สกศ.สุดปลื้ม! เจ้าภาพจัดประชุมใหญ่ ซี-เซิร์น ครั้งที่ 3 หนแรก!นอกแดนมังกร


ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมมือกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีมิโอ (SEAMEO : Southeast Asian Ministers of Education Organization) ศูนย์อาเซียน-จีน หรือ เอซีซี (ACC : ASEAN China Centre) และสถาบันวิจัยการศึกษาและวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (NIES) หรือ นีส

เตรียมจัดประชุมเครือข่ายวิจัยทางการศึกษาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ครั้งที่ 3 (3rd Southeast Asia- China Education Research Network Meeting : SEA- CERN) หรือ ซี-เซิร์น ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน 2559 ที่กรุงเทพฯ

โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกซีมิโอ ทั้ง 11 ประเทศ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แทนจากซีมิโอ ผู้แทนจากเอซีซี ผู้แทนจากนีส มาประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการของไทย และผู้แทน สกศ. ในฐานะหน่วยงานด้านการจัดทำแผนการศึกษาชาติ และยุทธศาสตร์ด้านการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบาย ของรัฐบาล

ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 เรื่อง คือ ประการแรก เพื่อนำเสนอร่างเอกสารนโยบาย แนวทางการปฏิบัติ และประเด็นท้าทายเกี่ยวกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศสมาชิกกลุ่มสมาชิกซีมิโอ และจีน และวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการอภิปรายประเด็นการวิจัยร่วมกัน ตลอดจนวิธีการ และการสนับสนุนการวิจัยด้านต่างๆ ในระยะต่อไป

ดร.กมล กล่าวต่อว่า ในการประชุมซี-เซิร์น 2 ครั้งที่ผ่านมา จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง และเมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น การประชุมครั้งที่ 3 ที่ สกศ.เป็นเจ้าภาพหลักครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุมนอกพื้นที่จีนแผ่นดินใหญ่

โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สกศ. ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งบุคลากรและอาคารสถานที่จัดการประชุม เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วม ประชุมทุกคน และได้วางโปรแกรมกำหนดกิจกรรมเบื้องต้นโดย สกศ.จะนำเสนอนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และประเด็นท้าทายเรื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และจัดการปรึกษาหารือเรื่องคุณภาพครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน

นอกจากนี้ ยังเตรียมการกำหนดแผนปฏิบัติการของสมาชิกเครือข่าย พ.ศ.2560-2561 และท้ายที่สุดยังจัดให้สมาชิกที่มาร่วมประชุมได้ทัศนศึกษาลงพื้นที่เข้าเยี่ยมชมกิจการของหน่วยงานด้านการศึกษาของประเทศไทย 2 แห่ง

คือ สกศ. ในฐานะหน่วยงานด้านจัดทำนโยบายและแผนการศึกษาชาติ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นสถาบันราชภัฏชั้นแนวหน้าของเมืองไทย