แต่งตั้งโยกย้ายเขตพื้นที่ฯ ปัญหาอื้อ นายกส.บ.ม.ท.จี้ อ.ก.ค.ศ.ปลดล็อก องค์ประกอบ

สมาคมผู้บริหารมัธยมฯ (ส.บ.ม.ท.) วอนขอยกเลิกการประเมิน PA เลื่อนวิทยฐานะ ...

 

แต่งตั้งโยกย้ายเขตพื้นที่ฯ ปัญหาอื้อ

นายกส.บ.ม.ท.จี้ อ.ก.ค.ศ.ปลดล็อก

องค์ประกอบ

 

นายณรินทร์ ชำนาญดู นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา มีทั้งหมด 11 คน ถือเป็นองค์คณะบุคคลที่รับผิดชอบการบริหารบุคคลของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ตั้งแต่การกำหนดตำแหน่ง การบรรจุและแต่งตั้ง การพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพ และการเกษียณอายุราชการออกจากองค์กร โดย องค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา

 

ซึ่งองค์คณะบุคคลดังกล่าวประกอบด้วย

ประธานอนุกรรมการ 1 คน อนุกรรมการผู้แทน จำนวน 3 คน มาจากผู้แทนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) 1 คน นายอำเภอหรือผู้แทน 1 คน ผู้แทนคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) 1 คน

อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน มาจากด้านการบริหารงานบุคคล 1 คน ด้านกฎหมาย 1 คน ด้านการศึกษา หรือ ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานบุคคล 1 คน

อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3 คน มาจาก ครู 1 คน ผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน บุคลากรทางการศึกษาอื่น 1 คน และ

อนุกรรมการและเลขานุการ 1 คน คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

 

ปรากฎว่าการดำเนินการเกือบ 2 ปี พบว่า ประธาน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งถูกเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การบริหารการศึกษา หมายรวมถึงการบริหารงานบุคคล ของข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย ไม่สามารถแสดงบทบาทการนำที่ประชุม การให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นที่แสดงเป็นประโยชน์ได้

 

รวมถึงผู้แทนนายอำเภอส่วนใหญ่มีภารกิจงานอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าประชุมได้ด้วยตนเอง จึงมักมอบหมายให้บุคคลอื่นมาประชุมแทนส่งผลให้บทบาทจากข้อเสนอแนะ ให้ข้อคิดเห็นในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีข้อจำกัด และอาจส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาในภาพรวม

 

ที่ผ่านมา ประธานอ.ก.ค.ศ.จะมีทั้งบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่มาจากสาขาวิชาชีพอื่น อาทิ ทหาร หมอ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งบางคนอาจไม่มีความรู้เรื่องบุคลากรทางการศึกษา ขณะที่บุคลากรทางการศึกษาไม่เคยเข้าไปเป็นบอร์ด หรือมีส่วนร่วมกับเรื่องของบุคคลกรของวิชาชีพเหล่านั้นเลย

 

โดยเฉพาะในช่วงที่มีการโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนและครู มักสร้างความกดดันให้เขตพื้นที่ฯ อาจต้องเลือกผู้ที่ไม่มีความเหมาะสมเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้บุคลากรทางการศึกษาถือเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่มีความรู้ความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร

 

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงาน ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากให้ปลดล็อกเรื่องดังกล่าว และขอเสนอให้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ที่มีความรู้และประสบการณ์ มาเป็นประธาน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ และให้ยกเลิกผู้แทนนายอำเภอ ใน อ.ก.ค.ศ เขตพื้นที่การศึกษา เนื่องจากมีภารกิจงานอื่น ๆ และต้องส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม” นายณรินทร์ นายกสมาคม ส.บ.ม.ท. กล่าว