"จัดอบรมครูแม่ไก่" เพื่อเป็นนักสร้างข้อสอบตามแนว PISA อาจเผชิญปัญหาคุณภาพการศึกษายั่งยืน
วิชชา เพชรเกษม : edunewssiam รายงาน
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงเรียนปลาดาว อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ผ่านการคัดเลือกจากโรงเรียน 1,000 แห่ง ใน 80 ประเทศทั่วโลก ให้เป็น 1 ใน 10 โรงเรียนสุดท้าย ที่ดีที่สุดในโลกประเภทนวัตกรรม (World's Best School Prize for Innovation) ประจำปี 2024 ถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นและยิ่งใหญ่ในวงการการศึกษาไทย และล่าสุดก็ติด 1 ใน 3 ของหมวดนวัตกรรม
เกี่ยวกับรางวัลนี้ เท่ากับเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับโรงเรียนปลาดาว ประเทศไทย จะได้แสดงผลงานและนวัตกรรมทางการศึกษา ให้กับผู้นำด้านการศึกษาระดับโลก ที่จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดการศึกษาโลกที่เมืองดูไบ ในวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งจะมีการประกาศผลผู้ชนะที่แท้จริงของรางวัลนี้ในงาน
ก่อนหน้ายังมีการลุ้นรางวัลพิเศษ คือ Community Choice Award ซึ่งมาจากผลที่เปิดให้โหวตสาธารณะทางอินเทอร์เน็ต เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แม้ไม่ใช่รางวัลชนะเลิศหลัก แต่จะประกาศผู้ชนะในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่งานเสมือนจริง ในงานประชุมสุดยอดด้านการศึกษาโลก เมืองดูไบ เช่นกัน
ซึ่งขณะนี้แม้ว่า โรงเรียนปลาดาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ยังต้องรอผลในช่วงเวลานั้นเช่นกัน แต่ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของนวัตกรรมการศึกษา สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งไม่เพียงแค่สำหรับโรงเรียนปลาดาวแห่งเดียว แต่ยังกระจายไปยังโรงเรียนอื่น ๆ นำไปใช้ในกว่า 500แห่งในประเทศไทยอีกด้วย
สิ่งนี้น่าจะเป็นที่มาของการสร้างบทเรียนและแรงบันดาลใจสำคัญให้กับกระทรวงศึกษาธิการไทย (ศธ.) ที่กำลังมีแผนจัดอบรมครูเพื่อตอบสนองการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญมิใช่น้อย
และดูเหมือนว่า แผนการจัดอบรมครู (ครูแม่ไก่) ของ ศธ. เพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามแนว PISA ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 3 วิชา วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ในรูปแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออนไซต์ เพื่อให้ครูสามารถนำแนว PISA ไปปรับใช้ในการออกข้อสอบปลายภาคได้ทัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ถือเป็นก้าวหนึ่งในการตอบสนองต่อการท้าทายระดับสากล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง โดยเพิ่มโอกาสให้ครูจากทั่วประเทศสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางซึ่งเป็นทักษะสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า การพัฒนาเพียงเพื่อปรับใช้แนวทางการออกข้อสอบอาจไม่เพียงพอสำหรับการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นความท้าทายที่อาจเป็นข้อจำกัดแห่งความสำเร็จ เนื่องจากการอบรมครูแม่ไก่ที่ว่านี้ มุ่งเน้นให้ครูสามารถออกข้อสอบ PISA ได้ภายในเวลาอันสั้น อาจทำให้ครูขาดทักษะในการบูรณาการการเรียนการสอนระยะยาว หากไม่มีการสนับสนุนหรือการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง หากการอบรมเพียงแค่เน้นให้ครูออกข้อสอบปลายภาคตามแนว PISA โดยไม่ปรับปรุงวิธีการสอนในห้องเรียน อาจทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาจริงได้ การอบรมควรมีการเชื่อมโยงกับการสอนในห้องเรียนอย่างชัดเจน
ซึ่งหลักการออกข้อสอบที่ดีตามแนวทาง PISA ต้องการมากกว่าการอบรมครูเพียงเพื่อให้ทำข้อสอบได้สำเร็จเท่านั้น แต่ครูควรได้รับการฝึกฝนในการนำแนวคิดการสอนที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหามาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้การออกข้อสอบสะท้อนการเรียนรู้ในห้องเรียนมากยิ่งขึ้น
เนื่องจาก การพัฒนาทักษะการสอนเชิงลึกที่สามารถปรับใช้ในห้องเรียนและสอดคล้องกับหลักการของ PISA เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การออกข้อสอบที่ดีตามแนวทาง PISA น่าจะมีอะไรที่มากกว่าการจัดอบรมครูเพียงเพื่อให้ทำข้อสอบได้สำเร็จตามนโยบายเจ้ากระทรวงฯ ครูควรได้รับการฝึกฝนในการนำแนวคิดการสอนที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหามาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้การออกข้อสอบสะท้อนการเรียนรู้ในห้องเรียนมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การสร้างครูที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์และการใช้เทคโนโลยีในชั้นเรียน รวมถึงการสนับสนุนจากกระทรวงในการจัดหาทรัพยากรและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและสื่อการสอนยังคงเป็นความสำคัญแห่งความสำเร็จเช่นกัน หากครูยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดในเรื่องจำนวนชั่วโมงสอน การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นได้ยาก
บทสรุปเรื่องนี้ โรงเรียนปลาดาว ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้นวัตกรรมการสอนที่ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานอย่างการอ่าน การเขียน และการคิดเลข (3R) แต่ยังส่งเสริมการเรียนรู้ ผ่าน Project-Based Learning (PBL) และ Makerspace ซึ่งช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างยั่งยืน