ความเชื่อมั่นและความคาดหวังที่มี ต่อรัฐบาลกับการพัฒนากีฬาชาติ

 

รายงานผลการสำรวจความคิดเห็น

ความเชื่อมั่นและความคาดหวังที่มี

ต่อรัฐบาลกับการพัฒนากีฬาชาติ

 

จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมานั้น เพื่อสร้างการมีส่วนรวมและสะท้อนมุมมองของประชาชนในมิติที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการกีฬาของประเทศ

 

KBU SPORT POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่วมกับสถาบันการจัดการกีฬาเพื่อองค์กรกีฬา (WISDOM) จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “ ความเชื่อมั่นและความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลกับการพัฒนากีฬาชาติ”

 

สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน 2567โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,207 คนโดยแบ่งเป็นเพศชาย 748 คน คิดเป็นร้อยละ61.98 เพศหญิง 430 คน คิดเป็นร้อยละ35.62 LTBGTQIA+  29 คน คิดเป็นร้อยละ 2.40 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่า

 

ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลกับการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬา ส่วนใหญ่ร้อยละ 26.10 ไม่แน่ใจ รองลงมาร้อย 24.50 เชื่อมั่นค่อนข้างมาก ร้อยละ 22.60 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อย ร้อยละ 20.70 เชื่อมั่นมาก ร้อยละ 4.30 เชื่อมั่นน้อย และร้อยละ 1.50 ไม่เชื่อมั่น

 

 

 

สำหรับความคาดหวังที่มีต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬา ส่วนใหญ่ร้อยละ25.30 สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเพียงพอ รองลงมาร้อยละ 22.40 ผลักดันนโยบายกีฬาเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ ร้อยละ19.80 ส่งเสริมสนับสนุนการวางรากฐานและจัดสถานที่พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายให้ประชาชนทุกเพศวัย ร้อยละ17.20 สนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ร้อยละ 11.90 ผลักดันแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติฉบับที่ 7 สู่การปฏิบัติ และอื่นๆร้อยละ 3.40

 

ปัญหาทางการกีฬาที่ต้องการให้มีการแก้ไข ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.70 ปัญหาคอร์รัปชั่นในวงการกีฬา รองลงมาร้อยละ 25.20 ปัญหาความสิ้นเปลืองงบประมาณและความซ้ำซ้อนในการจัดการแข่งขันกีฬาภายในประเทศ ร้อยละ 16.10 ปัญหาขาดบุคลากรการส่งเสริมกีฬาในชุมชนและท้องถิ่น ร้อยละ13.60 ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในวงการกีฬา ร้อยละ 9.80 ปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคกับการพัฒนากีฬา และอื่นๆร้อยละ3.60

 

 

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ระบุว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า จากการแถลงนโยบายในมิติที่เกี่ยวกับกีฬาของรัฐบาลนั้น หากพิจารณาถึงรายละเอียดและแนวทางการพัฒนาที่นำเสนอในภาพรวมประชาชนหรือกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้ จะเดินหน้าการพัฒนาสู่การปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและอื่นๆมากกว่า

 

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนากีฬาชาติผู้ตอบแบบสอบถามต่างคาดหวังที่จะให้รัฐบาลจัดสรรหรือสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอและทั่วถึงมาเป็นอันดับแรก

 

สำหรับมิติที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดกับวงการกีฬาไทยกลุ่มตัวอย่าง ยังสะท้อนให้รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในหลากหลายมิติโดยเฉพาะการทุจริตคอรัปชั่นตลอดจนความสิ้นเปลื้องงบประมาณอันเนื่องมาความซ้ำซ้อนของการจัดกีฬาภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม หากจะให้วงการกีฬาไทยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาดังที่กลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนให้เห็นนั้น การจะหวังให้นายกรัฐมนตรีและเจ้ากระทรวงที่กำกับดูแลเดินหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียวคงจะไม่สำเร็จ แต่พลังที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

และหนึ่งในมิติที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและบรรลุเป้าประสงค์และจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมคงจะได้แก่ความมุ่งมั่น ความจริงจัง และจริงใจของรัฐบาล ซึ่งจากนี้ไปเวลาจะเป็นตัวชี้วัดและพิสูจน์ให้เห็นถึงผลงานที่จะตามมา