ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมถกข้อท้าทายการศึกษา หลังพบสมรรถนะการเรียนรู้ ด้านการอ่านและคณิตต่ำ

 

ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมถกข้อท้าทายการศึกษา หลังพบสมรรถนะการเรียนรู้ ด้านการอ่านและคณิตต่ำ

 

เมื่อวันที่ 10 ถึง 12 กันยายน ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสต้อนรับบรรดาผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำเยาวชน และผู้แทนภาคประชาสังคม กว่า 220 คน เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 6 ว่าด้วยการศึกษา 2030 (6th Asia-Pacific Meeting on Education 2030 – APMED 6) ซึ่งจัดโดยยูเนสโก ร่วมกับยูนิเซฟ และ รัฐบาลญี่ปุ่น

 

ซึ่งการประชุมนี้ จัดขึ้นท่ามกลางวิกฤติการเรียนรู้ในภูมิภาค ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะหยุดยั้งความคืบหน้าต่อการบรรลุ SDG4 คือ เป้าหมายที่ 4 การทำให้ผู้เรียนทุกคนและรวมถึงทุกกลุ่มคนเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกระดับ การสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการขจัดความไม่เสมอภาคทางเพศภายในปี 2573

 

    ยูเนสโก ได้ระบุผลการศึกษาที่เผยแพร่ก่อนหน้าว่า

 

  • มีนักเรียนชั้นประถมศึกษา และ มัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ถึงร้อยละ 50 ที่บรรลุสมรรถนะการเรียนรู้ขั้นต่ำในด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ และมีนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ไม่ถึงร้อยละ 40 ที่เรียนจนสำเร็จการศึกษาได                      
  • มีผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 25 ถึง 54 ปีในภูมิภาคเพียงร้อยละ 2.5 ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาหรือการฝึกอบรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา                
  • ยูเนสโก ยังได้เปิดตัวความคิดริเริ่ม SDG4 Navigators (ผู้นำทาง SDG4) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาค ว่าด้วยเรื่อง SDG4 และการเรียนรู้ตลอดชีวิต                                                                                
  • ข้อแนะนำที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากเอเชียและแปซิฟิกเสนอใน APMED 6 เช่น มาตรการเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้พื้นฐาน การบรรจุเรื่องการศึกษาว่าด้วยภูมิอากาศเข้าไว้ในการศึกษากระแสหลัก การกำหนดกรอบงานสมรรถนะปัญญาประดิษฐ์สำหรับครู การเพิ่มการลงทุนสาธารณะ และการส่งเสริมความเป็นผู้นำของเยาวชน

 

ซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ กล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนที่ต้องมีแนวทางแบบองค์รวมที่จะแก้ไขวิกฤตินี้ ว่า...“ผู้เรียนต้องการมากกว่าความสำเร็จทางวิชาการ แต่ต้องการการศึกษาที่หล่อเลี้ยงความอยู่ดีมีสุข โดยมีปฏิสัมพันธ์กับโลกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงความสามารถในด้านวิชาการ สังคม และอารมณ์ ที่ส่งเสริมความยืดหยุ่นฟื้นตัวเมื่อเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกได้”

 

ดังนั้น ข้อแนะนำจากกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้จาก APMED ครั้งนี้จะได้รับการเสนอต่อการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต ซึ่งจัดขึ้นโดยสหประชาชาติในเดือนกันยายนที่นครนิวยอร์ก และ จะได้รับการเสนอต่อที่ประชุมการศึกษาโลก ณ เมืองโฟร์ตาเลซา ประเทศบราซิล ปลายเดือนตุลาคมนี้

 

จูน คูนูงิ ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ สำนักงานภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวถึงวิสัยทัศน์กับผู้เข้าประชุมว่า เด็กทุกคนในเอเชีย-แปซิฟิก สามารถเดินหน้าตามความใฝ่ฝัน และ บรรลุศักยภาพที่แท้จริงในโรงเรียนและอยู่ในระบบการศึกษา”

 

ฮิโรอากิ โมโตมูระ ผู้อำนวยการด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการของยูเนสโกในด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาช้านาน ผ่าน Funds-in-Trust ของญี่ปุ่น  กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการประชุม APMED เพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจเรื่อง SDG4 ในภูมิภาคมาโดยตลอด เพื่อขับเคลื่อนแรงส่งสู่การบรรลุวาระการศึกษา 2030

 

ดร. บาเอลา จามิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Idara-e-Taleem-o-Aagahi (ศูนย์การศึกษาและความตระหนักรู้) กองทุนทรัสต์สาธารณกุศลที่ปากีสถาน กล่าวปาฐกถาสำคัญ  ว่า “…APMED เป็นประจักษ์ถึงความพยายามมุ่งสู่เส้นทางที่ทะเยอทะยานโดยภูมิภาคที่มีความหลากหลายและเป็นที่อาศัยของประชากรโลกร้อยละ 60”

 

โลวันคอร์ ดอตสัน ผู้นำเยาวชนด้าน SDG4 วัย 20 ปี จากประเทศปาปัวนิวกินี และ สมาชิกทีมปฏิบัติการเยาวชน (YPAT) แห่ง องค์การยูนิเซฟภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “...ฉันเชื่อว่า APMED เป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับฉันที่จะนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ของประเทศของฉันในเวทีระดับโลก และสร้างการเชื่อมต่อในระดับโลกเพื่อสนับสนุนแนวคิดของพวกเรา”

 

จอห์น ทิโมธี พาลิมา สมาชิก YPAT วัย 25 ปีจากฟิลิปปินส์ กล่าวในนามเยาวชนว่า การศึกษา คือ “ความสามารถในการสัมผัสความมหัศจรรย์ ความน่าทึ่ง ศักยภาพในการเติบโตเฟื่องฟูของมนุษย์”

 

“เด็กหญิงและเด็กชายมากกว่าพันล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในภูมิภาค คือ เดิมพันของการพูดคุยครั้งนี้” เขากล่าว

 

หมายเหตุ:สำนักข่าวedunewssiam

 

วันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโก หรือ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization :UNESCO) เผยตัวเลขใหม่ของจำนวนเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือเพิ่มขึ้นถึง 6 ล้านคน ส่งผลให้ยอดรวมเด็กที่หลุดออกจากการศึกษาอยู่ที่ 250 ล้านคน

 

ยูเนสโก ระบุว่า หากประเทศต่าง ๆ ดำเนินการตามเป้าหมาย SDG4 ในระดับชาติ เด็กกว่า 6 ล้านคน จะได้เข้ารับการศึกษาในระดับปฐมวัย ขณะที่เด็กและวัยรุ่นกว่า 58 ล้านคน จะได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียน และ ครูระดับประถมศึกษาอย่างน้อยกว่า 1.7 ล้านคน จะได้รับการฝึกอบรมสำหรับการเรียนการสอน

 

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การศึกษาตอนนี้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ยังมีเด็กจำนวนหลายล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งรัดให้รัฐต่าง ๆ ระดมกำลังอย่างเร่งด่วน หากไม่ต้องการทำลายอนาคตของเด็กหลายล้านคน 

 

ด้งนั้น นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทย ต้องเร่งการดำเนินการบรรลุเป้าหมายการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อไม่ให้เด็กอีกหลายล้านคนหลุดออกจากการศึกษา ภายในปี 2573 ต้องมีเด็กเข้ามาลงทะเบียนเข้ารับการศึกษาทุก ๆ 2 วินาที จึงจะช่วยให้บรรลุ SDG4 ได้ตามหมุดหมายที่วางไว้ อนาคตของเด็กหลายล้านคนอยู่ในมือของประเทศสมาชิกทุกคน