สสว.จับมือ! มทร.ธัญบุรี ทุ่ม 60 ล้าน หนุน SME กลุ่มมะพร้าว-สมุนไพร

นางสาลินี วังตาล ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันการอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จัดทำโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 ภายใต้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมมะพร้าวและสมุนไพรไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งกลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

เนื่องจากการส่งออกมะพร้าวในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ แต่มีปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ ซึ่งอาจส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว

โดยมอบหมายให้สถาบันการอาหาร กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงภาคเอกชนดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์มะพร้าวเพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพให้ดียิ่งขึ้น เช่น การให้องค์ความรู้การเพราะปลูกและคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวคุณภาพ การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าในเรื่องการบ่งบอกต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตในส่วนของการยืดอายุ และการลดกลิ่นของมะพร้าวในกลุ่มเครื่องสำอาง

ซึ่งกลุ่มธุรกิจมะพร้าวที่เน้นจะมี 3 กลุ่ม คือ การผลิตกะทิสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวและเครื่องสำอางที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ

ส่วนคลัสเตอร์สมุนไพร จะเน้นการนำสมุนไพรมาผลิตเป็นอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงเช่นกัน แต่ผลผลิตสมุนไพรไทยนั้นยังไม่เป็นออแกนิกส์และมีปัญหาด้านการกำหนดมาตรฐาน จึงมอบหมายให้ มทร.ธัญบุรี เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

โดยจะร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพรไทยเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ เช่น กระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การรับรองมาตรฐานการผลิตโดยจดทะเบียน อย. รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น

“สสว.ตั้งเป้าหมายรวมกลุ่มคลัสเตอร์มะพร้าว 25 เครือข่าย มีผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพจำนวน 3,300 ราย และกลุ่มคลัสเตอร์สมุนไพรไทยรวม 5 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพจำนวน 700 ราย โดยในปี 2560 จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งหมด 4,000 ราย” นางสาลินีกล่าว

 

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผอ.สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารจะดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว ซึ่งมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 เดือน (พ.ค.-ก.ย. 2560) ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการตามเป้าหมาย

ซึ่งจะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดอบรมและทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ จัดทำเวิร์กชอป ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางการตลาดออฟไลน์และออนไลน์ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และจัดให้มีการเพิ่มช่องทางการขายสู่การเป็น Coconut Pavilion เพื่อเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศอีกด้วย

ด้านนายพงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการทั้งต้นน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพร กลางน้ำ ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นเครื่องสำอาง กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นยา กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มปลายน้ำคือกลุ่มผู้จำหน่าย ค้าปลีกและค้าส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากสมุนไพร

มีเป้าหมายให้เกิดการรวมกลุ่ม 5 เครือข่าย ยกระดับผู้ประกอบการจำนวน 700 ราย ในปี 2560 มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ให้มีผลิตภาพในด้านต่าง ๆ สูงขึ้น และพัฒนาศักยภาพผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent:CDA) ให้เป็นผู้นำในการพัฒนาในด้านต่างๆ จำนวน 10 ราย

“จะมีการจัดการประชุมและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการในทุกภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ (เชียงใหม่ พิษณุโลก) ภาคอีสาน (ขอนแก่น สกลนคร) ภาคใต้ (พังงา นครศรีธรรมราช) และภาคกลาง (สระบุรี จันทบุรี)” รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรีกล่าว