“บิ๊กหนุ่ย” มอบนโยบายผู้บริหาร สพฐ. แนะวิธีสอนค่านิยมหลัก 12 ประการ


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. พบปะและให้นโยบายแก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน 2558 โดยทาง สพฐ.ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานปัจจุบันมีจำนวนสถานศึกษาทั้งสิ้น 30,816 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนประถมศึกษา 28,358 แห่ง (ขยายโอกาสทางการศึกษา 7,082 แห่ง) โรงเรียนมัธยมศึกษา 2,361 แห่ง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 51 แห่ง โรงเรียนศึกษาพิเศษ 46 แห่ง และมีศูนย์การศึกษาพิเศษอีก 77 แห่ง มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 7,063,784 คน บุคลากร 418,949 คน แยกเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 417,980 คน (ผู้บริหาร 33,041 คน ครู 369,371 คน บุคลากรทางการศึกษา 15,568 คน) และข้าราชการพลเรือนในส่วนกลาง 969 คน

งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ สพฐ.ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 315,058,342,600 บาท ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ได้รับจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 319,321,049,500 บาท หรือได้รับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.35 นอกจากนี้ ยังได้รับงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการอีก 150,000,000 บาท รวมงบประมาณปี พ.ศ.2559 ที่ สพฐ.ได้รับจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 319,471,049,500 บาท

ทั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ได้กล่าวให้แนวทางนโยบายที่สำคัญแก่ผู้บริหาร สพฐ. อาทิ การอบรมผู้บริหารสถานศึกษาก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ควรกำหนดหลักสูตรการอบรมพัฒนาให้ผู้บริหารสถานศึกษามีความมั่นใจในตัวเอง ให้ได้ผู้บริหารที่เก่ง มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ, เทคนิคการเรียนการสอน ฝากให้ช่วยพิจารณาถึงกลไกสำคัญ เพื่อให้ครูมีเทคนิคการสอนที่ดี น่าสนใจ, การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ ฝากให้พิจารณาดูเนื้อหาที่เหมาะสมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องต่อเนื่องกันในแต่ละช่วงวัย, การพัฒนาครู ต้องเป็นโครงการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายสำคัญ เป็นหลักสูตรการอบรมพัฒนาที่ทันสมัย พร้อมทั้งวางแผนการประเมินให้ละเอียดด้วย, ค่านิยมหลัก 12 ประการ ให้กำหนดกิจกรรมเพื่อให้ครูเห็นภาพ อย่าเพียงดำเนินการแต่กำหนดแนวปฏิบัติไว้เท่านั้น

เรื่องการสอนประวัติศาสตร์ ควรเข้าใจเป้าหมายคืออะไร ครูต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองนั้น ควรเป็นวิชา "สิทธิและหน้าที่พลเมือง", การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ขอให้นำโครงการ "โรงเรียนคุณธรรม" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาขยายผลต่อไปด้วย และให้ สพฐ.เน้น AAR (After Action Review) ซึ่งเป็นการทบทวนการดำเนินงานหลังจากที่ได้ดำเนินการโครงการต่างๆ ไปแล้ว โดยกระทรวงศึกษาธิการจะให้ความสำคัญในเรื่องของการประเมินมากขึ้น