ข้อสอบ PISA ยาขมหม้อใหญ่การศึกษาไทย สภาการศึกษา ยังอ่านโจทย์ไม่จบ

 

ข้อสอบ PISA ยาขมหม้อใหญ่การศึกษาไทย

สภาการศึกษา ยังอ่านโจทย์ไม่จบ 

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ บรรณาธิการ

 

...การนำรูปแบบการทดสอบ PISA เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวัดประเมินผลในโรงเรียน ควรพิจารณาให้รอบคอบ ควรคำนึงถึงการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการสอนและการเรียนรู้  ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้แบบองค์รวม และ เสริมสร้างทักษะการใช้ความรู้ในชีวิตจริง ไม่ใช่เพียงเพื่อการทำคะแนนทดสอบ การประเมินผล มีความยืดหยุ่นและหลากหลายเพื่อรองรับความต้องการและศักยภาพของนักเรียนทุกคน...

 

 

จากผลจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึก ล่าสุด ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา นำคณะฯ รับฟังความคิดเห็น ครู ศึกษานิเทศก์ นักเรียน และ บุคลากร  เพื่อเป็นแนวทางยกระดับผลการทดสอบ PISA ของเด็กไทย ในปีที่จะถึงรอบการประเมินถัดไป คือ PISA 2025 ทราบมาว่า เน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านเป็นหลัก

 

แปลกใจว่า สภาการศึกษา เพิ่งรู้จากนักเรียนสะท้อนปัญหาโจทย์ข้อสอบ PISA “ค่อนข้างยาว-ซับซ้อน-ยาก” เหนือกว่าเนื้อหาในชั้นเรียน

 

นักเรียนตัวแทน บอกว่า “ข้อสอบ PISA มีความยากมากกว่าเนื้อหาในชั้นเรียน นอกจากจะต้องประยุกต์ใช้องค์ความรู้ ด้านวิชาวิทยาศาสตร์  และ คณิตศาสตร์แล้ว ยังต้องใช้การแก้ปัญหาซับซ้อนด้านการอ่านโจทย์ ที่มีบทความที่ค่อนข้างยาว ขณะที่นักเรียนบางส่วนทำข้อสอบไม่ทัน

 

ตัวแทนครู บอกว่า “ข้อสอบนั้น ไม่ได้ใช้ความรู้ขั้นสูง แต่เน้นการใช้ความรู้พื้นฐานมาประยุกต์ใช้” แต่ที่นักเรียนทำข้อสอบยาว ๆ ได้ เกิดจากครูฝึกฝนการอ่านและสรุปความ

 

กลุ่มที่น่าสนใจไม่น้อย ศึกษานิเทศก์ ให้นำเสนอความเห็นการสอบ PISA ที่ผ่านมาที่น่าสนใจ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ ควรยกระดับผลการทดสอบ PISA หลายประเด็น  

 

ควรนำรูปแบบการทดสอบ PISA มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวัดประเมินผล เพื่อยกระดับการทดสอบโรงเรียนทั่วไทย แต่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ และ ต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การปรับใช้นั้นสอดคล้องกับบริบทการศึกษาและวัฒนธรรมของไทย สามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืน

ควรเร่งดำเนินการ ด้านการประชาสัมพันธ์ ให้ทั่วถึงอย่างเร่งด่วนที่สุด ควรให้โรงเรียนทุกแห่งในประเทศได้มีภูมิความรู้เกี่ยวกับการสอบ PISA ความสำคัญของการวัดทักษะนักเรียนผ่าน PISA ทั้งรูปแบบข้อสอบ ระบบการสอบ วิธีการสอบ และเนื้อหาข้อสอบ

ควรปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ให้สอดคล้องกับทักษะและความสามารถที่ PISA วัด เช่น เน้นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา

● สุดท้าย คือ นำข้อสอบตัวอย่างจาก PISA เป็นเครื่องมือเสริมมาใช้ในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนและคุ้นเคยกับรูปแบบข้อสอบและวิธีการคิดที่ต้องใช้

 

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมุมมองที่น่าคิด หวังอยู่ในใจว่า สภาการศึกษา ป่านนี้คงนำเรียน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.และคณะ สู่การแก้ปัญหาเพื่อสั่งการหรือเป็นนโยบาย สร้างผลงานให้สมกับที่เคยประกาศว่า PISA เป็นวาระแห่งชาติ โดยพลัน

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของ PISA คือ ต้องการเปรียบเทียบความสามารถทางการศึกษาของนักเรียนของแต่ละประเทศในระดับนานาชาติ ให้มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนในระบบการศึกษาของตน เพื่อสามารถนำผลประเมินไปปรับปรุงระบบการศึกษา ทะยานสู่ระดับสากลได้ดียิ่งขึ้น  

 

เนื่องจาก ข้อสอบ PISA ถูกออกแบบมา เพื่อวัดความสามารถของนักเรียน ในการใช้ความรู้และทักษะทางการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในบริบทของชีวิตจริง ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น

 

