สหประชาชาติหนุน ห้ามใช้ "สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต" ในห้องเรียน แต่กระทรวงศึกษาไทยกำลังจะซื้อ
วิชชา เพชรเกษม : EDUNEWSSIAM รายงาน
❝...ยูเนสโก ระบุในรายงาน Global Education Monitor ปี 2023 ว่า มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมูลค่าให้กับการศึกษา หลักฐานส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทการศึกษาเอกชน ที่พยายามขายผลิตภัณฑ์การเรียนรู้ดิจิทัล ทั้งนี้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของพวกเขาต่อนโยบายการศึกษาทั่วโลก คือ “สาเหตุที่น่ากังวล” และขอให้ผู้กำหนดนโยบายอย่าละเลย "มิติทางสังคม"...❞
สำนักข่าวการศึกษา edunewssiam เก็บรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในช่วงกลาง ปี 2566 แนะนำ "ควรมีการห้ามใช้สมาร์ทโฟนในโรงเรียน เพื่อรับมือกับปัญหาห้องเรียนหยุดชะงัก เพิ่มระดับการเรียนรู้ และช่วยปกป้องเด็ก ๆ จากการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ชี้ส่งผลเสียต่อการศึกษา"
ยูเนสโก (UNESCO) หน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ มีหลักฐานว่า การใช้โทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต มากเกินไปจะเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการศึกษาที่ลดลง และการใช้เวลาบนหน้าจอนาน ๆ จะส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็ก
ยูเนสโกกล่าวถึงการเรียกร้องให้แบนสมาร์ทโฟนเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนว่า เทคโนโลยีดิจิทัลโดยรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ ควรอยู่ภายใต้การศึกษาที่มี “มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” เสมอ และไม่ควรแทนที่ปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้าระหว่างนักเรียนกับครู
ยูเนสโกยังเตือนผู้กำหนดนโยบายในสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง ให้ระวังการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลแบบไม่คิด
โดยอ้างว่า ผลเชิงบวกในเรื่องของการเรียนรู้และประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจอาจถูกนำเสนอเกินจริงไป และสิ่งใหม่ ๆ ก็ไม่ได้ดีกว่าเสมอไป
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดไม่ได้ถือเป็นความก้าวหน้า เพียงเพราะบางสิ่งสามารถทำได้ไม่ได้หมายความว่าควรทำ” หน่วยงานกล่าวสรุป
ด้วยการเรียนรู้ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ยูเนสโกจึงขอให้ผู้กำหนดนโยบายอย่าละเลย “มิติทางสังคม” ของการศึกษาที่นักเรียนจะได้รับจากการสอนแบบเจอหน้าเจอตัวกัน
ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการยูเนสโก กล่าวว่า “การปฏิวัติทางดิจิทัลมีศักยภาพที่ประเมินค่าไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเตือนว่าควรมีการควบคุมอย่างไรในสังคม จะต้องให้ความสนใจเช่นเดียวกันกับวิธีการใช้ในการศึกษา”
เธอเสริมว่า “การใช้งานจะต้องเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนและครู ไม่ใช่เพื่อผลเสียต่อพวกเขา รักษาความต้องการของผู้เรียนเป็นอันดับแรกและสนับสนุนครูผู้สอน การเชื่อมต่อออนไลน์ไม่สามารถแทนที่ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ได้”
ยูเนสโกยังระบุในรายงานด้วยว่า ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่าพวกเขามีวัตถุประสงค์และหลักการที่ชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีดิจิทัลในการศึกษามีประโยชน์และหลีกเลี่ยงอันตราย ทั้งต่อสุขภาพของนักเรียนแต่ละคน และต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
ยูเนสโก ยังอ้างถึงข้อมูลการประเมินระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่บ่งชี้ถึง “ความเชื่อมโยงเชิงลบ” ระหว่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากเกินไป กับ ผลการเรียนของนักเรียน หากนักเรียนใช้เทคโนโลยีมากเกินไปหรือไม่เหมาะสม ทั้งในห้องเรียนและที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อป อาจทำให้เสียสมาธิ ก่อกวน และส่งผลเสียต่อการเรียนรู้
ยูเนสโกระบุในรายงาน Global Education Monitor ปี 2023 ว่า มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมูลค่าให้กับการศึกษา แต่ หลักฐานส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทการศึกษาเอกชน ที่พยายามขายผลิตภัณฑ์การเรียนรู้ดิจิทัล ทั้งนี้ อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของพวกเขาต่อนโยบายการศึกษาทั่วโลก คือ “สาเหตุที่น่ากังวล”
จากการวิเคราะห์ระบบการศึกษาใน 200 ประเทศทั่วโลก ยูเนสโกประเมินว่า 1 ใน 6 ประเทศ จะสั่งห้ามใช้สมาร์ทโฟนในโรงเรียน ไม่ว่าจะผ่านกฎระเบียบทางการหรือเป็นเพียงคำแนะนำก็ตาม ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส ซึ่งประกาศใช้นโยบายดังกล่าวตั้งแต่ปี 2018 และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแผนเริ่มใช้ข้อจำกัดตั้งแต่ ปี 2024 เป็นต้นไป
