‘อว.’ส่งสัญญาณเตือน มหา’ลัยปรับหลักสูตร เด็กจบ ‘สังคม-ศิลปศาสตร์’ แชมป์เตะฝุ่น

 

อว.’ส่งสัญญาณเตือน มหา’ลัยปรับหลักสูตรเด็กจบ ‘สังคม-ศิลปศาสตร์’  แชมป์เตะฝุ่น

 

นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบัณฑิตจบใหม่ แต่ไม่สามารถหางานทำได้จำนวนมาก สาเหตุหลักมาจากความต้องการของตลาดแรงงานมีความเปลี่ยนแปลง เตรียมปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เข้มเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง หรือ การส่งไปฝึกงานกับภาคเอกชนในช่วงปิดภาคเรียนเป็นระยะเวลา 4 เดือน จะทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ รวมถึงยังได้รับจารณาทักษะ หรือ ซอฟต์สกิล ในเรื่องของการพูดคุยสื่อสารในที่ทำงาน ความเป็นผู้นำ การคิดวิเคราะห์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อาจหาได้จากการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

 

ตอนนี้ อว.กำลังมีการพูดคุยกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้มีการปรับหลักสูตรสู่แนวทาง Experiential Learning ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะร่วมกับภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิตโดยตรง โดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ และ สาขาด้านวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cybersecurity เป็นต้น ” นาย ศุภชัย กล่าว

  

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การพัฒนาทักษะของบัณฑิตให้มีความหลากหลายโดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัล ที่มีความสำคัญ เช่น การเขียนโค้ด การคิดวิเคราะห์ การใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เป็นต้น ซึ่งทางอว. ได้ผลักดันให้บรรจุทักษะเหล่านี้ เข้าไปในวิชาศึกษาทั่วไป ให้นักศึกษาได้เลือกเรียนมากขึ้น โดยสามารถไปนำวิชาที่ภาคเอกชนมีการเปิดสอนอยู่แล้ว เช่น คอร์สเรียนของ Google คอร์สเรียนของ Microsoft เป็นต้น มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อนักศึกษาได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องเรียนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น

 

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์เด็กจบใหม่ 450,000 คนต่อปี ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ใครจะจ้าง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบ อยากถามว่ารัฐทำเต็มที่ในการช่วยคนกลุ่มนี้หรือยัง วันนี้ต้องกล้าทำและต้องรีบทำ คนจ้างแรงงานที่ดีที่สุด คือ รัฐบาล ถ้าจะให้เอกชนช่วยจ้างงานก็ต้องมีอะไรช่วยเขาบ้าง

 

ขณะเดียวกัน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เผยแพร่ งานวิจัยของบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ควบคู่กับ ดีลอยต์ทูชโทมัตสุ เอินส์ท แอนด์ ยัง และ เคพีเอ็มจี รายงานว่า ในระหว่างปี ค.ศ. 2017 ถึง ค.ศ. 2037 จะมีงานมากกว่า 7 ล้านตำแหน่ง ที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI แต่อย่างไรก็ตามมันจะนําไปสู่การสร้างงานในรูปแบบใหม่ถึง 7.2 ล้านงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มสุทธิ 200,000 งาน

 

สาเหตุของการคาดการณ์ว่า ตำแหน่งงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นเพราะว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังมีความต้องการจ้างงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานโดยคนกับการใช้เทคโนโลยี AI เพราะเทคโนโลยี AI มีจุดแข็งที่มนุษย์ไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น ความเร็ว ความแม่นยําในการคํานวณ ฯลฯ ในขณะที่มนุษย์เองก็มีจุดที่เหนือกว่า เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การตัดสิน การรับรู้ ฯลฯ ซึ่งถ้าบริษัทได้มีการรวมจุดแข็งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับมนุษย์แล้วนำมาเสริมกัน

 

 


อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีรายงานจาก บลูมเบิร์ก ว่า ผู้จบการศึกษาใหม่ระดับอุดมศึกษาในเวียดนาม ก็กำลังประสบปัญหาตกงานกันมากขึ้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพออกมา รองรับบริษัทเอกชนที่ต้องการทักษะและการคิดวิเคราะห์สูงขึ้นได้ 

 

รายงานได้อ้างตัวอย่างของคน ๆ หนึ่งที่ซึ่งจบการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อ 2 ปีก่อน และเป็นลูกคนเดียวจากทั้งหมด 3 คน ที่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่กลับต้องเป็นหนึ่งในบัณฑิตหลายพันคนที่ตกงาน ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นคนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงฮานอย โดยมีรายได้เฉลี่ย 250 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือนแทน (ราว 8,300 บาท)

 

ทั้งนี้ แม้โรงเรียนส่วนใหญ่ในเวียดนามจะสามารถสอนและอบรมทักษะการทำงานขั้นพื้นฐานให้นักเรียนเพื่อทำงานตามโรงงานได้ก็ตาม ทว่าสถานศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกลับยังไม่สามารถผลิตบุคลากรเพื่อทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นได้

 

สกอต โรแซล นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไปอีกขั้นนั้น คือ ประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถยกระดับการศึกษาของตนเองได้ แต่ประเทศที่ทำไม่ได้จะเสี่ยงต่อความล้มเหลวหรือติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง เช่น อาร์เจนตินา บราซิล และเม็กซิโก

 

รายงานระบุว่า นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเวียดนามมักเสียเวลา 2 ปีแรกไปกับการเรียนประวัติศาสตร์ และแนวคิดสังคมนิยม มากกว่าจะ เป็นการพัฒนาทักษะและความคิดเชิงวิเคราะห์ในแบบที่นายจ้างต้องการ ทำให้บริษัทลังเลที่จะจ้างงานบัณฑิตทั่วไป ที่ไม่ใช่สาขาเฉพาะด้าน และทำให้อัตรา ว่างงานระดับอุดมศึกษาสูงถึง 17%