ลูกหนี้ กยศ.ร้องสภาผู้บริโภค กองทุนให้กู้ยืมฯ ปรับโครงสร้างหนี้ไม่เป็นไปตามกม.ใหม่ ทำให้ต้องจ่ายหนี้เพิ่ม

 

ลูกหนี้ กยศ.ร้องสภาผู้บริโภค กองทุนให้กู้ยืมฯ ปรับโครงสร้างหนี้ไม่เป็นไปตามกม.ใหม่ ทำให้ต้องจ่ายหนี้เพิ่ม

 

รายงานจากสภาผู้บริโภค แจ้งว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีผู้กู้เงินผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวนมากที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ พ.ร.บ. กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ฉบับใหม่กำหนด

 

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้กู้เงิน กยศ.บางราย เข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคว่า ต้องชำระหนี้โดยที่ไม่ทราบยอดหนี้ที่แท้จริง บางรายต้องชำระหนี้โดยที่หนี้นั้นอาจหมดไปแล้วเมื่อคำนวนยอดหนี้ตามที่กฎหมายใหม่กำหนด หรือบางรายต้องแจ้งขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือ ประนอมหนี้ในชั้นศาลโดยที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของยอดหนี้ที่แท้จริงนั้น

 

หนึ่งในผู้กู้เงิน กยศ. เปิดเผยว่า เริ่มใช้หนี้ของกองทุน กยศ. มาตั้งแต่ปี 2548 รวมจำนวนประมาณ 3.6 แสนบาท ซึ่งระหว่างนั้นมีปัญหาทางการเงินทำให้ต้องเสียเบี้ยปรับ แต่เมื่อรวบรวมเงินก้อนได้จำนวนหนึ่งจึงนำมาตัดยอดหนี้กยศ.บางส่วน จึงคาดหวังว่าเมื่อ กยศ. มีการปรับโครงสร้างหนี้ฯ จะทำให้ภาระในการชำระหนี้ลดลง และคาดว่าจะได้รับเงินคืนประมาณ 6 หมื่นกว่าบาท

 

แต่เมื่อส่งหนังสือทวงถามไปที่ กยศ. ได้คำตอบว่า จะมีการดำเนินการให้ โดยให้ลงทะเบียนอีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคม 2567

  

กยศ. พูดเสมอว่า เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสทางการศึกษากับผู้กู้ยืม ซึ่งเราเองก็อยากได้รับโอกาสนั้น จึงอยากให้ กยศ. คิดยอดหนี้ตามที่กฎหมายฉบับใหม่กำหนด ซึ่งจะเป็นคุณกับผู้กู้รุ่นก่อน ๆ เราคิดเสมอว่า เมื่อเรามีกำลังทรัพย์เพิ่มขึ้น เรามีความคิดที่จะปิดหนี้ทันที เพื่อส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้องและเพื่อไม่ให้กลายเป็นข้อกล่าวหาว่า ผู้กู้ไม่ได้อยากชําระหนี้ ในความจริงแล้วผู้กู้ทุกคนอยากชําระหนี้ แต่คิดว่าการชำระหนี้ควรเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมตามกฎหมาย” ผู้กู้ กยศ. รายดังกล่าวได้เปิดเผย

 

ผู้กู้เงิน กยศ. อีกหนึ่งราย เล่าว่า เมื่อก่อนชำระเงินให้กับกองทุน กยศ. รวมกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งรวมไปถึงเบี้ยปรับที่มีอัตราที่สูงมาก แต่เมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ ทำให้เกิดความหวังว่า การคำนวณยอดหนี้จะถูกคำนวณโดยอ้างอิงกฎหมายฉบับนี้

 

แต่กลายเป็นว่า ขณะนี้ กองทุน กยศ. ยังไม่มีการคํานวณยอดหนี้ที่ถูกต้องให้ทราบ และเมื่อลองคำนวณยอดหนี้ของตัวเอง โดยอิงกับกฎหมายฉบับใหม่ พบว่า ยอดหนี้เป็นคนละยอดกับที่ กยศ. แจ้งในระบบ เช่น กยศ. แจ้งในระบบว่า มียอดหนี้จำนวนประมาณ 3.4 แสนบาท แต่ยอดที่ตนเองคํานวณตามกฎหมายใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสน

 

ซึ่งการที่กยศ.ไม่ปรับยอดหนี้ให้ตามกฏหมายใหม่ ทำให้ขณะนี้ตนเองต้องชำระหนี้ทุกเดือนตามปกติ จึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

กองทุน กยศ. มักจะอ้างวาทกรรมว่า รุ่นพี่ไม่ยอมชําระหนี้ จนรุ่นน้องไม่มีเงินเรียนอยู่ตลอด แต่เรามองว่า เราไม่เคยคิดที่จะไม่ชำระหนี้และเห็นว่าการกล่าวเช่นนั้นไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ถ้าจะให้เราชำระหนี้ก็ควรทำให้ถูกต้อง ตอนนี้เราจึงต้องการให้ กยศ. คํานวณยอดออกมาที่ถูกต้องโดยเร็ว” ผู้กู้ กยศ. ระบุ

 

 

ขณะเดียวกัน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า หลังจากพบว่าผู้กู้เงิน กยศ.ยังไม่ได้รับการคำนวณยอดหนี้ใหม่อีกหลายราย  เร็ว ๆ นี้จะเชิญ กยศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้กู้เงิน กยศ. ที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงยอดหนี้ใหม่ มาร่วมหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและหาทางออก เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานและเยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อไม่ให้มีผู้ถูกละเมิดสิทธิซ้ำอีก โดยเฉพาะกรณีที่สภาผู้บริโภคพบ ได้แก่

 

1. พบกรณีหักหนี้จากเงินเดือน ทั้งที่ชำระหนี้หมดแล้วและควรได้รับเงินคืน เนื่องจากกองทุน กยศ. ไม่มีการคำนวณยอดหนี้ให้ใหม่ตามกฎหมายฉบับใหม่ ประกอบกับ กยศ. เป็นหนี้ที่มีสิทธิได้ตัดชำระหนี้ก่อนหนี้อื่น จึงทำให้เกิดความเสียหายและทำให้เกิดผลกระทบกับผู้กู้ที่จะต้องใช้เงินเพื่อดำรงชีพ

 

อย่างไรก็ตาม หาก กยศ. ยังไม่คำนวณยอดหนี้ให้ใหม่ที่ถูกต้อง จึงตั้งข้อสังเกตว่า กยศ. ควรหักเงินเดือนมาเพื่อชำระหนี้หรือไม่และไม่ควรเรียกเก็บหนี้เพิ่ม

 

2. พบกรณีชำระหนี้กับ กยศ. ครบแล้ว แต่ปรากฎว่ายังถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ซึ่งอาจมองว่ากองทุนฯ ขาดความรับผิดชอบ ทั้งๆที่อยู่ในวิจารณญาณที่ กยศ. จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นหรือสามารถหลีกเลี่ยงได้

 

3. พบกรณีหลายรายไม่มีการคำนวณหนี้ใหม่ ทำให้ผู้กู้ยืมต้องจ่ายหนี้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งความล่าช้าในการคำนวณหนี้หรือการที่ผู้กู้ต้องจ่ายเงินไปเกินกว่าจำนวนที่เป็นหนี้ ดังนั้น กยศ. ควรจะต้องพิจารณาจ่ายดอกเบี้ยเพื่อชดเชยให้แก่ผู้กู้ด้วยเช่นเดียวกันหรือไม่

 

แม้การออกกฎหมายปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ จะทำให้ผู้บริโภคที่ชำระหนี้ให้กองทุน กยศ. ได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินหรือหากมีกรณีผิดนัดชำระลดลง

 

 

แต่ขณะเดียวกันมีผู้บริโภคหรือลูกหนี้ กยศ. หลายรายชำระหนี้อย่างไม่เป็นธรรม เพราะไม่ทราบถึงยอดหนี้ที่แท้จริง ทั้งที่ตามสิทธิผู้บริโภคกำหนดไว้ว่า ผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูล ข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนเพื่อใช้สำหรับการตัดสินใจ หรือบางรายต้องได้เงินคืนกลับมาแต่กลับต้องชำระหนี้เพิ่ม” นายอิฐบูรณ์ ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 สภาผู้บริโภคได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุน กยศ. ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการปรับยอดหนี้ใหม่ให้กับลูกหนี้ กยศ. ตามที่กฎหมายฉบับใหม่กำหนด  การเร่งรัดให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมาย ยกเลิก หรือปรับปรุงแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

รวมถึงเร่งรัดให้มีการปรับยอดหนี้ใหม่แก่ลูกหนี้ กยศ. เพื่อให้ลูกหนี้ กยศ. ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการชำระหนี้ได้รับทราบยอดหนี้ที่แท้จริง และ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของผู้บริโภค ซึ่ง กยศ. ตอบกลับสภาผู้บริโภคว่า ปัจจุบันกองทุนฯ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงหนี้ให้ผู้กู้ กยศ. ตามกฎหมายฉบับใหม่

 

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการกู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ. หรือพบปัญหาในการชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม สามารถขอคำปรึกษา – ร้องเรียนมาได้ที่สภาผู้บริโภค เบอร์ 1502 ในวันและเวลาทำการ วันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น. หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th