันช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้างมาทำตารางผ่อนชำระใหม่ ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น

การช่วยเหลือให้มีรายได้คงเหลือเพียงพอดำรงชีพ โดยผลักดันให้ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์ หรือ ระเบียบการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ของข้าราชการในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือในบัญชีอย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ

 

ทั้งหลายทั้งปวง คือ การแถลงความคืบหน้า และ ผลสำเร็จของการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

แต่ผ่านมาล่าสุด เมื่อวันศุกร์ ที่ 15 มีนาคม 2567 ณ ตึกสันติไมตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกข่าวใหญ่ว่า จะแถลงแนวทางแก้หนี้บุคลากรภาครัฐส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งทำให้บรรดาลูกหนี้ มีความหวังบุคลากรจากส่วนงานราชการรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ จำนวน 11 หน่วยงาน รับฟังการแก้ปัญหาหนี้ในมิติใหม่ด้วยความสนใจ

 

ทันทีที่รายการจบแล้ว แต่ความคิดกลับมองเป็นว่า กลายเป็นบรรดาผู้นำหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น กองทัพ ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงตัวแทนจากสถาบันการเงินของรัฐ เรียงหน้ารายงานความคืบหน้าการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้เงินกู้แก่บุคลากร 

 

อีกทั้งเปิดข้อมูลเชิงพรรณนารายงาน ให้นายกฯรับรู้สภาพปัจจุบันและปัญหา กระบวนการ มาตรการที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการชําระหลายประเด็นที่ยังย้อนแย้ง จนไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้ ส่งผลให้บรรยากาศกลายเป็นผลพวงเรื่องราวที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โหดจากสถาบันการเงิน และ จี้ ให้รัฐบาล เร่งแก้เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้ตามความจำเป็น  

 

สังเกตได้ว่า หลายประโยค นายกฯ เศรษฐา เอง ฉายภาพให้เห็นว่าดอกเบี้ย ถือเป็นสารตั้งต้นหายนะของประเทศ”และรู้ว่าหลายหน่วยงานสถาบันการเงินที่ให้กู้ต้องหวังเรื่องการปันผลหรือผลกำไร แต่ก็ยังไม่กล้าตัดสินใจจัดการให้เด็ดขาด ทำได้แค่ขอให้สถาบันการเงินหรือสหการณ์เงินกู้ เข้ามาร่วมโครงการของรัฐให้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้หนี้สินเหล่านี้ไม่ได้ลดลง และ แม้ว่าแบงค์ชาติจะไม่ลด แต่หากกลุ่มสหกรณ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันลด ก็ยังพอช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลูกหนี้ได้ 

 

หากจะบอกว่า นี่คือ การแถลงแนวทางแก้หนี้บุคลากรภาครัฐส่วนราชการ ของนายกฯ คงต้องถามสังคมว่าใช่หรือไม่ ตรงปกหรือไม่ 

 

แต่จากคำพูดที่แสดงเสมือนหนึ่งผู้นำ ดูเหมือนกำลังส่งสัญญาณบางอย่างให้รับรู้ถึงสภาพที่ลูกหนี้ทั้งหลาย อาจจะต้องดิ้นรนช่วยกันดูแลกันและกัน พร้อมกับวิงวอนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ควรมีใจเมตตา 

 

ยืนยันเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นจริง ที่เกิดขึ้น ณ ตึกสันติไมตรี จาก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะรองประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชน กล่าวว่า...จากการตรวจสอบพบว่า มีบุคคลมีหนี้รวมสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท 

 

เช่น เป็นหนี้สินในระบบ หนี้บ้านเช่า หนี้ซื้อรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต และหนี้สินเชื่อพาณิชย์ฯ ซึ่งมีความซับซ้อน ไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง ดังนั้นต้องรอรับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น รวมถึงอำนาจฝ่ายตุลาการ เพื่อไกล่เกลี่ย และบังคับคดีให้เหมาะสมเป็นธรรม

 

แม้จะมีข้อสั่งการชัดเจนในการแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ โดยให้ทุกส่วนราชการ ปรับปรุงกำหนดหลักเกณฑ์เงินเดือน เพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ให้สถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง  ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดูแลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง กำหนดค่างวดเงินกู้ให้เหมาะสม เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้ตามความจำเป็น จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้

 

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเงินกู้ หนี้สวัสดิการของบุคลากรภาครัฐนับเป็นหนี้ขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่  ไม่ปรากฎในรายงานยอดหนี้ของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จากจำนวนบุคลากรภาครัฐจำนวน 3.1 ล้านคน เป็นลูกหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ จำนวน 1,378 แห่ง จำนวนลูกหนี้รวม 2.8 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 3 ล้านล้านบาท

 

ตามด้วย พล.อ.อนุสรรค์ คุ้มอักษร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) กล่าวในฐานะผู้บัญชาการเหล่าทัพ ขอสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หนี้สินของข้าราขการทั้งหมด มีมากถึง 3 ล้านล้านบาท และเป็นสินเชื่อสวัสดิการ หักเป็นเงินเดือนเกือบถึง 90 เปอร์เซ็นต์

