ไต้หวัน อยากได้ นศ.ไทยทำงานต่อหลังเรียนจบ เล็งเอกชนรับภาระค่าครองชีพ
กระทรวงเศรษฐกิจ (MOEA) ไต้หวัน ประกาศแผนดึงดูดนักศึกษาต่างชาติปีละ 25,000 คนเพื่ออยู่ทำงานต่อหลังเรียนจบ หวังแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ท่ามกลางอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เผยนักศึกษาไทยติดอันดับต้น ๆ ที่บริษัทไต้หวันอยากได้ตัวร่วมงาน
เนื่องจากอัตราการเกิดของไต้หวันยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเศรษฐกิจ (MOEA) จึงประกาศว่าจะรับสมัครนักศึกษาต่างชาติเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม สภาพัฒนาแห่งชาติประเมินว่าช่องว่างตลาดแรงงานของไต้หวันจะอยู่ที่ประมาณ 350,000 คนภายในปี 2028 และ 480,000 คนภายในปี 2030
กระทรวงเศรษฐการ (MOEA) ของไต้หวันประกาศว่า ทางกระทรวงจะเปิดโครงการรับสมัครนักศึกษาต่างชาติ โดยในระยะแรกของแผนการดังกล่าวนั้น กระทรวงเศรษฐการจะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสรรหานักศึกษาที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ส่วนในระยะกลางและระยะยาวจะเป็นการจัดหลักสูตรวิชาชีพเพื่อช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ที่ตอบสนองความต้องการของบริษัทและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น
รัฐบาลระบุด้วยว่า นักศึกษาที่เปิดรับส่วนใหญ่จะมาจากฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย หลังจากผ่านหลักสูตรฝึกอบรม 2 ปี นักศึกษาสามารถตัดสินใจได้ว่าจะอยู่ไต้หวันต่ออีก 2 หรือ 4 ปี โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าเล่าเรียนให้กับนักศึกษา ส่วนบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าครองชีพเพื่อสนับสนุนการทำงานในไต้หวัน
กระทรวงเศรษฐการ ไต้หวันเปิดเผยด้วยว่า ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีบริษัทมากกว่า 1,000 แห่งจากทั้งหมดประมาณ 24,000 แห่ง แสดงความสนใจที่จะรับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศเข้าทำงาน ตามรายงานของ CNA ของทางการไต้หวัน โดยแต่ละบริษัทยื่นความจำนงขอรับชาวต่างชาติเข้าทำงานมากถึง 5,000 คน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีชาวต่างชาติศึกษาอยู่ในไต้หวันเพียงประมาณ 19,000 คนในแต่ละปี และอัตราการคงอยู่ (retention rate) ของนักศึกษาเหล่านี้อยู่ที่ 47% ซึ่งหมายความว่ามีนักศึกษาไม่ถึง 10,000 คน ที่ตัดสินใจอยู่ต่อเพื่อหางานทำหลังเรียนจบ
ทั้งนี้ รัฐบาลยอมรับว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลว่า ความพยายามดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ ให้ทำงานในไต้หวันที่ผ่านมานั้นยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะให้อำนาจการตัดสินใจมากขึ้นแก่ซีอีโอ ผู้จัดการระดับสูง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลในการแก้ไขปัญหาด้านบุคลากรและการขาดแคลนแรงงาน
อย่างไรก็ดี ภายใต้แผนการใหม่นี้ รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ซีอีโอ ผู้จัดการระดับสูง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทต่าง ๆ มีอำนาจตัดสินใจมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านบุคลากรและการขาดแคลนแรงงาน