สมศ.แนะโรงเรียนกีฬาเพิ่มทักษะ “วิทยาศาสตร์” ตอบดีมานด์อุตสาหกรรมกีฬา


ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนทางด้านการศึกษาและทางด้านกีฬาเพิ่มมากขึ้น โดยในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกีฬาของไทยมีแนวโน้มอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่ามากกว่า 14,000 ล้านบาท ดังนั้นโรงเรียนกีฬาจึงมีบทบาทสำคัญในด้านส่งเสริมและพัฒนาทางด้านกีฬาขั้นพื้นฐานของชาติ โดยมุ่งเน้นการวางรากฐานการกีฬาที่ถูกต้องให้แก่เยาวชน เพื่อให้สามารถยกระดับความสามารถของตนได้ขึ้นไปจนถึงระดับเป็นตัวแทนประเทศในการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาชาติ สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการกีฬาของประเทศให้สูงยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนที่ศึกษาต่อในโรงเรียนกีฬากว่า 7,000 คน

“นอกจากโรงเรียนกีฬาจะผลิตนักกีฬาเพื่อรับใช้ชาติแล้ว ศักยภาพของนักเรียนในโรงเรียนกีฬายังสามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา เช่น สรีรวิทยาการกีฬา จิตวิทยาการกีฬา สังคมวิทยาการกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา โภชนาการการกีฬา เทคโนโลยีการกีฬา วิทยวิธีทางกีฬา วิทยาการการจัดการการกีฬาฯลฯ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและยกระดับนักกีฬาไทย ให้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้น”

ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า จากภาพรวมการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนกีฬาทั้ง 20 แห่งทั่วประเทศล้วนได้รับการประเมินภายนอกจาก สมศ. อยู่ในระดับคุณภาพดี ซึ่งจากผลประเมินพบว่า โรงเรียนกีฬาทั้ง 20 แห่งมีจุดเด่นร่วมกันคือ ด้านคุณภาพของหลักสูตร ด้วยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิชาการเฉพาะสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เพื่อให้หลักสูตรการเรียนการสอนสอดรับกับความต้องการของวงการกีฬาและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา พร้อมกับพัฒนาคุณภาพครูผู้สอนด้วยการคัดเลือกครูที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านวิชาการและการกีฬาแต่ละประเภทโดยเฉพาะ และให้สถานศึกษามีกระบวนการพัฒนานักเรียนให้สามารถคิดอย่างมีอิสระผ่านผลงานและการแสดงออกสอดแทรกในทุกกลุ่มสาระ รวมทั้งการจัดทำโครงการต่างๆ ในทุกกลุ่มสาระ

“อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าโรงเรียนกีฬาควรส่งเสริมเพิ่มเติมด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างให้โรงเรียนกีฬามีความเข้มแข็งรอบด้าน เพราะวิทยาศาสตร์ถือเป็นพื้นฐานของการกีฬาทุกประเภท ด้วยการนำระบบการบริหารจัดการทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาดำเนินการให้ครบถ้วน และสถานศึกษาควรทบทวนแผนการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมที่ได้ดำเนินการและการประเมินผลการเรียนของผู้เรียนว่า สอดคล้องกันกับผลการทดสอบระดับชาติ (O-Net) หรือไม่ พร้อมกับนำข้อค้นพบนั้นมาปรับปรุงพัฒนากิจกรรม หรือหานวัตกรรมมาช่วยในการสอนเสริมติวเข้มให้กับผู้เรียน และนำผลการสอบระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับประเทศมาเป็นตัวตั้งเพื่อการพัฒนาทั้งระบบ ทุกกลุ่มสาระ สู่การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสถานศึกษาและตัวของผู้เรียนเอง” ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

ด้านว่าที่ ร.ต.อานนท์ สำรวจการณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานศึกษาด้านการจัดการศึกษาพิเศษ โดยจัดตั้งในรูปแบบของสถานศึกษาประจำ และจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรขั้นพื้นฐานตามสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำการสอนวิชาสายสามัญ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะด้านกีฬา เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ของสถานศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนานักกีฬาให้มีความสามารถทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยการสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมกีฬาในทุกระดับ ตลอดจนเผยแพร่มวยไทยและกีฬาชนิดอื่นๆ ให้เป็นที่ยอมรับในนานาชาติ มีหลักสูตรด้านการกีฬาที่เปิดสอนกว่า 20 ชนิดกีฬา ให้เลือกตามความสามารถของผู้เรียน เช่น กรีฑา จักรยาน เทนนิส ว่ายน้ำ มวยสากล ฟุตบอล ยกน้ำหนัก เป็นต้น

ว่าที่ ร.ต.อานนท์กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรีผลิตนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงในระดับชาติ และระดับนานาชาติมาแล้วเกือบ 700 คน อาทิ เรืออากาศเอกหญิง วาสนา วินาโท นักกรีฑาทีมชาติไทยที่สร้างผลงานหลากหลายในกีฬาซีเกมส์ และเอเชี่ยนเกมส์  มลิกา กันทอง นักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยที่ล่าสุดพาทีมชาติไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ในการแข่งขันวอลเลย์บอล เวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2015 ที่ประเทศบราซิล หรืออย่างอดิศักดิ์ ไกรษร นักฟุตบอลทีมชาติไทย ชุด U23 ที่พาทีมชาติไทยไปผงาดคว้าอันดับ 4 ในการแข่งขันฟุตบอล เอเชี่ยนเกมส์ 2014 ที่ประเทศเกาหลีใต้