 

ดังนั้น เป้าหมายสําคัญ คือ การช่วยเหลือกําลังพลที่กําลังเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ที่ยังเหลือเงินดํารงชีพไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน จากการถูกหักชําระหนี้ ทั้งจากสหกรณ์ และสถาบันการเงิน โดยภาระหนี้สิน อยู่ภายใต้เงื่อนไขการชําระที่เกินศักยภาพ

 

กล่าวอีกว่า “เราจําเป็นต้องมีระเบียบกําหนดหลักเกณฑ์ในการหักเงินเดือน ให้มีคงเหลือในการดํารงชีพไม่ตํากว่าร้อยละ 30 เปอร์เซ็นต์ ตามแนวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ปี 51”

 

ทิ้งท้ายแบบชายชาติทหาร ด้วยว่า จะลุกขึ้นมายืนหยัดเพื่อผู้ใต้บังคับบัญชา โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถือเป็นเกมเชนเจอร์ส เพราะนายจ้างจะเป็นผู้กําหนดทิศทางสินเชื่อสวัดดิการ เป็นการสร้างกระบวนการวงเงินเครดิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เป็นธรรม และยั่งยืน

 

 

ขณะที่ซีกฝั่งของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินครูเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรี ที่เอาใจใส่ ลดภาระครู เพื่อที่การศึกษาจะได้มีคุณภาพบุคลากรของ สพฐ. ที่มีจำนวน 4.5 แสนคน พบว่า เป็นหนี้ 4 แสนคน แบ่งเป็น สีแดง เหลือง และเขียว โดย รมว.ศึกษาธิการ และสพฐ. ได้จัดทำสถานีแก้หนี้ 245 เขตพื้นที่การศึกษา

 

“มีครูลงทะเบียนแก้หนี้รอบแรก 6,251 คน ดำเนินการแก้หนี้กลุ่มสีแดงที่ถูกฟ้องแล้ว 1,000 คน ซึ่งสพฐ.จะดำเนินการโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และหลังจากนี้ จะพัฒนาให้ความรู้ทักษะด้านการเงินแก่บุคลากรด้วย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

 

สุดท้าย นายกเศรษฐา กล่าวขอบคุณ และชื่นชมในความตั้งใจทำงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนตัวเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่ได้ประสบปัญหาเยอะแบบเดียวกับข้าราชการอีกหลายแสนคน “...ข้าราชการเหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ แต่ยังมีหนี้สินชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำงานเท่าไรก็ไม่พอใช้ดอกเบี้ย ถือเป็นสารตั้งต้นหายนะของประเทศ”  

 

นายเศรษฐากล่าวถึงต้องขอใช้คำนี้ เพราะไม่ใช่แค่เพียงมีเงินไม่พอ แต่หันไปพึ่งสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ยาเสพติด เพื่อทำให้จิตใจดีขึ้น สบายใจขึ้น ถือเป็นความเข้าใจผิด หรือไปทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นสารตั้งต้นที่ไม่ถูกต้อง

 

ดังนั้น การรวมตัวกันในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายว่า ไม่ต้องออกจากราชการ มีเงินใช้ 30% รวมถึงสินเชื่อพิเศษลดดอกเบี้ย ตนเข้าใจหลายหน่วยงานมีเป้าหมายของตัวเอง ต้องหวังเรื่องการปันผลหรือผลกำไร การที่ต้องเฉือนเนื้อเพื่อลดกำไรถือเป็นเรื่องที่ดี และฝากให้หน่วยงานสหกรณ์เข้ามาร่วมโครงการนี้ให้มากขึ้น ขอให้ทำงานหนักขึ้น เชิญให้เข้ามาอยู่ในระบบให้มากขึ้น

 

ยังกล่าวแบบให้กำลังใจ อีกว่า แม้ว่าแบงก์ชาติจะไม่ลด แต่หน่วยงานสหกรณ์ต้องช่วยกันลด จึงขอขอบคุณจากใจจริง และเชื่อว่าข้าราชการในหน่วยงานนั้น ก็ขอบคุณเช่นเดียวกัน

 

เพราะทุกวันนี้ หนี้สินเหล่านี้ไม่ได้ลดลงไป แม้ทุกคนที่อยู่ตรงนี้จะมีขีดจำกัดในการทำงาน เพราะเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ เข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานจะต้องหาวิธีการในการแก้ปัญหา ขอให้ทะเยอทะยานมากขึ้น พยายามช่วยเหลือประชาชนให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

 

แม้ว่า การแถลงแนวทางแก้หนี้บุคลากรภาครัฐ จะไม่ตรงปก แต่ EDUNEWSSIAM ขอตั้งจิตภาวนาและเอาใจช่วย “ขอให้จบในรัฐบาลชุดนี้"

 

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage