‘สุรศักดิ์’ เล็งใช้ ‘เครดิตบูโร’ แก้หนี้ครู เปิดช่องกู้ข้ามจังหวัด เจรจาลดดอกเบี้ย ยันไม่เอาเงินหลวงมาช่วยแก้ปัญหา

 

‘สุรศักดิ์’ เล็งใช้ ‘เครดิตบูโร’ แก้หนี้ครู เปิดช่องกู้ข้ามจังหวัด เจรจาลดดอกเบี้ย ย้น’ ไม่เอาเงินหลวงมาช่วยแก้ปัญหา

 

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครู ว่า ขณะนี้ได้ส่งหนังสือเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน สำนักงานอัยการสูงสุด ฯลฯ เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว อยู่ระหว่างรออนุมัติอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานต้นสังกัด

 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ได้ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครู ในช่วงที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ดำเนินการไว้ ซึ่งมีการลงพื้นที่ มีข้อมูลที่สามารถนำมาต่อยอดได้เลยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

 

ทั้งนี้ การแก้การแก้ปัญหาหนี้สินครูจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ สีเขียว คือ ครูที่มีสภาพคล่อง สีเหลือง คือ ครูที่มีหนี้บ้างเล็กน้อย และ สีแดง คือ เป็นหนี้เสีย อาจถูกฟ้องล้มละลาย ซึ่งเมื่อมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯเรียบร้อยแล้ว จะมีการหารือเพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาในแต่ละกลุ่มต่อไป คาดว่าจะได้ชื่อคณะอนุกรรมการฯครบ และเริ่มนัดประชุมอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

เบื้องต้น ต้องมีการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน เพื่อปรับพฤติกรรมทางการเงินของครูและบุคลากรทางการศึกษา การเจรจาลดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ หากลดได้ก็จะทำให้ครูมีเงินเหลือมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันอาจจะต้องมาทบทวน มาตรการหักเงินเดือน ตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ข้อ 7 (5) ที่บัญญัติให้การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน ซึ่งออกมาเมื่อปี 2555 นั้น

 

แต่ในทางปฏิบัติพบว่า บางหน่วยงานมีการหักเงินนอกรอบ มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่น หรือไปกู้นอกระบบเพื่อมาโปะหนี้เพิ่ม

 

ดังนั้น จึงคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำข้อมูลสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ เข้าเครดิตบูโร เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้กู้แต่ละราย ประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ เนื่องจากที่ผ่านมา ข้อมูลการกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์จะไม่ปรากฏในฐานข้อมูลเครดิตบูโร

 

แต่เรื่องนี้ มีข้อดี และข้อเสีย ซึ่งมีผู้แย้งมาว่า หากนำข้อมูลดังกล่าวเข้าระบบเครดิตบูโร ก็อาจทำให้ครูขาดความน่าเชื่อถือ ตรงนี้ก็ต้องมาหาแนวทางแก้ปัญหาที่รอบคอบ

 

“...ซึ่งแนวทางที่ผมวางไว้คงไม่ใช่การนำเงินหลวงเพื่อมาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครู สิ่งที่ทำได้ คือ การเจรจาลดดอกเบี้ย รวมหนี้รีไฟแนนซ์ โดยจะเจรจาปรับลดดอกเบี้ยให้เหลือน้อยที่สุด แต่คงไม่สามารถไปบังคับให้สหกรณ์ออมทรัพย์ลดดอกเบี้ยได้ทุกแห่ง ดังนั้น อาจจะมีการเปิดช่องให้ครูเลือกกู้สหกรณ์ข้ามจังหวัดได้ เพื่อให้ครูมีโอกาสกู้ในสหกรณ์ที่มีดอกเบี้ยน้อยที่สุด

 

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า แนวทางนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ คงต้องมาดูรายละเอียดเพื่อวางมาตรการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้สินครูจะเริ่มแก้ให้กับผู้ที่เป็นหนี้ในระบบก่อน ส่วนนอกระบบคงเป็นเรื่องที่จะดำเนินการในลำดับต่อไป"  นายสุรศักดิ์กล่าว

 

จากการติดตามของสำนักข่าว edunewssiam ให้ข้อสังเกตว่า ที่ช่วงหลายปีหลายรัฐมนตรีผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูกระทรวงศึกษาฯ และ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่วมมือกันดำเนินเกี่ยวกับโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู แม้ว่า ศธ.ได้ดำเนินการมาหลากหลายวิธีการอย่างต่อเนื่อง แต่ผลการดำเนินการก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

 

ปัญหาสำคัญ คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนหนึ่ง ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ อีกส่วนหนึ่ง คือ กลุ่มครูที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ซึ่ง ศธ. พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาว่า จะดำเนินการขับเคลื่อนกันอย่างไร

 

ทั้งนี้ จากที่ ศธ. ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าครู 900,000 คนทั่วประเทศ มีครูประมาณ 80% มีหนี้สินรวมกันอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ถึง 64% คิดเป็นเงินจำนวน 8.9 แสนล้านบาท เป็นหนี้ธนาคารออมสิน 25% เป็นเงิน 3.49 แสนล้านบาท นอกนั้นเป็นหนี้ธนาคารกรุงไทยและสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่อยู่นอกระบบ

 

แม้ว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน พ.ศ. 2551 ระบุว่า ในแต่ละเดือนครูจะต้องมีเงินเดือนเหลือหลังจากชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนก็ตาม แต่ปัญหาในเชิงพื้นที่พบว่า หลายหน่วยงานไม่มีมาตรการ ไม่ดำเนินการตามระเบียบศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือน 2551

 

และ ปัญหาประการหนึ่ง คือ ประธานโครงสร้างแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เป็นปลัดศธ.อำนาจในการบังคับบัญชาหน่วยงานอื่นจึงเป็นปัญหา

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage