ใช้ “10 แนวทาง” ฟื้นฟู 13 เด็ก-โค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี


นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแผนความพร้อมในการดูแลฟื้นฟูด้านจิตใจของทีมฟุตบอลหมูป่า พร้อมโค้ชรวม 13 คน หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือออกมานอกถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน  อ.แม่สาย จ.เชียงรายว่า 

แผนการดูแลฟื้นฟูจิตใจของทีมหมูป่าที่ประสบภัยติดถ้ำครั้งนี้ จะมีความแตกต่างจากภัยพิบัติหรือสาธารณภัยที่ผ่านมา เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจทั้งผู้ประสบภัยและครอบครัวเป็นหลัก

โดยได้ประชุมผู้เชี่ยวชาญของกรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย อาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และทีมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อระดมสมองวางแผนการดูแลจิตใจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ป้องกันไม่เกิดความผิดปกติทางใจ ให้เด็กสามารถปรับตัวได้เป็นปกติหรือดีกว่าเดิม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยว่า ผลสรุปการประชุมได้กำหนด 10 แนวทางดูแล ดังนี้ 1.การประเมินสภาพจิตใจและให้การแก้ไขป้องกันโดยเร็ว 2.จัดกิจกรรมให้เกิดการผ่อนคลายและการปรับใจให้สงบ 3.ช่วยปรับความคิดและอารมณ์ด้านลบที่เกี่ยวข้องกับการติดในถ้ำ 4.เสริมทักษะและสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ เพิ่มความเข้มแข็งทางจิตใจ 5.ช่วยให้เกิดการทบทวนและเรียนรู้จากเหตุการณ์ เพื่อการปรับตัวที่ดีขึ้น  

6.ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มช่วยเหลือกันเอง 7.ช่วยวางแผนชีวิตอนาคต 8.เตรียมการกลับสู่การเรียน 9.การเตรียมการกลับสู่ชุมชน และ 10.การเตรียมการตอบสนองต่อสังคมรอบข้าง 

ทั้งหมดนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมจิตแพทย์ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กับหน่วยงานเชี่ยวชาญของกรมสุขภาพจิต 3 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ คือ โรงพยาบาลสวนปรุง ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 และสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ โดยมีนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง เป็นประธาน

“ทั้งนี้ จะมีการติดตามประเมินผลแนวทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเป็นจริง”

ด้านนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการดำเนินการดูแลตาม 10 แนวทางที่กล่าวมา จะแบ่งเป็น 3  ระยะ ช่วงที่อยู่ในโรงพยาบาล หลังออกจากโรงพยาบาลถึง 3 เดือน และระยะ 6เดือน  

ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้โดยทีมสุขภาพจิตของเชียงราย แต่อาจมีบางวิธีที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นของกรมสุขภาพจิตร่วมด้วย 

คณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย และกรมสุขภาพจิต ได้ประชุมร่วมกับทีมสุขภาพของ จ.เชียงราย เพื่อพิจารณาแนวทางในพื้นที่จริงที่อำเภอแม่สาย ในระหว่างที่เด็กยังอยู่ภายในถ้ำ

“ผู้เชี่ยวชาญได้มีข้อแนะนำการดูแลจิตใจเด็กโดยผ่านทางหน่วยซีลที่อยู่กับเด็ก  เพื่อปรับให้เด็กคืนสู่สภาพปกติเมื่อออกมาภายนอกถ้ำ เช่น การแจ้งวันเวลาให้เด็กทราบทุกวัน การดูแลการนอนให้ตรงกับเวลาภายนอกถ้ำ จัดกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ร้องเพลง วาดภาพ ทำสมาธิ เป็นต้น” นายแพทย์ธรณินทร์กล่าว