นักวิชาการแนะ ศธ.ปรับสัดส่วนลงทุนการศึกษา แก้ผลสัมฤทธิ์นักเรียนต่ำ

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการเสวนาเรื่อง ความจริงของรายจ่ายการศึกษาไทย" ในโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย (ทีอีเอฟ) ครั้งที่ 4

ทั้งนี้ รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ในฐานะหัวหน้าโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551-2556 พบว่า ในปี พ.ศ.2556 การลงทุนด้านการศึกษาของทุกหน่วยงานทั่วประเทศ มีมูลค่ามากกว่า 8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายเงินเดือน การพัฒนาครู และการบริหารจัดการ 86% งบลงทุน เช่น การก่อสร้าง และครุภัณฑ์ 4% ส่วนที่เหลืออีก 10% แบ่งเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนผู้เรียน 6% และค่าเครื่องแบบ เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน 4% ดังนั้น รัฐต้องปรับสัดส่วนการลงทุนด้านการศึกษาให้เกิดความคุ้มค่า โดยต้องเน้นระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เน้นการใช้ทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แทนการจัดสรรแบบให้ทั่วถึง โดยคำนึงถึงความแตกต่างตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ และความจำเป็นของผู้เรียน สนับสนุนโรงเรียนดีในตำบลให้มีคุณภาพ เพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้ปกครองรวมทั้งต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาให้มากขึ้น

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า โจทย์ของการศึกษาไทยในเวลานี้อยู่ที่ว่า จะใช้งบประมาณอย่างไรให้คุ้มค่า และเกิดคุณภาพต่อการศึกษามากที่สุด แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้งบฯสูง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 7% แต่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนกลับต่ำ แตกต่างกับบางประเทศที่ใช้งบฯน้อยกว่า แต่คุณภาพของผู้เรียนกลับสูงกว่า ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรนำผลวิจัยเรื่องนี้ไปปรับใช้ในเชิงนโยบายด้วย