ฉาวอีก!ศาลทุจริตฯรับฟ้องคดีปลอมแปลงเอกสารให้คะแนนแต่งตั้งโยกย้ายผอ.ร.ร.มัธยมอุบลฯ


ความคืบหน้ากรณีมีผู้อำนวยการโรงเรียนใน จ.อุบลราชธานี ยื่นฟ้องคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) อุบลราชธานี และคณะอนุกรรม กศจ.อุบลฯ เป็นจำเลย ต่อศาลปกครองอุบลราชธานี และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนประจำปี 2559 ตามมติ กศจ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีการให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ ว24/2560 ที่มีผลต่อการย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป

ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ประทับรับฟ้อง มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 33 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162

ขณะที่ศาลปกครองอุบลราชธานี ได้มีคำสั่งวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ให้ทุเลาบังคับคดีดังกล่าว และต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ ศาลปกครองอุบลราชธานีได้ตัดสินให้ผู้อำนวยการโรงเรียนชนะคดี เรียกค่าเสียหายจาก กศจ.อุบลฯถ้วนหน้า รวมหลายล้านบาท ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หอการค้า ตัวแทนสำนักงานพุทธศาสนา สำนักงานท่องเที่ยว ฯลฯ ในฐานะเป็น กศจ.

โดยขณะนี้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ยื่นอุทธรณ์ และนำมาสู่การออกคำสั่งของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธาน ก.ค.ศ. ให้ชะลอการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศ ตามหลักเกณฑ์ ว24/2560 ที่ยื่นคำขอเมื่อวันที่ 1-15 สิงหาคม 2560 ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับคดีนั้น

ล่าสุดนายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ว่า ทราบมาว่าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประทับรับฟ้องใหม่อีกกรณีในคดีเดียวกัน เป็นคดีปลอมแปลงเอกสารการให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ ว24/2560 ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาใน จ.อุบลราชธานี

ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 29 ตามมติ กศจ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 จนมีผลต่อการย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรรมการ กศจ.อุบลราชธานีทั้งหมด 33 คน

ดังนั้น ขอย้ำว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ไม่ให้ตัวแทนครูหรือผู้บริหารโรงเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครูและผู้บริหารโรงเรียน จึงเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะการทุจริตใน ศธ.มีทุกระดับ ไม่ใช่เฉพาะครู แต่มีรวมไปถึงระดับผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรวมไปถึงใน กศจ.บางคนด้วย

“อีกทั้งจะยิ่งนำมาซึ่งปัญหาในทำนองนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง และอาจรุนแรงขึ้นกว่าในอดีต เพราะในคณะกรรมการพิจารณาชุดปัจจุบัน ไม่มีใครรู้ปัญหาเหมือนครูและผู้บริหารโรงเรียน อาจจะเกิดกรณีการยัดไส้และปลอมแปลงเอกสารการให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นความผิดพลาดจากการบริหารงานของผู้ใหญ่ แต่ผลกรรมกลับตกไปที่ตัวเด็กนักเรียนที่ได้ผู้บริหารโรงเรียนที่วิ่งเต้น ทุจริตเข้ามา” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิกล่าว