“รองนายกฯ” ปลื้มผลงาน!เทคโนฯพระนครเหนือ ให้การบ้าน “มจพ.” เสริมเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ครบวงจร


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า สิ่งที่ มจพ.ดำเนินการอยู่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพให้มากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ซึ่งเท่าที่ดูก็เห็นว่า มีหลายสิ่งที่สามารถนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม การค้า และการผลิตได้อย่างดี เพียงแต่ความร่วมมือในมิติต่างๆ อาจจำเป็นต้องมีการพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในเชิงนโยบาย ความชัดเจนในเป้าหมายของการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถนำไปใช้งาน รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณ และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ

เมื่อได้มาเห็นการทำงานของ มจพ.แล้ว ในส่วนของวิชาการ การเรียนการสอน เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมของประเทศเยอรมันและฝรั่งเศส ขณะที่การวิจัยและพัฒนาก็มีความเข้มแข็ง เพราะเป็นการมองไปในอนาคต เพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

“ทราบมาว่า มจพ.เริ่มต้นตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้มากว่า 10 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น เป้าหมายคือ อยากให้ มจพ.เสริมเรื่องไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเป็นอิสดัสเตรียล 4.0 ต่อไป เพื่อให้มีความครบวงจรมากขึ้น” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้าน ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี มจพ. กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทย คือ เราไม่สามารถออกแบบผลิต และพัฒนาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนนาโนเทคโนโลยีต่างๆ ได้เท่าที่ควร เนื่องจากเรายังขาดการพัฒนากำลังคนที่เป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ

การที่ พล.อ.อ.ประจินมีนโยบายมุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ทันสมัยออกมา เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่ดีมาก การมาเยี่ยมชมและมอบนโยบายของ พล.อ.อ.ประจินครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อย่างจริงจัง

“ซึ่งทาง มจพ.ก็พร้อมจะนำนโยบายและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปผลักดันร่วมกับภาคเอกชนต่อไป” อธิการบดี มจพ.กล่าว

อนึ่ง พล.อ.อ.ประจินได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยนวัตกรรมด้านการออกแบบและวิศวกรรมเพื่อการผลิต (Col-DEM) ภายใต้ความร่วมมือกับ สวทน. และสถานประกอบการ ชั้น 1, 4 และศูนย์เทคโนโลยี ไทย-เยอรมัน ณ ชั้น 4 สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านระบบอัตโนมัติ ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมบริษัท ชไนเดอร์ จำกัด และสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส

เยี่ยมชมบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน ประกอบด้วย เยี่ยมชมโครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของเอกชนในประเทศไทย (CRDE-FC) ได้แก่ บริษัท Bosch Automotive Technologies (Thailand) จำกัด บริษัท Aczept Technology Col., Ltd.  ชั้น 9 ศูนย์วิจัยยางพารา ชั้น 4 ห้องปฏิบัติการ E-Mobility ห้องปฏิบัติการ RF ร่วมกับโครงการดาวเทียม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้น 4 TGGS