สสส. – มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก – สภากาชาดไทย สนับสนุนความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ

 

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “สนับสนุนความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ” สสส. หนุนเสริมชุมชนเข้มแข็งจัดการภัยพิบัติ โดยชุมชนท้องถิ่น ชูศูนย์ฝึกอบรม ต.เกาะขันธ์ พัฒนาพี่เลี้ยงอาสาสมัครเกิดเครือข่าย จ.นครศรีธรรมราช 30 ตำบล ขยายเครือข่ายอาสาภาคใต้ 14 จังหวัด 378 คน เกิดเครือข่ายครอบคลุมภูมิภาคอื่น 15 จังหวัดทั่วประเทศ

 

เวลา 14.00 น. วันที่ 4 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุมโสมกิติยาภา ที่ทำการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)  ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ ระหว่าง มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่าย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ จ.นครศรีธรรมราช

 

 

โดยพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ ในวันนี้ได้รับเกียรติจากภาคีเครือข่าย 4 หน่วยงาน เข้าร่วมพิธีลงนาม นายไชยวัฒน์  จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่างสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จ่าโทโกเมศร์ ทองบุญชู ประธานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

 

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวว่า มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดตั้งตามพระดำริของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่ง องค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมกันเกื้อหนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยากจากอุทกภัยที่รุนแรง เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือในเรื่องอุทกภัยอย่างครบวงจรให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตอย่างปกติได้อย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิ ฯ ได้ดำเนินงานตาม พันธกิจ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเฝ้าระวังก่อนเกิดอุทกภัย การบรรเทาทุกข์ระหว่างเกิดอุทกภัย และการฟื้นฟูหลังเกิดอุทกภัย

 

 ในการทำงานร่วมกับชุมชน มูลนิธิ ฯ น้อมนำพระดำริขององค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ในการให้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Community-Based Disaster Risk Management: หรือ CBDRM) มาใช้ โดยที่ผ่านมา มูลนิธิ ฯ ได้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นจริง ผนวกเข้ากับ ข้อมูลสารสนเทศ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับ เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ทั้ง 19 แห่งทุกภูมิภาค เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้ในการสร้างระบบเตือนภัยของชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการภัยในพื้นที่ของตนเอง โดยเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็น 1 ใน เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) และเป็นตัวอย่างความสำเร็จของทีมอาสาสมัครภาคประชาชน ที่นอกจากจะเข้าใจบริบทของพื้นที่เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีองค์ความรู้จากการอบรมพัฒนา “ทักษะอาสาสมัคร” และ “การบริหารจัดการภัยพิบัติ” ถือว่าการจัดการภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หรือ CBDRM นั้นมีความสำคัญ” ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว

 

 

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. เห็นถึงศักยภาพของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงสนับสนุนความเข้มแข็งการจัดการภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดศูนย์ฝึกอบรมการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ฝึกอบรมให้กับพื้นที่ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ยกระดับพื้นที่ที่มีความพร้อม สนับสนุนเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ จ.นครศรีธรรมราช จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการจัดการภัยพิบัติให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยนำร่องที่ศูนย์ฝึกอบรม ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มีพี่เลี้ยงอาสาสมัคร 78 คน มีเครือข่าย 30 ตำบล มีอาสาสมัครกว่า 500 คน ในจ.นครศรีธรรมราช และสามารถขยายเครือข่ายอาสาสมัครทั้งในพื้นที่ภาคใต้ครอบคลุม 14 จังหวัด 378 คน และในภูมิภาคอื่น 15 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี อุทัยธานี พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน เชียงราย จันทบุรี ชัยภูมิ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มีอาสาสมัครรวม 262 คน

 

การพัฒนาเครือข่ายจัดการภัยพิบัติเน้นพัฒนา 3 ส่วน 1. พัฒนาศักยภาพบุคลากร วิทยากรอบรม 2. พัฒนาหลักสูตรการจัดการภัยพิบัติ และอาสาสมัครให้มีความเชี่ยวชาญรับมือ และตอบโต้กับภัยพิบัติ 3. พัฒนาเตรียมความพร้อมศูนย์ฝึกอบรม อุปกรณ์ สถานีฝึกอบรม นอกจากนี้ยังพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนร่วมป้องกัน แก้ไข บรรเทา  ฟื้นฟูภัยพิบัติ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 5 ฝ่ายครั้งนี้ เป็นการสานพลังขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลจัดการภัยพิบัติ สร้างเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ บูรณการการทำงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การจัดการภัยพิบัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตต่อไป” ดร.นิสา กล่าว

 

 

จ่าโทโกเมศร์ ทองบุญชู ประธานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ จ.นครศรีธรรมราช ก่อตั้งในปี 2547 หลังจากเหตุการณ์สึนามิ รวมตัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติเนื่องจากตระหนักถึงการช่วยเหลือ ฟื้นฟูภัยที่เกิดจากธรรมชาติ ในช่วงแรกเป็นอาสาสมัครที่ทำด้วยใจ แต่ยังไม่มีองค์ความรู้ในการจัดการ สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนให้องค์ความรู้การจัดการ หลักสูตรการเรียนการสอน สู่เครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ต่าง ๆ จนปัจจุบันเกิดเครือข่ายจัดการภัยพิบัติทั่วประเทศ ที่ร่วมปฏิบัติการจริงช่วยเหลือในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ดินโคลนถล่มครั้งรุนแรงที่สุด ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ น้ำท่วมใหญ่โคราช น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในพื้นที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และจ.นราธิวาส โดยมีภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในยามวิกฤต พร้อมทั้งช่วยเหลือด้านอาหาร สิ่งของจำเป็นแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ ลำเลียงอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย รวมทั้งตั้งโรงพยาบาลสนามขนย้ายทีมแพทย์ และพยาบาลเข้าพื้นที่ประสบภัยช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในพื้นที่

 

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

 

โดยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 มูลนิธิ ฯ ได้จัดการประชุมหารือการจัดทำหลักสูตรระบบการจัดการภัยพิบัติ (8 ระบบ) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ (ทั่วไป) และ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ จากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเครือข่ายจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับความกรุณาจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับระเบียบกฎหมาย หลักการจัดการสาธารณภัย และหลักวิชาการ จนเป็นที่เรียบร้อย หลักสูตรนี้ จะเป็นฐานในการหนุนเสริมให้ชุมชนที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร สามารถจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง กล่าวคือ ชุมชนสามารถสร้างระบบการเฝ้าระวังภัยพิบัติในพื้นที่ของตนเองได้ เกิดเป็นอาสาสมัครที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยระหว่างเกิดภัย ตลอดจนการพัฒนาเชิงพื้นที่ในการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น 28 ตำบล ใน 4 ภูมิภาค โดยการสนับสนุนทั้งจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้ปรับปรุงหลักสูตร และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะช่วยให้ชุมชนในแต่ละภูมิภาค สามารถรับมือกับการภัยพิบัติที่จะเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  และลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

 

 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย

น.ส. ชลาลัย ทองอ่อน / ผู้จัดการแผนกบริหารภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร / มือถือ 088-2424501