ดังนั้น นักเรียนที่เข้าทดสอบ จึงต้องใช้ความรู้และการคิดวิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง ที่ผู้เรียนอาจพบเจอในชีวิตประจำวัน หรือ คาดหมายในอนาคต โดยนำทฤษฎีหรือความรู้จากการเรียนรู้มา ใช้ตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผล มากกว่าการท่องจำ

 

เช่น การใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ในการวางแผนการเงิน หรือ การคำนวณ เพื่อหาค่าใช้จ่ายในการทำโครงการ หรือใช้ความรู้และข้อมูลที่ได้เรียนรู้มาประกอบการตัดสินใจ ในสถานการณ์ที่ต้องการการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติ เลือกที่จะทำหรือไม่ทำ โดยพิจารณาจากข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ 

 

ดังนั้น การอ่านยังต้องทำความเข้าใจในข้อมูลจากแหล่งที่มาหลากหลายประเภทในข้อสอบ เช่น ตัวอักษร ภาพ และกราฟิก ย่อมมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับทักษะการอ่าน ย่อมช่วยให้นักเรียนไทยเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลได้ดี เช่นกัน

 

หากมองในมุมนักเรียนไทยดังกล่าว อาจเป็นทักษะที่ไม่คุ้นเคย หรือ แทบไม่ได้รับการเน้นย้ำในระบบการศึกษาปกติ จึงมิแปลกที่ยากทำข้อสอบให้ดีได้

 

เมื่อมองจากการที่นักเรียนสะท้อนว่า ข้อสอบ PISA มีการใช้ข้อความยาว จึงทำข้อสอบไม่ทัน  

อีกทั้ง การเตรียมตัวก่อนสอบด้วยการทำโจทย์ประเภทที่คาดว่า อาจจะพบในข้อสอบ รวมทั้งการอ่านเอกสารหรือบทความที่มีความยาวและความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ก็มีผลมิใช่น้อย จึงมีคำตอบแล้วว่า ต้องเกิดจากครูฝึกฝนการอ่านและสรุปความ 

 

จะเห็นว่า การสกัดข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อความ หรือ กราฟิกเป็นสิ่งที่จำเป็น นักเรียนไทย อาจพบว่า ท้าทาย

 

 

ดังนั้น การปรับปรุงหลักสูตร เพื่อให้มีการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์, การเรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณ, และการใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาจริง อาจช่วยให้คะแนน PISA ดีขึ้น.และสอดคล้อง กับ การเน้นทักษะในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นเหตุเป็นผลที่ไม่อาจละเลยได้

 

อย่างไรก็ตาม การมีข้อแนะนำให้ใช้ข้อสอบ PISA ที่ผ่านมาเพื่อเตรียมตัว หรือในลักษณะ การเปิดติว” หรือ"กวดวิชา" เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการทดสอบในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่ มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรพิจารณา

 

ในมุมบวก คือ การเพิ่มความคุ้นเคยกับรูปแบบของข้อสอบ และ ประเภทของโจทย์ สามารถช่วยให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการทดสอบ อีกทั้งการฝึกทำโจทย์ที่ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์และการประยุกต์ สามารถช่วยพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ ก็จริง

 

แต่ผลเสียที่ตามมา การเน้นการเตรียมตัวเพื่อการทดสอบ อาจจำกัดโอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนาความสามารถอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ และหากมุ่งเพิื่อการเตรียมตัวเน้นไปที่การท่องจำแบบข้อสอบ โดยไม่เข้าใจหลักการและการนำไปประยุกต์ใช้จริง

 

อาจทำให้ผลสอบไม่สะท้อนความสามารถจริง และเสี่ยงต่อการจำกัดการเรียนรู้

 

จะดีกว่าไหม หากสภาการศึกษา และ องค์กรที่รับผิดชอบ ควรมีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสร้างความตระหนักและความเข้าใจในหมู่นักเรียน ครู ผู้บริหาร รวมถึงนักวิชาการ เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และวิธีการของ PISA ในเชิงรุกอย่างเป็นระบบที่ต่อเนื่อง

 

ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับและความเชื่อมั่นในการทดสอบ PISA จะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการจัดการกับข้อจำกัดและความท้าทายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องมีการร่วมมือและการพัฒนาอย่างจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ส่วนเสียงสะท้อนให้นำรูปแบบการทดสอบ PISA เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวัดประเมินผลในโรงเรียน ควรพิจารณาให้รอบคอบ

 

ที่สำคัญ ควรคำนึงถึงการปรับปรุง พัฒนารูปแบบการสอนและการเรียนรู้  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้แบบองค์รวมและทักษะการใช้ความรู้ในชีวิตจริง

 

ไม่ใช่เพียง เพื่อการทำคะแนนทดสอบ การประเมินผลควรมีความยืดหยุ่นและหลากหลายเพื่อรองรับความต้องการและศักยภาพของนักเรียนทุกคน

 

รวมถึง การระดมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อสร้างความตระหนักและการสนับสนุนจากชุมชนจากทุกภาคส่วน เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนทรัพยากรเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ อย่างจริงจัง   

 

ทั้งหลายทั้งปวง หวังว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ควรได้มีส่วนได้รับรู้ ในฐานะผู้ร่วมทางต้องรับรับผิดชอบโดยเร็ว เช่นกัน

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ 

https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage