เอกชนร่วมเติมเต็ม “สุขาดี มีความสุข”
เด็ก-ครู มีห้องน้ำถูกสุขลักษณะ
❝...การมีส้วมใช้ ถือเป็นความจำเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค องค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) จึงหยิบยกเอาเรื่องราวของ “ห้องน้ำ” ขึ้นเป็นวาระสำคัญของผู้คนทั่วโลก หากไม่มีการจัดการส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาล รวมทั้งวิธีการใช้ส้วมที่ผิดวิธี ส้วมจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค...❞
ขณะที่อีกฝากฝั่ง องค์การสหประชาชาติ ในช่วงปี 2544 ได้หยิบยกเรื่องของ “ห้องน้ำ” ขึ้นเป็นวาระสำคัญของผู้คนทั่วโลก ประกาศให้ ทุกวันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันส้วมโลก” หรือ World Toilet Day เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ตระหนักถึงอันตรายจากปัญหาด้านสุขาภิบาลทั่วโลก
อีกทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ “ห้องน้ำ” ในฐานะเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ประชากรโลกราว 3.6 พันล้านคน ยังคงต้องเผชิญกับห้องน้ำที่ไม่ถูกสุขอนามัย ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก
กล่าวสำหรับกระทรวงศึกษาธิการ พระราชบัญญัติกำหนดว่า นักเรียน 50 คน จะต้องมีส้วม 1 ห้อง โดยกรมอนามัย กำหนดให้มีส้วม 2 แบบให้เลือกใช้ ทั้งแบบนั่งยองกับชักโครก ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 – ปัจจุบัน
แต่ก็ยังพบว่า โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล พบปัญหาสำคัญ คือ ความขาดแคลนส้วมในโรงเรียนและสภาพส้วมชำรุดไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่สะอาดมีคราบสกปรก
แม้ว่า จะมีการตอกย้ำว่า “น้ำสะอาด ห้องน้ำที่เหมาะสม และสุขอนามัยที่ดี ควรเป็นเรื่องปกติของทุกคน” เพื่อให้ทุกคนมีแนวคิดที่มีห้องน้ำห้องส้วมที่สะอาด สถานศึกษาในพื้นที่ชนบทประเทศไทยเอง ห้องน้ำมักไม่เป็นตัวเลือกแรกที่ได้รับการพัฒนา ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่อาคารเรียน สนามเด็กเล่น หรืออุปกรณ์การเรียน การกีฬา
อาจจะเป็นเพราะมีปัจจัยและเงื่อนหลายอย่างในอดีตที่ผ่านมาเป็นปัญหาหรือขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้ห้องน้ำห้องส้วมซึ่งเป็นสถานที่ที่ทุกคนต้องใช้ทุกวัน ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อเด็กนักเรียนและครูถูกลดความสำคัญไป
โดยลืมคิดไปว่า หากห้องปลดทุกข์ไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี สะอาด ถูกสุขลักษณะ ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถปลดทุกข์ให้ผู้ใช้ได้ ยังนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ ที่จะกระทบต่อการศึกษาหาความรู้ของเยาวชนของชาติ