43 ปี "อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" สร้างสุข สู่รอยยิ้ม และความยั่งยืน

 

 

 

 

 

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศนั้น มีส่วนสำคัญต่อการเสริมแผนงานต่าง ๆ ของรัฐบาลและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง อันเป็นผลจากพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงวางรากฐาน จวบจนปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการต่าง ๆ  เพื่อให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน

 

ในการดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริของหน่วยงานต่าง ๆ นั้น หากต่างฝ่ายต่างทำขาดการประสานงาน ความซ้ำซ้อนอาจเกิดขึ้น เพื่อความสอดคล้องซึ่งกันและกันอันจะบรรลุผลตามแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ รัฐบาลจึงได้จัดระบบการสนองพระราชดำริขึ้นในปี พ.ศ. 2524 โดยออก “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2524” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2524 โดยกำหนดให้มีองค์กรระดับชาติที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน กปร.”

 

 

นางสุพร ตรีนรินทร์   เลขาธิการ กปร.  เปิดเผยว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งแหล่งน้ำ คุณภาพชีวิตของพสกนิกร การสาธารณสุข การศึกษา การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงของชาติ  โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ และพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้น จำนวน 6 แห่ง ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิจัย ทดลอง ภายใต้บริบทภูมิประเทศและภูมิสังคม จนประสบความสำเร็จ แล้วนำไปขยายผลสู่ประชาชน โดยให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งด้านการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การแปรรูปผลผลิต ตลอดจนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งดิน น้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต

 

 

ปัจจุบัน มีการขยายผลศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริมากถึง 221 แห่ง กระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2567) เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย นับตั้งแต่เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ การประมง ปศุสัตว์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงการแปรรูปและหัตถกรรม  และในปี 2567 สำนักงาน กปร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พัฒนาต่อยอดผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ศูนย์สาขาฯ เกษตรกรขยายผลฯ และผลิตภัณฑ์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ได้รับเลขที่จดแจ้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อย. จำนวนกว่า 70 รายการ ทำให้มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น

 

 นอกจากการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาดในภาพรวมทั้งห่วงโซ่คุณค่าแห่งการพัฒนาแล้ว สำนักงาน กปร. ยังได้สนับสนุนด้านช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ศูนย์สาขาฯ และเกษตรกรขยายผลในพื้นที่ โดยการจัดตั้งอาคารร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย อาคารสิริพัฒนภัณฑ์ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จ.จันทบุรี ร้านเลิศพัฒนภัณฑ์ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จ.สกลนคร ร้านบวรพัฒนภัณฑ์ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จ.เพชรบุรี ร้านพิกุลเกษตรภัณฑ์ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส และร้านพวงคราม ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จ.ฉะเชิงเทรา

 

นอกจากนี้สำนักงาน กปร. ยังร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก และพืชสมุนไพรในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูประชาชนผู้มีปัญหาด้านทันตกรรม อีกด้วย  

       

 

ในโอกาสครบรอบวันสถาปนา 43 ปี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงานกปร.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานที่ร่วมสนองงานพระราชดำริ ขอสืบสานพระราชปณิธานด้วยความจงรักภักดี และจักมุ่งมั่นเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท เพื่อร่วมกันพัฒนา ส่งเสริมสร้างโอกาสขยายผลองค์ความรู้ สร้างสุข เปลี่ยนแปลงชีวิตให้มั่นคง สู่รอยยิ้ม ด้วยก้าวย่าง อย่างก้าวหน้า เพื่อความเจริญของสังคมไทยสืบไป