“น.ศ.แพทย์ฯ ม.อุบลฯ” เจ้าภาพ!ออกค่ายจริยธรรมสัญจร ครั้งที่ 15 คึกคัก มุ่งแก้ปัญหาสุขภาวะ “คนชายขอบ”


มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ร่วมกับ คณะอนุกรรมการจริยธรรมนิสิต นักศึกษาแพทย์ แพทยสภา เป็นเจ้าภาพจัด โครงการค่ายจริยธรรมสัญจร ครั้งที่ 15 “รอยต่อประเทศ เขตแดนอารยธรรม เชื่อมนำวิถีชุมชน” โดยมีนิสิต นักศึกษาแพทย์ และนักเรียนแพทย์ทหาร จาก 22 สถาบันทั่วประเทศ เข้าร่วมจำนวนกว่า 150 คน ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อเร็วๆ นี้

โดย รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตั้งอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย-ลาว จึงได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดงานค่ายจริยธรรมสัญจร ครั้งที่ 15 ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของประเด็นปัญหาสุขภาวะชายแดน

และเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่นิสิต นักศึกษาแพทย์และนักเรียนแพทย์ทหารที่เป็นตัวแทนจากทุกสถาบัน จะได้รับประสบการณ์ตรงในแหล่งเรียนรู้ปฐมภูมิจากตัวเจ้าของปัญหา รวมทั้งได้ฝึกทักษะที่จะนำความรู้ความเข้าใจดังกล่าวมาต่อยอดและฝึกออกแบบเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

เพื่อสื่อให้เพื่อนนักศึกษาแพทย์ที่ไม่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ได้มีโอกาสรับรู้และเข้าใจปัญหาผ่านเครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสมกับช่องทางการรับรู้และ รสนิยมของคนรับสาร มีโอกาสได้ลงมือทำสื่อและออกแบบการจัดแสดงด้วยตนเอง

“โดยหวังผลให้การรับรู้นี้ไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติต่อคนชายขอบ ทั้งด้านสุขภาพและด้านอื่นๆ ในตัวนักศึกษาแพทย์ ซึ่งจะเป็นบุคคลสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพและสังคม ในฐานะผู้นำทีมดูแลผู้ป่วยในอนาคตได้”

ด้าน นางสาวณิชกุล จันทะศรี นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 ม.อุบลฯ ฬนฐานะประธานค่ายจริยธรรมสัญจร กล่าวว่า วิทยาลัยแทพย์ฯ ม.อุบลฯ รู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติจากทางแพทยสภา ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดโครงการค่ายจริยธรรมสัญจร ครั้งที่ 15 ภายใต้แนวคิด “รอยต่อประเทศ เขตแดนอารยธรรม เชื่อมนำวิถีชุมชน”

โดยจัดให้มีกิจกรรมการเสวนา “ปรับองศาการมอง : ปัญหาสุขภาวะของผู้ไร้สิทธิ์ ใกล้ตัวกว่าที่คิด”, กิจกรรม World café พูดคุยกับเจ้าของประเด็นในแง่มุมที่ตนเองสนใจ, กิจกรรมลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาจากโรงพยาบาลและชุมชนในพื้นที่จริง เป็นต้น

นอกจากนี้ กิจกรรมค่ายจริยธรรมสัญจร ยังเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในประเด็นปัญหาสุขภาวะ “คนชายขอบ” ผ่านการศึกษาปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของ “คนลาวอพยพ” ในจังหวัดอุบลราชธานี

“ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้ฝึกทักษะการออกแบบการสื่อสารประเด็นสุขภาวะผ่านสื่อที่เหมาะสม อีกทั้งได้ฝึกทักษะการออกแบบการนำเสนอประเด็นสุขภาพที่ซับซ้อนในเวลาจำกัด และยังสามารถประยุกต์ความรู้ความเข้าใจและทักษะใหม่นี้ไปใช้ในการปฏิบัติงานในฐานะผู้นำทีมสุขภาพในอนาคต รวมทั้งสามารถปรับตัวและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น” นางสาวณิชกุลกล่าว