เลขาฯอาชีวะสั่งเข้ม สอจ.ช่วยเหลือครู นร. นศ. ปชช. ผู้ประสบอุทกภัย ตามข้อสั่งการ รมว.ศธ. ย้ำความปลอดภัยต้องมาก่อน

 

 

 

 

 

วันที่ 16 กันยายน 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดเชียงราย รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการแก้ไขปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงให้ทุกภาคส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามข้อสั่งการ

 

 

นาย ยศพล เวณุโกเศศ  กล่าวว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีความห่วงใย ครู นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทุกส่วน รวมไปถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้  จากการลงพื้นของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยรมว.ศธ. ในการตรวจเยี่ยมพื้นที่ สถานศึกษาที่ได้รับความเสียหาย และให้กำลังใจนักเรียน นักศึกษา จังหวัดเชียงราย โดย เลขาธิการกอศ. ได้สั่งการเร่งด่วนไปยังสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด (สอจ.) รวมถึงในกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย กำหนดแนวปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเตรียมการรับมือ เฝ้าระวังป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดต่อเนื่องจากจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

 

 

“มีการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ  คือ ระยะ 1  เร่งด่วน ทำทันที  ให้สอจ. เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา จัดถุงยังชีพ และโรงครัวอาชีวะ แจกอาหาร น้ำดื่ม มอบให้ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ให้ทั่วถึงทันที ซึ่งได้มอบและถุงยังชีพไปแล้วในบางพื้นที่และจะมอบต่อไปให้ทั่วถึง ส่วนระยะ 2 แผนการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟู เร่งด่วน ให้ สอจ.ใกล้เคียง จัดตั้งศูนย์บริการ fix it center ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ให้เพียงพอต่อความต้องในการบริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่างๆ เครื่องมือการเกษตร รถจักรยานยนต์ เป็นต้น รวมถึงช่วยขนย้ายสิ่งของ ซ่อมแซม ฟื้นฟูอาคารสถานที่ของสถานศึกษาในสังกัด สอศ. สถานศึกษา อื่นๆ และบ้านเรือน ทันที”

 

 

เลขาธิการกอศ. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มีรายงานต่อเนื่องถึงมวลน้ำได้เข้าสู่จังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ แล้วก็จังหวัดที่อยู่ในเขตเฝ้าระวัง โดย สอศ. กำชับให้ สอจ. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาชน ชุมชน ครู นักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้ากรณีเกิดเหตุ รวมถึงการจัดศูนย์เฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ซึ่งอาจขยายวงกว้างไปในจังหวัดใกล้เคียงหรือพื้นที่เสี่ยง พร้อมรายงานสถานการณ์ แบบเรียลไทม์ กลับมายัง สอศ. ทันที ซึ่งหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย สอศ. ได้วางแผนเพื่อรับมือเหตุภัยพิบัติฉบับเร่งด่วนในสถานศึกษา และงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมส่วนที่เกิดความเสียหาย รวมถึงการให้ความรู้ในการดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าแก่ประชาชนด้วย ทั้งนี้คำนึงถึงความปลอดภัยต้องมาก่อน

 

 

“ขอให้มั่นใจว่า กระทรวงศึกษาธิการ “อาชีวะอาสา” จะเข้าช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ชุมชน สถานศึกษา และอื่นๆ ที่สามารถทำได้เพื่อผู้ได้รับผลกระทบกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งเข้าใจได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก แต่อาชีวะเราจะทำงานอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ เราไม่ทิ้งกันและให้ความช่วยเหลือกันต่อไป”นาย ยศพล  เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวย้ำ