ครม.ไฟเขียวกฎกระทรวง ศธ.ว่าด้วยการจัดการศึกษาในศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ และร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2559 ได้อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสิทธิการจัดการศึกษาในศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ และอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อการศึกษา

โดยร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิการจัดการศึกษาในศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ มีสาระสำคัญดังนี้

1.กำหนดคำนิยาม “คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการระดับจังหวัด และ “ผู้จัดการศึกษา” หมายความว่า ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เฉพาะความพิการไม่ว่าบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่นหรือผู้ใดที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการให้จัดตั้งศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ

2.กำหนดให้ผู้จัดการศึกษา  อาจจัดการศึกษาสำหรับคนพิการทั้งนอกระบบและตามอัธยาศัย รวมถึงการให้บริการการฟื้นฟูสมรรถภาพ พัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตอิสระ พัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็น ฝึกอาชีพ และจัดกิจกรรมการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยจัดตั้งศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และตอบสนองวัตถุประสงค์ของศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ

3.กำหนดให้ผู้จัดการศึกษายื่นคำขอเป็นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการ  พร้อมทั้งแนบแบบคำขอที่สำนักงานกำหนด และแผนการจัดการศึกษาของศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ โดยให้แผนการจัดการศึกษามีรายการตามกำหนด

4.กำหนดให้คณะกรรมการศูนย์การเรียนรู้เฉพาะความพิการ  กำหนดนโยบายการบริหารและการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพผู้เรียนและสอดคล้องกับนโยบายแผนการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานการศึกษาของชาติ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน กำกับและดูแลระบบการประเมินคุณภาพ

5.กำหนดให้มีการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้  ตามสภาพจริงของพัฒนาการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการกำหนด กรณีที่มีการจัดการเรียนรู้ร่วมกับสถานศึกษาอื่น ให้มีการวัดผลและประเมินผลร่วมกัน

6.กำหนดให้ศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการออกหลักฐานทางการศึกษา  แก่ผู้เรียนหรือผู้สำเร็จการศึกษาจากศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการตามหลักศูนย์ของศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการนั้น

7.กำหนดให้ศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุน สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใด จากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรเอกชนอื่นสำหรับการจัดการศึกษาได้

8.การเลิกศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ  ให้ผู้จัดการศึกษาร่วมกับสำนักงานจัดหาศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการหรือสถานศึกษาอื่นให้แก่ผู้เรียน โดยให้สำนักงานเรียกคืนเงินอุดหนุนหรือเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ของรัฐ ที่ยังคงเหลืออยู่จากศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการที่เลิก เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

ส่วนร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อการศึกษา มีสาระสำคัญดังนี้

1.กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยมีวัตถุประสงค์ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ นักเรียนนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ

และให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยนักเรียนนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปทั้งหมดคืนให้กองทุน

2.กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษา โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีผู้จัดการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกรอบแนวทางในการดำเนินงาน กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

3.กำหนดให้มีสำนักงานกองทุน ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ และดำเนินงานต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและนโยบายของคณะกรรมการรวมทั้งประสานงานกับส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.กำหนดให้มีผู้จัดการกองทุน มีอำนาจหน้าที่บริหารและจัดการเงินกองทุนเพื่อการศึกษา ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยผู้จัดการสามารถจ้างสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลใดๆ ตามความเหมาะสมเพื่อทำหน้าที่แทนกองทุนในการบริหารและจัดการการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการดำเนินการติดตามเร่งรัดการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

5.กำหนดให้คณะกรรมการกองทุน  กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขสำหรับสถานศึกษาที่จะเข้าร่วมดำเนินงานให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยให้มีคณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบและกำกับดูแลสถานศึกษา

6.กำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ประสงค์จะขอกู้ยืมเงินกู้เพื่อการศึกษาประเภทใด ให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการฯ สำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแต่ละประเภทนั้น และผู้กู้ยืมเงินต้องยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการชำระเงินคืนกองทุน รวมถึงการให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน

7.กำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปคืนให้กองทุน ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

8.กำหนดให้เมื่อผู้กู้ยืมเงินเข้าทำงาน ในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ส่งข้อมูลบุคลากรในสังกัดให้กองทุนตรวจสอบว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินหรือไม่ และมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินในลำดับเดียวกับหนี้ค่าภาษีอากร