ร็อบเบิร์ต ดิจก์กราฟ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของเนเธอร์แลนด์ ประกาศในเดือน ก.ค. 2566 ว่า “นักเรียนต้องมีสมาธิและต้องได้รับโอกาสในการเรียนหนังสือให้ดี โทรศัพท์มือถือเป็นตัวก่อกวน ตามที่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ เราต้องปกป้องนักเรียนจากสิ่งนี้”
ตรงกันข้ามในประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) กำลังวางยุทธศาสตร์ในการชักชวนให้สังคมเห็นด้วยกับการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการโยนหินถามทางถึงจะจัดซื้อหรือเช่าซื้อแท็ปเล็ต มีผลเชิงบวกในเรื่องของการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ที่ผูกโยงนโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์กับการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบันในสภาวะที่โลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ตามด้วยยุทธศาตร์เชิงรุก คือ การขานรับจากมวลสมาชิกสภาผู้แทนในพรรคร่วมรัฐบาล อภิปรายสนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะได้รับการจัดสรรงบประมาณแท็บเล็ตจํานวน 600,000 เครื่อง ไม่เพียงให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมปลายเท่านั้น
แต่ยังอยากเห็นนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีครูไม่ครบชั้น ไม่ครบสาระวิชา รวมทั้งนักเรียนที่หลุดออกจากนอกระบบการศึกษา ซึ่งมีจํานวนอยู่ประมาณ 1 ล้านคน อีกด้วย
โดยไม่สนใจที่จะคิดทบทวนรายงานขององค์การสหประชาชาติ แนะนำว่า ควรมีการห้ามใช้สมาร์ทโฟน หรือ แทบเล็ต ในโรงเรียน เนื่องจากสิ่งใหม่ ๆ ก็ไม่ได้ดีกว่าเสมอไป แถมยังส่งผลเสียต่อการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของ นายสานิตย์ พลศรี ชัยภูมิ ให้ความเห็นในเรื่องจากจัดซื้อ โน้ทบุ้ค และไอแพด แจกครู แจกนักเรียน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ด้วยวงเงินสองหมื่นล้านบาทมาเป็นสื่อในการจัดการคึกษา กลัวว่าต่อไปเด็กนักเรียนจะกลายเป็นคนติดเกมส์ ติดสื่อลามกอนาจารและสุดท้ายก็จะกลายเป็นสังคมออนไลน์ทั้งประเทศ แล้วใครจะกล้าออกมารับผิดชอบ
“ในอดีตที่ผ่านมาพวกเราก็เห็นๆกันอยู่แล้ว พอนักการเมืองหมดวาระการดำรงตำแหน่งลง พวกเขาก็หมดภาระความรับผิดชอบไปโดยปริยาย คนรับกรรมก็คือบุตรหลานคนไทยตาดำ ๆของพวกเรานั่นเองครับ” นายสานิตย์ กล่าว
อีกเสียงหนึ่งขอเป็นตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษา สตรีเหล็กจาก จังหวัดอุดรธานี ให้ความเห็นว่า ใครที่คิดจะเอาสื่อโซเชียล แท็ปเล็ต โน้ทบุ้ค และไอแพดมา เป็นสื่อในการจัดการคึกษา “ใช้คอมสอนได้ แต่จะไม่ได้คุณธรรม และยังต้องใช้คนสอนค่ะ เพราะว่าเด็กสมัยนี้พ่อแม่ ส่วนมากยังสอนลูกไม่ได้เลย เขาเลี้ยงลูกเป็นเทวดาค่ะ เขาไม่สอนผิดสอนถูก ค่ะ”
สานิตย์ พลศรี จากจังหวัดชัยภูมิ ตบท้ายอีกด้วยว่า ” นักการเมืองต้องไม่ดันเรื่องแอบอ้างเรื่อง ”เรียนดี มีความสุข" นานาอารยธรรมประเทศ ต่างออกกฎหมายมาเสนอและให้เหตุผลมากมาย ถึงการห้ามนำลื่อสมาร์ทโฟนเข้าห้องเรียน เพื่อคุ้มครองผู้เรียน
แต่บ้านเราโดยเฉพาะนักการเมืองทำไมชอบสวนกระแส หากใครคิดทำหรือพรรคการเมืองใดคิดทำ กล้าหรือไม่ว่าให้มาทำ TOR กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นในภายหลังต้องรับผิดชอบให้ถึงที่สุด
พร้อมยกรูปภาพข้างล่าง นักเรียนญี่ปุ่นนั่งรอขึ้นเครื่องกลับประเทศจองตนเอง เด็กๆเหล่านั้นเขาไม่นั่งจิ้มโทรศัพท์เหมือนบ้านเราเพราะเขามีพ่อ-แม่ดี มีครูดีคอยสั่งสอนอบรมและที่สำคัญเขามีรัฐบาลดีไม่มอมเมาประชาชน นั่นเอง
"แล้ว สส.บ้านเราเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลแล้วหรือยัง หากยังก็คงยังไม่สายเกินแก้ กลับไปคิดใหม่ทำไหม่ หรือไม่ก็ลองใช้สอนลูกหลานในครัวเรือนตนเองก่อนก็แล้วกัน หากได้ผลคุ้มค่าพวกเราจะทำตาม" สานิตย์ กล่าว
ประเมินกันว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา "แท็บเล็ตนักเรียน" เคยเป็นนโยบายติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กนักเรียนไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นงบประมาณ 7,000 ล้านบาท ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วันนี้กลายเป็นซากขยะและมลพิษ ไม่เพียงสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับชาติแล้ว ยังมีปัญหาตามมาหลายเรื่องที่สังคมไทยยังคลางแคลงใจชนิดจำได้ฝังใจ
(คลิกอ่านรายละเอียด)
https://www.edunewssiam.com/th/articles/298713 "สส.สุทธิชัย" หารือสภา ศธ.เตรียมจัดงบแจกแท็บเล็ต 6 แสนเครื่อง ม.ปลาย คงไม่พอ ควรขยายถึง นร.พื้นที่ห่างไกล ขยายโอกาส เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา
https://www.edunewssiam.com/th/articles/298655 แคลิฟอร์เนีย และอีก 13 รัฐ ในอเมริกา ไฟเขียวกฎหมาย ห้ามนักเรียนใช้สมาร์ทโฟนในโรงเรียน